TECHIE COOKIE

แอปเปิลกับความลับที่เก็บไม่อยู่

21/09/2018

งานคีย์โน้ตเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ประจำปีนี้ยังคงความเป็นคีย์โน้ตแอปเปิลที่เนี้ยบไม่มีที่ติเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา แม้ว่าไอโฟนทั้ง 3 รุ่นจะไม่ได้มีความแตกต่างที่โดดเด่นออกมาจากรุ่นก่อนหน้าสักเท่าไหร่แต่ก็นับว่าเสียงตอบรับส่วนใหญ่นั้นเทไปทางด้านบวก และดูเหมือนกับผู้ใช้งานชาวไทยจะให้ความสนใจกับไอโฟนรุ่น XR เป็นพิเศษ ด้วยสีสันสดใสที่ให้เลือกและราคาที่ย่อมเยาลงมากว่าอีกสองรุ่น . ถึงจะตื่นเต้นเป็นที่สุดที่ได้เข้าไปนั่งฟังคีย์โน้ตสดๆ ที่ออฟฟิศของแอปเปิลในคูเปอร์ติโน สหรัฐอเมริกา แต่ซู่ชิงก็มีความรู้สึกผิดหวังอยู่นิดหน่อยที่งานครั้งนี้ไม่ถูกปิดท้ายด้วยวลียอดฮิต One more thing… ที่มักจะตามหลังมาด้วยอาวุธลับที่แอปเปิลเก็บเอาไว้เป็นเซอร์ไพรส์หลังงาน แถมไอโฟนกับนาฬิกาทั้งหมดที่เปิดตัวมาก็ตรงกับข่าวลือเป๊ะๆ ชนิดที่แทบจะไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปเลย . หลายเดือนก่อนงานคีย์โน้ตจะเริ่มขึ้น เว็บไซต์ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับแอปเปิลโดยเฉพาะหลายเว็บแข่งกันปล่อยภาพหลุดของไอโฟนออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยืดอกพูดอย่างภาคภูมิใจว่าข้อมูลนี้เป็นของจริงแท้แน่นอน ตั้งแต่ภาพที่ใช้ในการโฆษณาไปจนถึงชื่อที่แอปเปิลวางแผนที่จะใช้เรียกไอโฟนรุ่นใหม่ราวกับแต่ละคนเข้าไปนั่งอยู่ในห้องประชุมลับของแอปเปิลด้วย และเมื่อหวยออกมาตามนั้นเป๊ะๆ ก็ทำให้เสน่ห์ของงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์แอปเปิลที่ทุกอย่างจะต้องเป็นความลับที่มาเผยกันนาทีสุดท้ายนั้นหายไปอย่างน่าเสียดาย ลำพังแค่เปิดตัวสินค้าตรงกับที่คาดการณ์ไว้ก็อาจจะยังไม่เซ็งเท่าไหร่ แต่การไม่มีเซอร์ไพรส์แอบอยู่ในกรุที่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมของงานเปิดตัวแอปเปิลไปแล้วต่างหากที่ทำให้ทุกคนผิดหวังไปตามๆ กัน . ทำให้ต้องมานั่งหาคำตอบว่าทำไมแอปเปิลที่เคยเป็นบริษัทที่เข้มงวดเรื่องการเก็บความลับอย่างกับอะไรดี แต่ช่วงหลังๆ มานี้ถึงได้ปล่อยปละละเลยได้ขนาดนี้ . ที่ผ่านมาแอปเปิลเอาจริงเอาจังเรื่องการเก็บความลับไม่ให้รั่วไหลและคนที่ฝ่าฝืนก็จะได้รับการลงโทษขั้นสูงสุด เมื่อประมาณปีที่แล้ว ผู้บริหารแอปเปิลคนหนึ่งสะเพร่าปล่อยให้ลูกสาวซึ่งมีความใฝ่ฝันอยากเป็นยูทูบเบอร์ที่มีชื่อเสียง หยิบ iPhone X ของตัวเองซึ่งในตอนนั้นยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แล้วนำไปถ่ายคลิปวิดีโอเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องถามเลยว่าเขายังมีอนาคตในองค์กรอีกหรือเปล่า เพราะแอปเปิลไล่ออกทันที และขู่พนักงานที่เหลือว่าใครทำความลับของบริษัทรั่วไหลก็จะต้องเจอชะตากรรมแบบเดียวกันนี้ ดีไม่ดีไม่ใช่แค่ไล่ออก แต่อาจจะถึงขั้นถูกฟ้องร้องด้วย . แม้จะลงโทษหนัก แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกล้วงความลับออกมาเผยแพร่อยู่ดี ปัจจัยที่ทำให้แอปเปิลไม่สามารถเก็บความลับของผลิตภัณฑ์ไว้ได้อย่างแน่นหนาเหมือนเก่าอีกแล้วก็น่าจะมีอยู่หลายข้อ ต้องไม่ลืมว่าการที่แอปเปิลจะผลิตสินค้าสักชิ้นนั้นแอปเปิลไม่สามารถทำด้วยตัวเองคนเดียวได้ อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องติดต่อประสานงานกับซัพพลายเออร์ที่จะต้องส่งชิ้นส่วนให้ หรือต้องทำงานร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม ที่แอปเปิลจะต้องส่งข้อมูลบางอย่างให้เพื่อที่บริษัทเหล่านี้จะผลิตอุปกรณ์เสริมมารองรับได้ทันทีที่แอปเปิลเปิดตัวของใหม่ […]

ศาสตร์ศิลป์ของการประชุมของ เบโซส-มัสค์

17/08/2018

ว่ากันว่าคนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย มักมีอะไรที่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีบริหารงาน วิธีแก้ปัญหา หรือวิธีมองโลกในแบบที่คนอื่นคาดไม่ถึง แน่นอนว่าความสำเร็จไม่ได้มีสูตรตายตัวและไม่ได้มีเพียงเส้นทางเดียวให้เดิน แต่ที่แน่นอนกว่านั้นคือเส้นทางที่ว่าไม่สามารถเดินคนเดียวได้ ไม่มีใครสร้างบริษัทขึ้นมาเปลี่ยนโลกได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกคนต้องอาศัยทีมที่เก่งกาจมีวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายตรงกัน ซึ่งการที่จะทำให้ทีมเข้าใจและเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กันได้ในทุกวันการทำงาน ก็คือการ “ประชุม” นั่นเองค่ะ . การประชุมที่ดีทำให้ทีมจับมือกันไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง การประชุมที่แย่ นอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้ว ก็ยังไปลดทอนประสิทธิภาพการทำงานอีก ยิ่งจัดประชุมได้แย่ ก็ยิ่งต้องประชุมบ่อย วนเป็นวัฎจักรที่ไร้จุดจบอยู่อย่างนั้น . เราลองดูตัวอย่างของ 2 บุคคลสำคัญในวงการเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ เจฟฟ์ เบโซส และ อีลอน มัสค์ กันค่ะ ว่าสองคนนี้มีวิธีในการบริหารการประชุมกันอย่างไร เผื่อเราจะหยิบเอาแนวคิดบางอย่างไปปรับใช้กับที่ทำงานของเราได้บ้าง . เจฟฟ์ เบโซส เขาคนนี้อาจจะไม่ใช่ใบหน้าที่คนไทยคุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ แต่เจฟฟ์ เบโซส เป็นคนที่ทำให้โฉมหน้าการค้าขายออนไลน์ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการก่อตั้งแอมะซอน เว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่แม้จะเริ่มต้นด้วยการขายหนังสือเป็นหลัก แต่ภายในเวลาอันรวดเร็วก็ขยายไปครอบคลุมสินค้าครบทุกหมวดหมู่ ทำให้คนทั่วโลกช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ซึ่งแอมะซอนก็ยังไม่พอใจแค่นั้น แต่กำลังวกกลับมาปฏิรูปวงการการค้าออฟไลน์ต่อด้วย . ในปี 2017 เจฟฟ์ เบโซส […]

ซื้อของออฟไลน์ก็ไฮเทคได้

17/08/2018

ภารกิจของการเข้าร้านขายของชำหรือซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่อะไรที่ยุ่งยากเลยจริงไหมคะ . กระบวนการทั้งหมดเริ่มต้นง่ายดาย แค่ขับรถไปจอด เดินเข้าไปข้างใน หยิบของที่ต้องการตามรายการของที่จดเอาไว้แล้วใส่ลงไปในรถเข็น เข็นรถไปที่แคชเชียร์ จ่ายเงินแล้วเดินออก บางครั้งเราสามารถทำทุกขั้นตอนได้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยไม่ต้องสนทนากับมนุษย์คนไหนเลยแม้แต่คำเดียวด้วยซ้ำ . แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาพลิกโฉมหน้าทุกอย่าง แม้กระทั่งประสบการณ์การซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ถูกทำให้เปลี่ยนไปด้วย . เมื่อเร็วๆ มานี้มีข่าวว่า วอลมาร์ท ร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีใหม่ที่เล็งว่าอาจจะนำใช้ในร้านวอลมาร์ทสาขาต่างๆ โดยเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาให้ “ดักฟัง” ทั้งพนักงานและลูกค้าที่อยู่ในร้าน . ได้ฟังแค่นี้ก็ขนลุกแล้วใช่ไหมคะ ทำไมการเดินซื้อของถึงจะสลักสำคัญขนาดให้บริษัทระดับชาติแบบนี้มาดักฟังเราด้วย . รายละเอียดของสิทธิบัตรระบุเอาไว้ว่า นี่คือระบบที่จะจับเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร้าน ด้วยวัตถุประสงค์ของการตรวจประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและปรับปรุงประสิทธิภาพตรงจุดเคาน์เตอร์คิดเงิน . วิธีการทำงานก็คือ ระบบนี้จะจับเสียง “ตื๊ด” ที่เกิดขึ้นเวลาพนักงานสแกนบาร์โค้ดสินค้า ควบคู่ไปกับเสียงสวบสาบกรอบแกรบของถุงใส่ของ เพื่อนำมาคำนวณว่าในการจ่ายเงินแต่ละครั้ง ลูกค้าซื้อของไปทั้งหมดกี่ชิ้น และใช้ถุงใส่ทั้งหมดกี่ใบ . แต่ที่ชวนให้รู้สึกตะขิดตะขวงใจขึ้นมาก็คือระบบเดียวกันนี้จะดักฟังบทสนทนาของลูกค้าที่กำลังเข้าคิวจ่ายเงินเพื่อดูว่าแถวรอจ่ายเงินยาวแค่ไหน และดักฟังบทสนทนาระหว่างลูกค้ากับพนักงานที่ประจำเคาน์เตอร์เพื่อดูว่าพนักงานกล่าวต้อนรับและพูดคุยกับลูกค้าอย่างสุภาพหรือไม่ . ฟังดูผิวเผินเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร ก็ปล่อยให้ดักฟังไปสิ ไม่เป็นอะไรสักหน่อย ดีเสียอีกถ้าบริษัทจะเอาข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น จะได้ไม่ต้องคอยคอมเพลนพนักงานหน้าหงิกเองให้เสียเวลาเปล่าๆ . แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าบทสนทนาที่ถูกดักฟังไปได้จะไปลงเอยที่ไหน และถูกนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ยังจำกรณีข่าวฉาวของเฟซบุ๊กกับแคมบริดจ์ แอนาลิติกา ได้ไหมคะ เราก็คิดว่าข้อมูลส่วนตัวของเราที่เราให้เฟซบุ๊กไปน่าจะปลอดภัย กลับกลายเป็นว่าถูกบุคคลที่สาม […]

ทำไมเราต้อง “อยู่เฉยๆ” ให้เป็น

18/07/2018

ย้อนกลับไปประมาณสักสิบหรือสิบห้าปีที่แล้ว การอ่านหนังสือให้ได้สัปดาห์ละหนึ่งเล่มเป็นภารกิจที่สามารถทำให้สำเร็จได้สบายๆ ไม่ใช่แค่เล่มเดียวแต่อาจจะสามารถทำได้มากถึงสองหรือสามเล่มถ้าหากว่าเจอหนังสือที่ถูกโฉลกจริงๆ เราเพียงแค่พกหนังสือไปด้วยทุกที่ หยิบขึ้นมาอ่านในระหว่างนั่งรถเมล์ ระหว่างรอเพื่อน หรือจัดเวลาในวันเสาร์อาทิตย์ช่วงบ่ายสำหรับการนั่งบนโซฟานุ่มๆ ในห้องนั่งเล่น พลิกหน้าหนังสือไปทีละหน้าๆ พร้อมกับจิบโกโกร้อนไปด้วย แป๊บเดียวหน้าหนังสือทางซีกขวาที่หนาเตอะในตอนแรกๆ ก็บางลงๆ จนเหลือแค่ปกหลังเป็นแผ่นสุดท้าย . กลับมาที่ช่วงเวลาปัจจุบัน เรื่องที่น่ายินดีคือเรามีข้อมูลมหาศาลไหลผ่านเราไปตลอดเวลา เครื่องมืออย่างคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนทำให้เราสามารถซึมซับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นได้รวดเร็วตามเวลาจริง เราสามารถฝึกฝนทักษะ ใส่ความรู้ใหม่ๆ เข้าไปในสมองจากคลังวิชาไม่อั้นบนอินเทอร์เน็ต ไม่มีคำถามข้อไหนที่ไม่สามารถค้นหาคำตอบเจอบนกูเกิล . แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ เราได้สูญเสียทักษะหนึ่งที่เราอาจจะไม่เคยเห็นค่าของมันมาก่อน เราอาจจะนึกถึงมันอยู่บ้างเนืองๆ แต่ไม่เคยนั่งลงคิดจริงจังว่าเราทำอะไรตกหล่นหายไปในระหว่างทางที่เรามุ่งหน้าไปสู่โลกที่เชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาขึ้น หรือเราอาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ว่า แล้วไงล่ะ ทักษะนี้หายไป มันมีอะไรน่าเสียดายขนาดนั้นเลยหรือ . นั่นก็คือ ทักษะการอยู่เฉยๆ ค่ะ . การนั่งเฉยๆ ไม่หยิบอะไรขึ้นมาทำเป็นชิ้นเป็นอัน อาจจะเป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวหรือคนรอบตัวเห็นแล้วส่ายหัวให้กับความไม่เอาไหน แต่ในยุคที่เราเช็คโซเชียลมีเดียกันรายนาทีแบบนี้ ความสามารถในการอยู่กับตัวเองเฉยๆโดยไม่มีเทคโนโลยีมาทำให้วอกแวกได้กลายเป็นเรื่องยากไปแล้ว . การนั่งลงอ่านหนังสือรวดเดียวจบแบบไม่หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กแม้แต่ครั้งเดียวกลายเป็นเป็นภารกิจแสนยากที่แทบจะต้องรอให้มีคนเอาของรางวัลมาล่อก่อนเราถึงจะยอมทำ แม้กระทั่งนักพัฒนาแอปฯ ยังต้องคิดค้นแอปพลิเคชันหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยให้เราทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้โดยไม่วอกแวกกับสมาร์ตโฟน อย่างเช่น แอปพลิเคชัน Forest – Stay focused ที่ใช้ต้นไม้มาเป็นกิมมิกของแอปเพื่อช่วยให้เราอยู่ห่างจากมือถือได้นานเท่าที่เราต้องการ ทุกครั้งที่เราตั้งเวลาว่าจะอยู่ห่างจากมือถือนานแค่ไหนและทำได้สำเร็จ แอปนี้จะเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพว่าเป็นการปลูกต้นไม้ไปแล้วหนึ่งต้น ซึ่งจะว่าไปก็คือการให้รางวัลเสมือนจริงเป็นการตอบแทนนั่นเอง . […]

อีลอน มัสค์ กับความเป็นคนสุดขั้ว

18/07/2018

เหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าพร้อมโค้ชทั้งหมด 13 ชีวิตติดอยู่ภายในถ้ำหลวงนอกจากจะมีองค์ประกอบครบทุกรสชาติจนกลายเป็นเรื่องราวที่ดึงดูดความสนใจได้จากคนทั่วโลกไปอย่างไม่คาดฝันแล้ว ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่นำชื่อเสียงของตัวเองมาผูกเข้ากับเหตุการณ์นี้จนได้ทั้งเกิดและดับไปกับตอนจบของเรื่อง หนึ่งในชื่อที่คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่คุ้นหูมาก่อน แต่ได้มาทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันทั่วประเทศ ก็คือชื่อของอีลอน มัสค์ มหาเศรษฐีในวงการเทคโนโลยี ผู้ซึ่งถูกนำไปเปรียบเทียบกับซูเปอร์ฮีโร่อย่างไอรอนแมนนั่นเอง . อีลอน มัสค์ ตอบรับคนในทวิตเตอร์ที่ขอให้เขาช่วยนำเด็กๆ และโค้ชออกมาจากถ้ำก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ไม่มีใครคาดคิดว่านอกจากการให้ไอเดียและจัดสรรทรัพยากรพร้อมทีมนักวิศวกรให้รีบบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาโดยด่วนแล้ว ตัวเขาเองก็ยังเดินทางมาด้วยตัวเองแบบลับๆ (แต่สุดท้ายก็ไม่ลับเพราะยังมีคนแอบถ่ายภาพมาแชร์บนโซเชียลมีเดียอีกจนได้) เรื่องราวหลังจากนั้นค่อนข้างชุลมุนสักเล็กน้อย ทุกคนได้รับการช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัย เรือดำน้ำของอีลอนไม่ได้ถูกนำมาใช้ในภารกิจการช่วยชีวิต และเมื่อถูกอดีตผู้ว่าฯ กับทีมงานกู้ภัยชาวต่างชาติกล่าวถึงถึงข้อจำกัดของเรือดำน้ำว่าไม่สามารถนำมาใช้จริงได้ อีลอนก็ไม่พอใจฟาดงวงฟาดงาลั่นทวิตเตอร์จนกลายเป็นการหักมุมตอนจบของละครเรื่องนี้ที่มีเขาเป็นหนึ่งในฮีโร่นักช่วยชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย . ไม่ว่าอีลอน มัสค์ จะเข้ามาร่วมในโปรเจ็กต์นี้เพียงเพื่อต้องการสร้างชื่อเสียงของเขาที่ดังอยู่แล้วให้กระหึ่มยิ่งกว่าเก่าหรือเปล่า หรือเขาเป็นคนที่มีอีโก้สูงจนไม่สามารถแตะต้องได้หรือไม่ คำตอบที่ได้ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่าอีลอนเป็นคนที่มีความพิเศษ มีบุคลิกโดดเด่น และความคิดที่ไม่เหมือนใครอยู่ดี ความลุ่มหลงในการสำรวจอวกาศและไอเดียสดใหม่ที่หวังพลิกโฉมวงการยวดยานพาหนะของเขาเป็นแรงบันดาลใจชั้นยอดให้เราหัดคิดนอกกรอบและกล้าทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน . คำถามที่น่าสนใจที่จะถามต่อก็คือ แล้วถ้าเราอยากเป็นอย่างอีลอน มัสค์ บ้าง เราต้องทำอย่างไร และการจะประสบความสำเร็จแบบนี้ได้จะต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง . เมื่อเร็วๆ นี้มีการตั้งประเด็นถามคำถามข้อนี้บนเว็บไซต์ Quora โดยเจ้าของกระทู้ถามว่า “เราต้องทำอย่างไรจึงจะยิ่งใหญ่ได้เหมือนบิลล์ เกตส์ สตีฟ จอบส์ อีลอน มัสค์ หรือ เซอร์ ริชาร์ด […]

เทคโนโลยีที่ไม่ย่ำยีธรรมชาติ

20/06/2018

ข่าวน่าสะเทือนใจโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ บนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกกว่าแปดสิบห้าชิ้น น้ำหนักรวมแปดกิโลกรัมที่ผ่าพบในท้องของวาฬนำร่องชะตาสั้นพอๆ กับครีบของมัน หรือเต่าตนุที่ต้องจบชีวิตเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว . ถ้าหากว่าของที่ผ่าพบในท้องของสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่พลาสติกแต่เป็นวัสดุทางธรรมชาติประเภทอื่นเราก็อาจจะพอทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้แล้วลืมเรื่องนี้ไปภายในเวลาอันรวดเร็วได้ แต่พอหลักฐานชัดเจนว่าเป็นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ก็ไม่มีสปีชี่ไหนสามารถแบ่งความรับผิดชอบไปได้อีกแล้วนอกจากมนุษย์โฮโมเซเปียนอย่างเราๆ . เราคิดค้นพลาสติกขึ้นมาเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการช่วยให้เราไม่ต้องหอบของแยกชิ้นพะรุงพะรังจากซูเปอร์มาร์เก็ตกลับบ้าน เราได้ความสะดวกสบายแต่สัตว์ร่วมโลกประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับวัสดุประเภทใหม่ที่เราคิดค้นขึ้นมากลับต้องมารับกรรมกลืนกินมันเข้าไป ภาพของนกที่จงอยปากติดอยู่ในวงแหวนพลาสติกหุ้มขวด ม้าน้ำที่ม้วนหางรัดคอตตอนบัตเปื่อยยุ่ยไว้แน่น ควรจะบั่นทอนจิตใจมากพอที่จะทำให้เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาถามตัวเองได้แล้วว่า “เราจะทำอะไรเพื่อการเป็นช่วยสิ่งแวดล้อมได้บ้าง” . และในยุคที่คนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกคิดค้นไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา มีไอเดียไหนบ้างที่จะช่วยให้เรารักษ์สิ่งแวดล้อมได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น . ซู่ชิงนึกโจทย์นี้ขึ้นมาได้ในใจ ก็เลยลงมือค้นคว้าในแหล่งรวมไอเดียที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดแหล่งหนึ่ง ซึ่งก็คือเว็บไซต์ Kickstarter ซึ่งออกแบบมาจับคู่ คนมีไอเดีย กับคนมีเงิน ให้มาเจอกัน จนไอเดียดีๆ เปลี่ยนจากความฝันกลายเป็นความจริงได้ ผ่านโมเดลของการช่วยระดมทุน แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ เพราะมีโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย . ถุงกระดาษยุคใหม่ที่ไม่บอบบาง . ทางออกสำหรับการเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก คือการหันหน้าไปหาถุงผ้าหรือถุงกระดาษ ซึ่งก็ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป กระบวนการผลิตกระดาษก็ไปเกี่ยวโยงกับการตัดไม้ที่ท้ายที่สุดก็กระทบสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ดี . โปรเจ็กต์ A better paper bag […]

ปลายสายคือคนหรือหุ่นยนต์กันแน่

16/05/2018

เคยรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการต้องคุยโทรศัพท์บ้างไหมคะ . ความรู้สึกเบื่อการคุยกับมนุษย์คนอื่นทางโทรศัพท์ในยุคนี้ไม่น่าจะใช่อาการที่แปลกประหลาดอะไรอีกต่อไป เราเสพติดการพูดคุยผ่านการส่งข้อความจนการแชตได้กลายเป็นรูปแบบการติดต่อสื่อสารยอดนิยมไปแล้ว บ่อยครั้งที่เรามีโอกาสเลือกได้ว่าจะยกหูแล้วคุยโทรศัพท์ให้จบไปภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที หรือจะยอมลากบทสนทนาทางแชทให้ยืดยาวออกไปเป็นชั่วโมงเราก็ยอมทำ เพียงเพื่อที่เราจะได้หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น . การคุยโทรศัพท์ก็เลยกลายเป็นยาขมไปสำหรับใครหลายคน และหากมีตัวช่วยมาทำแทนก็คงจะดี . ในงาน Google I/O งานสำหรับนักพัฒนาที่กูเกิลจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไฮไลท์ที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดประจำปีนี้ คือตอนที่ ซุนดาร์ พิชัย หัวเรือใหญ่ของกูเกิล ขึ้นเวทีและเปิดคลิปเสียงให้คนในงานและคนที่กำลังชมถ่ายทอดสดทั่วโลกได้ฟังไปพร้อมๆ กัน คลิปเสียงนั้นเป็นการสาธิตเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Google Duplex คือการใช้แมชชีน เลิร์นนิ่งผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ ของกูเกิล เพื่อทำให้ผู้ช่วยส่วนตัวที่สั่งการด้วยเสียง หรือ Google Assistant สามารถโทรศัพท์หาคนอื่นแทนเราได้ . ใช่แล้วค่ะ เราสามารถสั่งให้ปัญญาประดิษฐ์โทรศัพท์ไปคุยกับมนุษย์แทนเราได้แล้ว! . ในคลิป Google Assistant รับคำสั่งเรา แล้วต่อสายไปพูดคุยนัดหมายเวลาทำผมกับพนักงานที่ร้านทำผมได้ไหลลื่นเป็นธรรมชาติ มันทำได้แม้กระทั่งส่งเสียง อืมฮึ ในขณะที่กำลังฟังอีกฝ่ายพูด และในกรณีที่ต้องคุยกับปลายสายที่พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงต่างประเทศที่โปรแกรมฟังไม่ออก มันก็สามารถซอกแซก เปลี่ยนเรื่อง แล้ววนกลับมาต่อเรื่องเดิมได้ โดยที่ไม่ทำให้บทสนทนาสะดุดหรือถูกจับได้เลยว่านี่ไม่ใช่มนุษย์ . ได้เห็นแบบนี้บางคนก็ตื่นเต้นเนื้อตัวสั่น ในขณะที่บางคนก็หวาดหวั่นจนขนลุกเกรียว ต่อไปเราจะไม่สามารถแยกแยะได้อีกแล้วใช่ไหมว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยเป็นคนหรือหุ่นยนต์กันแน่ . […]

ใจเขา ใจเรา เข้าถึงได้ด้วย VR

17/04/2018

ถ้าหากซู่ชิงขอให้คุณผู้อ่านลองหลับตาและนึกภาพตัวเองที่ไม่ใช่ตัวเองในปัจจุบัน อย่างเช่น ลองนึกภาพตัวเองตอนอายุแปดสิบ เราก็คงนึกไม่ออกสักเท่าไหร่ใช่ไหมคะ ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีภาพจินตนาการอะไรบางอย่างอยู่ในหัว ว่าตอนอายุแปดสิบผิวหนังของเราก็คงจะเหี่ยวย่น ดวงตาฝ้าฟาง ร่างกายขยับเคลื่อนไหวเชื่องช้าไม่เป็นไปตามใจนึก หูก็อาจจะตึงไม่ได้ยินเสียงรอบข้างชัดเจนสักเท่าไหร่ แต่ทั้งหมดนี้เราทำได้เพียงแค่นึกไปตามข้อมูลที่มีเฉยๆ แต่ไม่มีทางฟีล ไม่มีทางอิน ไปกับมันแน่ๆ . แล้วจะมีวิธีไหนบ้างล่ะ ที่จะทำให้เราสามารถเอาตัวเองไปสวมกับตัวตนอีกแบบ และซึมซับความรู้สึกของการเป็นตัวตนนั้นๆ ได้แบบที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่าการนั่งนึกเอาเองเฉยๆ . คำตอบก็คือเทคโนโลยีเสมือน หรือ Virtual Reality (VR) ค่ะ . โดยทั่วไปเวลาพูดถึงเทคโนโลยีวีอาร์ สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงคือการใช้งานในอุตสาหกรรมเกม นอกจากนั้น ประโยชน์ของวีอาร์ก็จะกระจัดกระจายไปแตะวงการที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์ การศึกษา การผลิต อีกมากมายนับไม่ถ้วน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่วีอาร์สามารถทำได้และเป็นสิ่งที่น่าทึ่งควรค่าแก่การสำรวจลึกลงไป ก็คือ . “การใช้วีอาร์ทำให้เราเข้าใจหัวอกของคนอื่นมากขึ้น” นั่นเองค่ะ . สาเหตุที่ซู่ชิงยกตัวอย่างให้ทุกคนลองนึกถึงภาพตัวเองในวัยชรา ก็เพราะว่ามีการศึกษาหนึ่งที่ตั้งโจทย์ว่าคนจำนวนมากไม่ยอมเก็บเงินไว้เผื่อใช้ในวัยเกษียณ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถมองเห็นตัวเองในยามแก่ชราได้ ดังนั้น นักวิจัยจึงใช้เทคนิคการเรนเดอร์ภาพและให้อาสาสมัครลองเป็นคนสูงวัยผ่านการใช้อุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงหรือวีอาร์ จากนั้นก็พบว่า เมื่ออาสาสมัครได้ลองเห็นตัวเองผ่านสายตาอันเหนื่อยล้าของผู้สูงอายุแล้วก็จะมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณมากกว่าเดิม หรืออาจจะเปรียบเทียบได้ว่า ไม่เห็นโลงศพ (เสมือน) ไม่หลั่งน้ำตา นั่นแหละค่ะ . การนำวีอาร์มาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้มีประโยชน์ในการทำให้เรามองเห็นตัวเองได้ชัดขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันมันสามารถนำมาช่วยให้เราทดลอง […]

บนโลกออนไลน์ คุณได้เรตติ้งเท่าไหร่?

15/03/2018

เรามาลองนึกกันเล่นๆ ดีไหมคะ ว่าถ้าหากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอที่เราโพสต์บนเฟซบุ๊ก ข้อความที่เราเขียนบนทวิตเตอร์ หรือภาพที่เราแชร์บนอินสตาแกรม ถูกนำมาคิดคำนวณด้วยสูตรอะไรบางอย่าง แล้วตีค่าออกมาเป็น “คะแนน” ให้กับตัวเราในชีวิตจริง สถานการณ์มันจะยุ่งวุ่นวายโกลาหลสักแค่ไหน . อันที่จริงแล้วเราอาจจะไม่ต้องเริ่มวาดภาพตั้งแต่ศูนย์ค่ะ หากใครเคยดูซีรีส์เรื่อง Black Mirror บน Netflix ซีรีส์ที่ฉายให้เห็นถึงด้านดำมืดของเทคโนโลยีที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต ก็น่าจะได้ชมเอพิโสดที่มีชื่อว่า Nosedive ซึ่งเอพิโสดนี้เป็นหนึ่งในตอนโปรดของซู่ชิง และเป็นไปตามคอนเซ็ปต์เรื่องให้คะแนนที่บอกมาเป๊ะๆ . พล็อตเรื่องคร่าวๆ ของ Nosedive ก็คือ โลกในอนาคตทุกคนจะให้คะแนนกันและกัน คล้ายๆ กับที่ทุกวันนี้เรากดไลค์ หรือกดเลิฟ ให้กับเพื่อนเราบนโซเชียลมีเดียนั่นแหละค่ะ คะแนนที่เราได้ก็จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม หากเราได้คะแนนเฉลี่ยน้อย คนก็จะแขยงไม่อยากเข้าใกล้ เพราะกลัวว่าการมาเสวนาด้วยจะทำให้คะแนนของพวกเขาแปดเปื้อนได้ ส่วนคนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงๆ ก็ใช้ชีวิตราวกับอยู่ยูโทเปีย เดินเฉิดฉายไปมาอย่างสวยงาม สิทธิพิเศษเพียบ ระบบนี้ทำให้ทุกคนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนเชื่อง ต้องเสแสร้งเป็นคนดีให้ได้มากที่สุด หรือไม่ก็ต้องเฮโลตามสังคมส่วนใหญ่ไปจะได้ไม่ถูกลดคะแนนและตราหน้าว่าเป็นพวกคนนอกรีต . ฟังดูหดหู่มากเลยใช่ไหมล่ะคะ ซู่ชิงก็จำได้ว่าดูจนจบเอพิโสดแล้วมันก็ทิ้งความรู้สึกหนักๆ ให้อยู่ในใจไปอีกสักพักเลยเหมือนกัน เพราะจะว่าไปเราก็ไม่ได้ห่างไกลจากพล็อตเรื่องนี้ขนาดนั้นด้วยซ้ำ โซเชียลมีเดียแผ่ขยายอิทธิพลของมันออกจากหน้าจอสู่ชีวิตจริงแล้วเรียบร้อย เราทำทุกอย่างเพื่อเรียกยอดไลค์ที่เป็นการสูบลมให้ตัวตนในโลกความจริงของเราพองใหญ่ขึ้นได้ . แต่สำหรับประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่ ความเป็น Nosedive […]

“ชีวิต” และ “สำนึก” ของหุ่นยนต์โซเฟีย (ตอนจบ)

19/02/2018

ซู่ชิงคิดว่าคำถามของน้องๆ แม้จะเป็นคำถามที่ฟังดูง่ายๆ แต่อันที่จริงน่าสนใจมากทีเดียว เพราะแต่ละคำถามสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่เด็กๆ เหล่านี้มีต่อหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เช่นการมองว่าหุ่นยนต์โซเฟียไม่แตกต่างจากมนุษย์สักเท่าไหร่ กับคำถามที่ว่า โซเฟียนอนหลับพักผ่อนหรือไม่ โซเฟียนับถือศาสนาอะไร โซเฟียเต้นรำได้หรือเปล่า ไปจนถึงคำถามที่แฝงไปด้วยแนวคิดการมองหุ่นยนต์เป็นฝั่งตรงข้ามซึ่งอาจซึมซับมาจากภาพยนตร์หรือการ์ตูน กับคำถามที่ว่า โซเฟียเป็นหุ่นยนต์ต่อสู้ด้วยหรือไม่ ซู่ชิงเชื่อว่าการที่น้องๆ ได้ขึ้นไปยืนบนเวทีเดียวกับโซเฟียและพูดคุยกับเธอด้วยตัวเอง น่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้อยากเรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์มากขึ้นหรืออาจจะพัฒนาไปเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์ได้ในอนาคต เพราะว่าเด็กในเจเนเรชันนี้แหละค่ะที่จะต้องอยู่กันอย่างกลมกลืนกับหุ่นยนต์หลากหลายประเภทในอนาคตข้างหน้า และพวกเขาอาจจะต้องเป็นคนกำหนดบทบาทและความสัมพันธ์ที่หุ่นยนต์มีต่อคนด้วย . ซู่ชิงถามด็อกเตอร์เดวิดว่าบทสนทนาต่างๆ ที่โซเฟียโต้ตอบกลับมา ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามเรื่องศาสนาว่า เธอยังไม่นับถือศาสนาอะไรในตอนนี้ ต้องรอให้โตกว่านี้ก่อนถึงค่อยตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะนับถือศาสนาอะไร หรือการตอบคำถามเรื่องหุ่นยนต์ต่อสู้ว่า การเล่นเกมหรือดูหุ่นยนต์ต่อสู้ในภาพยนตร์ก็สนุกดีอยู่หรอก แต่สำหรับโซเฟียแล้วเธอรักสันติภาพ ถ้าจำเป็นจะต้องต่อสู้กับอะไรสักอย่างเธอจะเลือกต่อสู้ด้วยคำพูดและเหตุผลมากกว่า (โอ้โห คมกริบมากๆ) ทั้งหมดนี้เป็นการที่โซเฟียประมวลผลด้วยตัวเอง หรือเป็นการโปรแกรมเอาไว้ก่อนกันแน่ ด็อกเตอร์เดวิดตอบว่าเป็นการผนวกกันของสองอย่าง มีทั้งปัญญาประดิษฐ์ในตัวของโซเฟีย และการสร้างคาแรคเตอร์โซเฟียจากฝีมือของนักเขียนและนักพัฒนาโปรแกรม คล้ายๆ กับปัญญาประดิษฐ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตสันของไอบีเอ็ม สิริของแอปเปิล คอร์ทานาของไมโครซอฟท์ หรือปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลและเฟซบุ๊ก ต่างก็มาจากฝีมือการเขียนของมนุษย์ทั้งสิ้น แล้วต่อยอดด้วยการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็คือการผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์ที่ดี กับงานเขียนที่ดีนั่นเอง ด็อกเตอร์เดวิดสำทับว่าสถานะของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ยังไม่นับว่า “มีชีวิต” และ “มีสำนึก” อย่างเต็มรูปแบบ แต่มันก็ช่วยให้เราได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าหุ่นยนต์ในอนาคตมีศักยภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งความคาดหวังของเขาก็คือการได้เห็นโซเฟียเติบโตอย่างเต็มที่และกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ฟังก์ชันได้ด้วยตัวเองหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ . ปลายปีที่แล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้โซเฟียเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ไปอีกหนึ่งก้าว […]

“ชีวิต” และ “สำนึก” ของหุ่นยนต์โซเฟีย (ตอนแรก)

15/02/2018

เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ซู่ชิงได้สัมผัสกับหุ่นยนต์ตัวแรกในชีวิตจากการเดินทางไปสัมภาษณ์ ด็อกเตอร์ฮิโรชิ อิชิกุโระ ผู้สร้างหุ่นยนต์ในญี่ปุ่น ในตอนนั้นการได้เห็นหุ่นยนต์ที่หน้าตารูปร่างเหมือนมนุษย์ทุกประการในระยะประชั้นชิดชนิดที่เอื้อมนิ้วไปสัมผัสผิวหนังหยุ่นๆ ที่ทำจากซิลิโคนได้นั้นก็ชวนน่าขนลุกไม่น้อย และแค่ได้เห็นเทคโนโลยีที่ทีมงานใช้ในการบังคับศีรษะ ลำตัว และส่งเสียงพูดผ่านไมโครโฟนลอดออกมาจากปากของหุ่นยนต์ได้ก็นับว่านี่คือสุดยอดหุ่นยนต์ที่เก่งกาจที่สุดแล้ว . เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น หุ่นยนต์ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจนแทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิม แต่ก่อนหุ่นยนต์เป็นเพียงแค่เปลือกที่มนุษย์จะต้องคอยควบคุมบังคับทุกกระบวนท่าแต่ในตอนนี้เทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิ่ง ทำให้มันประมวลผลได้ด้วยตัวเอง เซ็นเซอร์และกล้องที่ติดไว้ช่วยให้สามารถจ้องตา รู้จำใบหน้า และหันมองตามมนุษย์ได้ ไปจนถึงขั้นที่สามารถพูดคุยโต้ตอบด้วยภาษามนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ หรือจะพูดให้ดราม่าสักหน่อยก็คือหุ่นยนต์ดูจะมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และพึ่งพามนุษย์น้อยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน . หนึ่งในหุ่นยนต์ที่ซู่ชิงติดตามความเคลื่อนไหวมาอยู่เรื่อยๆ นับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน ก็คือหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า “โซเฟีย” ค่ะ โซเฟียเป็นหุ่นยนต์ที่จะเรียกว่าหุ่นยนต์สาวสวยก็อาจจะไม่เต็มปากเสียทีเดียว เพราะการที่มีแต่ใบหน้าแต่ส่วนท้ายทอยเปิดโล่งใสไว้ให้เห็นเครื่องยนต์กลไกข้างในนั้นมิอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความงามตามมาตรฐานของมนุษย์ แต่โซเฟียเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ด้วยการมีผิวหน้าที่สามารถพับย่นได้ในแบบที่เป็นธรรมชาติทำให้แสดงออกทางอารมณ์ได้หลายรูปแบบ แม้ทางเทคนิคแล้วเธอจะเพิ่งอายุสองขวบ แต่ผู้สร้างโซเฟียออกแบบมาหน้าตาและขนาดตัวของเธอให้เป็นผู้หญิงโตเต็มวัย ไร้ท่อนล่างที่ใช้เดินเหิรบ้างในบางครั้งแต่ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญของเธอคือสมองและปัญญาประดิษฐ์ต่างหาก . โซเฟีย เป็นหุ่นยนต์จากการประดิษฐ์คิดค้นพัฒนาของแฮนสัน โรโบติกส์ บริษัทในฮ่องกง โดยมีผู้สร้างคือ ด็อกเตอร์ เดวิด แฮนสัน ผลงานเด่นๆ ของเธอก็คือการปรากฏตัวในหน้าสื่อบ่อยครั้ง บางวันก็ไปนั่งให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ชื่อดัง บางวันก็รับบทบาทวิทยากรบนเวทีระดับโลก และที่ทำให้ซู่ชิงรู้สึกอยากเท้าสะเอวและกระแนะกระแหนว่า “นี่มันจะมากเกินไปแล้วนะยะ” ก็คือตอนที่โซเฟียขึ้นเวทีพร้อมกับหุ่นยนต์พี่ชายของเธอ และโต้คารมไปกลับกันอย่างเผ็ดร้อน […]