ทำไมเราต้อง “อยู่เฉยๆ” ให้เป็น

By : Jitsupa Chin


ย้อนกลับไปประมาณสักสิบหรือสิบห้าปีที่แล้ว การอ่านหนังสือให้ได้สัปดาห์ละหนึ่งเล่มเป็นภารกิจที่สามารถทำให้สำเร็จได้สบายๆ ไม่ใช่แค่เล่มเดียวแต่อาจจะสามารถทำได้มากถึงสองหรือสามเล่มถ้าหากว่าเจอหนังสือที่ถูกโฉลกจริงๆ เราเพียงแค่พกหนังสือไปด้วยทุกที่ หยิบขึ้นมาอ่านในระหว่างนั่งรถเมล์ ระหว่างรอเพื่อน หรือจัดเวลาในวันเสาร์อาทิตย์ช่วงบ่ายสำหรับการนั่งบนโซฟานุ่มๆ ในห้องนั่งเล่น พลิกหน้าหนังสือไปทีละหน้าๆ พร้อมกับจิบโกโกร้อนไปด้วย แป๊บเดียวหน้าหนังสือทางซีกขวาที่หนาเตอะในตอนแรกๆ ก็บางลงๆ จนเหลือแค่ปกหลังเป็นแผ่นสุดท้าย
.
กลับมาที่ช่วงเวลาปัจจุบัน เรื่องที่น่ายินดีคือเรามีข้อมูลมหาศาลไหลผ่านเราไปตลอดเวลา เครื่องมืออย่างคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนทำให้เราสามารถซึมซับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นได้รวดเร็วตามเวลาจริง เราสามารถฝึกฝนทักษะ ใส่ความรู้ใหม่ๆ เข้าไปในสมองจากคลังวิชาไม่อั้นบนอินเทอร์เน็ต ไม่มีคำถามข้อไหนที่ไม่สามารถค้นหาคำตอบเจอบนกูเกิล
.
แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ เราได้สูญเสียทักษะหนึ่งที่เราอาจจะไม่เคยเห็นค่าของมันมาก่อน เราอาจจะนึกถึงมันอยู่บ้างเนืองๆ แต่ไม่เคยนั่งลงคิดจริงจังว่าเราทำอะไรตกหล่นหายไปในระหว่างทางที่เรามุ่งหน้าไปสู่โลกที่เชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาขึ้น หรือเราอาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ว่า แล้วไงล่ะ ทักษะนี้หายไป มันมีอะไรน่าเสียดายขนาดนั้นเลยหรือ
.
นั่นก็คือ ทักษะการอยู่เฉยๆ ค่ะ
.
การนั่งเฉยๆ ไม่หยิบอะไรขึ้นมาทำเป็นชิ้นเป็นอัน อาจจะเป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวหรือคนรอบตัวเห็นแล้วส่ายหัวให้กับความไม่เอาไหน แต่ในยุคที่เราเช็คโซเชียลมีเดียกันรายนาทีแบบนี้ ความสามารถในการอยู่กับตัวเองเฉยๆโดยไม่มีเทคโนโลยีมาทำให้วอกแวกได้กลายเป็นเรื่องยากไปแล้ว
.
การนั่งลงอ่านหนังสือรวดเดียวจบแบบไม่หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กแม้แต่ครั้งเดียวกลายเป็นเป็นภารกิจแสนยากที่แทบจะต้องรอให้มีคนเอาของรางวัลมาล่อก่อนเราถึงจะยอมทำ แม้กระทั่งนักพัฒนาแอปฯ ยังต้องคิดค้นแอปพลิเคชันหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยให้เราทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้โดยไม่วอกแวกกับสมาร์ตโฟน อย่างเช่น แอปพลิเคชัน Forest – Stay focused ที่ใช้ต้นไม้มาเป็นกิมมิกของแอปเพื่อช่วยให้เราอยู่ห่างจากมือถือได้นานเท่าที่เราต้องการ ทุกครั้งที่เราตั้งเวลาว่าจะอยู่ห่างจากมือถือนานแค่ไหนและทำได้สำเร็จ แอปนี้จะเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพว่าเป็นการปลูกต้นไม้ไปแล้วหนึ่งต้น ซึ่งจะว่าไปก็คือการให้รางวัลเสมือนจริงเป็นการตอบแทนนั่นเอง
.
แม้กระทั่งบริษัทแอปเปิลที่น่าจะอยากกระตุ้นให้คนใช้โมบายดีไวซ์ให้ได้มากที่สุด ยังเห็นถึงโทษที่เกิดจากการเป็นทาสของอุปกรณ์เหล่านี้ จนต้องออกฟีเจอร์ใหม่มาในระบบปฏิบัติการเวอร์ชันล่าสุดเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมและตัดลดจำนวนชั่วโมงการใช้หน้าจอลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด
.
การอยู่เฉยๆ ได้กลายเป็นเรื่องยากไปเสียแล้ว
.
บทความของ Quartz ชิ้นหนึ่งได้อ้างถึงคำพูดของ แบลซ ปัสกาล นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ที่ในช่วงท้ายของชีวิตได้ผันตัวเองมาเป็นนักปรัชญาด้วย ซึ่งเป็นคำพูดที่ซู่ชิงอ่านแล้วชอบมาก คือ “All of humanity’s problems stem from man’s inability to sit quietly in a room alone.” หรือ “ปัญหาทั้งหมดของมนุษยชาติเกิดมาจากการที่เราไม่สามารถนั่งเงียบๆ อยู่เพียงลำพังคนเดียวในห้องได้”
.
แต่ไหนแต่ไรมา มนุษย์เราหวาดกลัวการดำรงชีวิตอยู่ เรากลัวความเบื่อหน่าย เราหลีกหนีความซ้ำซากจำเจ เราจึงหันไปหาสิ่งใดก็ตามที่สามารถดึงความสนใจของเราได้แบบไม่หยุดหย่อน หนักไปกว่านั้นคือทุกวันนี้สิ่งที่ดึงความสนใจของเราได้จนเรามีช่วงเวลาหลุมดำที่ถูกดูดหายเข้าไปนานหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัวมันคือสิ่งใกล้ตัวที่เราถือเอาไว้ในฝ่ามือนี่เอง
.
ไม่เพียงแค่นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรายังเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแถมยังสื่อสารกันเองได้แบบไร้ขีดจำกัด หลอดไฟคุยกับมือถือของเรา ลำโพงสามารถจัดการธุระปะปังให้เรา ตู้เย็นสั่งของให้เรา รถยนต์ขับตัวเองไปจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ เราไม่เบื่ออีกต่อไป เพราะมีอะไรให้เราหันไปสนใจตลอด พอเช็คเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ จนไม่มีฟีดใหม่อะไรให้อ่านอีกแล้ว เราก็แค่หันไปเปิดเน็ตฟลิกซ์และไล่ดูหนังกับซีรีส์ไปเรื่อยๆ แต่สังเกตดูสิคะว่า บ่อยครั้งเวลาที่เราดูอะไรไปเรื่อยเปื่อยแบบนี้ เราไม่ได้ดูเพราะสนใจอยากจะดูจริงๆ แต่เพราะเรากลัวมือว่าง หัวว่าง เรากลัวที่จะต้องสัมผัสความเหงาและความเบื่อที่อาจจะเกิดขึ้นจากการไม่ทำอะไร ความเบื่อกลายเป็นอารมณ์ต้องห้ามไปเสียแล้ว
.
ชีวิตเราเชื่อมต่อเข้ากับทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นเชื่อมต่อเข้ากับตัวเราเอง
.
คำถามคือ แล้วในยุคที่เราไม่ต้องอยู่คนเดียวอีกต่อไป เราจะสนใจทำไมถ้าหากว่าเราไม่สามารถนั่งนิ่งๆ เฉยๆ อยู่คนเดียวได้ เพราะเราไม่มีวันจะสูญเสียการเชื่อมต่อนี้ไปอยู่แล้ว
.
คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือ การรู้จักตัวเอง การยอมรับข้อบกพร่องและเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราหลีกหนีมาโดยตลอด หรือแม้กระทั่งความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้เพราะถูกเสียงรบกวนที่เราเปิดไว้ทำลายความเงียบกลบจนมิด อาจจะเกิดขึ้นในตอนที่เรายอมปล่อยให้ตัวเองอยู่เฉยๆ แม้จะเบื่อแสนเบื่อแค่ไหน
.
การอยู่เฉยๆ กับตัวเองคือการยอมให้ตัวเองเผชิญกับความคิดอะไรบางอย่างที่เราปิดประตูกั้นเอาไว้ แต่มันอาจจะเป็นคำถามสำคัญที่เราจะต้องตอบตัวเองไม่ช้าก็เร็วอยู่ดี จากประสบการณ์ของซู่ชิงการเข้าใจความต้องการของตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นตอนที่กำลังนอนแผ่บนโซฟาแล้วไล่เปิดเทรเลอร์บนเน็ตฟลิกซ์ดูอย่างไม่มีจุดหมาย แต่มันแว้บเข้ามาในช่วงที่เรากำลังอยู่เฉยๆ หรือช่วงก่อนนอนที่เราวางโทรศัพท์ไว้ไกลมือ ซึ่งช่วงรอยต่อระหว่างการวางมือถือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าวันนี้ได้จบลงแล้ว กับตอนก่อนที่จะเข้าสู่ภวังค์ของการหลับใหลนี่แหละค่ะที่เป็นช่วงที่ “คิด” อะไรได้หลายอย่าง บางอย่างคือความคิดในเรื่องที่เราผลักมันออกห่างทั้งวัน แต่สุดท้ายก็ตามทันในช่วงจังหวะที่ไม่มีอะไรมาดึงแย่งความสนใจแล้ว
.
เพราะเหตุนี้การฝึกทักษะการอยู่เฉยๆ กับตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งรบกวนไม่จำเป็นจึงเป็นเรื่องที่ควรต้องฝึกเพื่อให้ตัวตนความต้องการที่แท้จริงของเราโผล่หน้าขึ้นมาหายใจได้บ้าง
.
และเราอาจจะได้รู้อะไรบางอย่างที่เราเพียรหาคำตอบมาโดยตลอดก็ได้

รูปภาพ : แอป Forest https://itunes.apple.com/us/app/forest-stay-focused/id866450515?mt=8

 

Reviews

Comment as: