ใจเขา ใจเรา เข้าถึงได้ด้วย VR

By : Jitsupa Chin


ถ้าหากซู่ชิงขอให้คุณผู้อ่านลองหลับตาและนึกภาพตัวเองที่ไม่ใช่ตัวเองในปัจจุบัน อย่างเช่น ลองนึกภาพตัวเองตอนอายุแปดสิบ เราก็คงนึกไม่ออกสักเท่าไหร่ใช่ไหมคะ ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีภาพจินตนาการอะไรบางอย่างอยู่ในหัว ว่าตอนอายุแปดสิบผิวหนังของเราก็คงจะเหี่ยวย่น ดวงตาฝ้าฟาง ร่างกายขยับเคลื่อนไหวเชื่องช้าไม่เป็นไปตามใจนึก หูก็อาจจะตึงไม่ได้ยินเสียงรอบข้างชัดเจนสักเท่าไหร่ แต่ทั้งหมดนี้เราทำได้เพียงแค่นึกไปตามข้อมูลที่มีเฉยๆ แต่ไม่มีทางฟีล ไม่มีทางอิน ไปกับมันแน่ๆ
.
แล้วจะมีวิธีไหนบ้างล่ะ ที่จะทำให้เราสามารถเอาตัวเองไปสวมกับตัวตนอีกแบบ และซึมซับความรู้สึกของการเป็นตัวตนนั้นๆ ได้แบบที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่าการนั่งนึกเอาเองเฉยๆ
.
คำตอบก็คือเทคโนโลยีเสมือน หรือ Virtual Reality (VR) ค่ะ
.
โดยทั่วไปเวลาพูดถึงเทคโนโลยีวีอาร์ สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงคือการใช้งานในอุตสาหกรรมเกม นอกจากนั้น ประโยชน์ของวีอาร์ก็จะกระจัดกระจายไปแตะวงการที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์ การศึกษา การผลิต อีกมากมายนับไม่ถ้วน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่วีอาร์สามารถทำได้และเป็นสิ่งที่น่าทึ่งควรค่าแก่การสำรวจลึกลงไป ก็คือ
.
“การใช้วีอาร์ทำให้เราเข้าใจหัวอกของคนอื่นมากขึ้น” นั่นเองค่ะ
.
สาเหตุที่ซู่ชิงยกตัวอย่างให้ทุกคนลองนึกถึงภาพตัวเองในวัยชรา ก็เพราะว่ามีการศึกษาหนึ่งที่ตั้งโจทย์ว่าคนจำนวนมากไม่ยอมเก็บเงินไว้เผื่อใช้ในวัยเกษียณ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถมองเห็นตัวเองในยามแก่ชราได้ ดังนั้น นักวิจัยจึงใช้เทคนิคการเรนเดอร์ภาพและให้อาสาสมัครลองเป็นคนสูงวัยผ่านการใช้อุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงหรือวีอาร์ จากนั้นก็พบว่า เมื่ออาสาสมัครได้ลองเห็นตัวเองผ่านสายตาอันเหนื่อยล้าของผู้สูงอายุแล้วก็จะมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณมากกว่าเดิม หรืออาจจะเปรียบเทียบได้ว่า ไม่เห็นโลงศพ (เสมือน) ไม่หลั่งน้ำตา นั่นแหละค่ะ
.
การนำวีอาร์มาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้มีประโยชน์ในการทำให้เรามองเห็นตัวเองได้ชัดขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันมันสามารถนำมาช่วยให้เราทดลอง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นได้
.
อาการตาบอดสีแดงและเขียวเป็นความผิดปกติทางการมองเห็นที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะเฉดสีได้อย่างถูกต้อง แต่หากเราไม่ได้ตาบอดสีด้วยตัวเอง ต่อให้คนตาบอดสีมายืนอธิบายให้เราฟังว่าพวกเขาเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นคนละสีกับเราจนปากเปียกปากแฉะแค่ไหน เราก็มิอาจจะเข้าใจได้ ดีไม่ดีเราอาจจะมีประสบการณ์เคยล้อเลียนคนตาบอดสีกันมาแล้วด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะเราไม่เข้าใจ เรามองไม่เห็นสิ่งที่เขาเห็นนั่นเอง
.
เมื่อนักวิจัยให้อาสาสมัครทดลองสวมอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงที่ใส่ฟิลเตอร์เพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกราวกับตัวเองเป็นคนตาบอดสี และลองให้ทำภารกิจแยกสีดู พบว่าหลังจากทำภารกิจเสร็จสิ้น อาสาสมัครกลุ่มที่เดิมทีไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจคนตาบอดสีสักเท่าไหร่ มีแนวโน้มที่จะเสนอตัวช่วยเหลือคนตาบอดสีมากขึ้นถึงสองเท่า
.
พอจะนึกออกเลยใช่ไหมคะว่าศักยภาพของมันไร้ขอบเขตจำกัดแค่ไหน
.
นอกจากการใช้วีอาร์มาเอาตัวเราไปใส่ตัวเขาแบบนี้แล้ว อีกหนึ่งรูปแบบที่ทำได้ และทำมาแล้วโดยหัวเรือใหญ่ของ เฟซบุ๊ก อย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก คือ การนำตัวอวตารของตัวเขาเองไปอยู่ในเปอร์โตริโกหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2017 ที่ทำให้ประชาชนในประเทศเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
.
ซักเคอร์เบิร์กบอกว่าการใช้เทคโนโลยีวีอาร์จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ประสบวาตภัยแบบเดียวกันเข้าใจหัวอกของชาวเปอร์โตริกันมากขึ้นเมื่อได้นำตัวเองเวอร์ชันเสมือนจริงไปอยู่ในเมืองที่น้ำท่วมจนมิดศีรษะ (แม้ว่าในการสาธิตการใช้งานครั้งนั้นเขาจะพลาดแสดงออกอย่างเริงร่าท้าน้ำท่วมจนถูกตำหนิติเตียนอย่างแรงก็ตาม)
.
ประโยชน์ของการใช้วีอาร์เพื่อให้เราเข้าใจหัวอกของผู้ประสบภัยจะกระตุ้นให้เรายอมควักเงินในกระเป๋ามาบริจาคช่วยเหลือ หรือบางครั้งมันอาจจะมากเพียงพอที่จะไปสั่นสะเทือนต่อมข้างในอะไรบางอย่างจนเราอยู่เฉยไม่ได้ต้องลุกขึ้นไปเป็นอาสาสมัครด้วยตัวเอง หากไม่มีความสมจริงของโลกเสมือนมากระตุ้นเตือน เราก็อาจจะแค่อ่านข่าวไปอย่างผ่านๆ โดยไม่ได้มีความรู้สึกร่วมไปกับเพื่อนมนุษย์เลยแม้แต่นิด
.
ปัญหาอันหลากหลายในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก ปะการังใต้มหาสมุทรถูกทำลาย การทำฟาร์มสัตว์ด้วยวิธีไร้จริยธรรม ผู้อพยพ คนที่ต้องทนอยู่ในพื้นที่สงคราม การเหยียดสีผิว ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทุกวัน แต่เมื่อเรารู้สึกว่าห่างไกลจากตัวตนของเราที่นั่งจิบชาอุ่นๆ ห่มผ้านวมหนาอยู่บนโซฟานุ่ม เราก็เลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราและเป็นปัญหาที่มีแต่จะแย่ลงทุกวันๆ
.
เมื่อมีวีอาร์ เราสามารถนำตัวเราเองใส่ลงไปที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำคนผิวขาวไปลองเป็นคนผิวสีและเดินไปเดินมาในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเหยียดผิวเพื่อให้เข้าอกเข้าใจคนผิวสีมากขึ้น หรือแม้แต่การเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นสิ่งมีชีวิตอื่น อย่างสัตว์ที่ถูกทารุณ ตามล่า หรือแม้กระทั่งปะการังใต้สมุทรที่ถูกกัดกร่อนทีละนิดๆ ก็สามารถจำลองความรู้สึกได้เช่นเดียวกัน
.
แม้ในตอนนี้จะยังมิอาจบอกได้ว่าการใช้วีอาร์เพื่อทำให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นนั้นจะให้ผลลัพธ์ในระยะยาวแบบไหน แต่อย่างน้อยๆ เราก็พอจะได้เห็นแล้วว่าหากพัฒนาต่อไป ศักยภาพของมันก็น่าจะทำให้โลกใบนี้เป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้น
.
ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยจริงไหมคะ

 

Reviews

Comment as: