เทคโนโลยีที่ไม่ย่ำยีธรรมชาติ

By : Jitsupa Chin


ข่าวน่าสะเทือนใจโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ บนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกกว่าแปดสิบห้าชิ้น น้ำหนักรวมแปดกิโลกรัมที่ผ่าพบในท้องของวาฬนำร่องชะตาสั้นพอๆ กับครีบของมัน หรือเต่าตนุที่ต้องจบชีวิตเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
.
ถ้าหากว่าของที่ผ่าพบในท้องของสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่พลาสติกแต่เป็นวัสดุทางธรรมชาติประเภทอื่นเราก็อาจจะพอทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้แล้วลืมเรื่องนี้ไปภายในเวลาอันรวดเร็วได้ แต่พอหลักฐานชัดเจนว่าเป็นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ก็ไม่มีสปีชี่ไหนสามารถแบ่งความรับผิดชอบไปได้อีกแล้วนอกจากมนุษย์โฮโมเซเปียนอย่างเราๆ
.
เราคิดค้นพลาสติกขึ้นมาเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการช่วยให้เราไม่ต้องหอบของแยกชิ้นพะรุงพะรังจากซูเปอร์มาร์เก็ตกลับบ้าน เราได้ความสะดวกสบายแต่สัตว์ร่วมโลกประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับวัสดุประเภทใหม่ที่เราคิดค้นขึ้นมากลับต้องมารับกรรมกลืนกินมันเข้าไป ภาพของนกที่จงอยปากติดอยู่ในวงแหวนพลาสติกหุ้มขวด ม้าน้ำที่ม้วนหางรัดคอตตอนบัตเปื่อยยุ่ยไว้แน่น ควรจะบั่นทอนจิตใจมากพอที่จะทำให้เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาถามตัวเองได้แล้วว่า “เราจะทำอะไรเพื่อการเป็นช่วยสิ่งแวดล้อมได้บ้าง”
.
และในยุคที่คนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกคิดค้นไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา มีไอเดียไหนบ้างที่จะช่วยให้เรารักษ์สิ่งแวดล้อมได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น
.
ซู่ชิงนึกโจทย์นี้ขึ้นมาได้ในใจ ก็เลยลงมือค้นคว้าในแหล่งรวมไอเดียที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดแหล่งหนึ่ง ซึ่งก็คือเว็บไซต์ Kickstarter ซึ่งออกแบบมาจับคู่ คนมีไอเดีย กับคนมีเงิน ให้มาเจอกัน จนไอเดียดีๆ เปลี่ยนจากความฝันกลายเป็นความจริงได้ ผ่านโมเดลของการช่วยระดมทุน แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ เพราะมีโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
.
ถุงกระดาษยุคใหม่ที่ไม่บอบบาง

.
ทางออกสำหรับการเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก คือการหันหน้าไปหาถุงผ้าหรือถุงกระดาษ ซึ่งก็ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป กระบวนการผลิตกระดาษก็ไปเกี่ยวโยงกับการตัดไม้ที่ท้ายที่สุดก็กระทบสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ดี
.
โปรเจ็กต์ A better paper bag จากไต้หวัน เป็นโปรเจ็กต์ที่หยิบไอเดียของถุงกระดาษมาปรับใหม่ให้เหมาะกับบริบทโลกยุคที่ต้องการความเหนียวอึดของพลาสติก แต่ไม่อยากใช้พลาสติก กลายมาเป็นถุงกระดาษที่แกร่งกว่าเก่า ทนน้ำ ล้างได้ ใช้ซ้ำได้ ขนาดบีบซอสถั่วเหลือง ซอสมะเขือเทศ แล้วละเลงหมึกดำลงไป ก็ยังเอาไปล้างออกแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้สบายๆ ถุงมีให้เลือกสามไซส์ S M L ราคาก็เริ่มต้นตั้งแต่ใบละ 7.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 250 บาท น่าจะพร้อมส่งมอบของได้ประมาณสิงหาคมปีนี้ ใครสนใจก็ลองไปให้ทุนสนับสนุนกันได้
.
แทร็กเกอร์ลดขยะอาหารทิ้งขว้าง

.
ขยะอาหารเหลือ เป็นหนึ่งในประเภทขยะที่มนุษย์เราทิ้งขว้างกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกามีการทิ้งขยะอาหารเหลือมากถึง 40% ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตออกมา ในประเทศไทยวิกฤตเรื่องขยะอาหารก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากันเลย กรมควบคุมมลพิษระบุว่าคนไทยสร้างขยะต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยคิดเป็น 1.14 กิโลกรัม ต่อคน ต่อวัน จากทั้งหมด 27.06 ล้านตัน เกินกว่าครึ่งเป็นขยะอาหาร
.
สาเหตุที่เราทิ้งขว้างอาหารกันเยอะเหลือเกินก็คือการไม่รู้จักจัดการอาหารที่ซื้อมาให้ดี ผัก เนื้อ ไข่ ขนม นม เนย ทั้งหลายที่ซื้อมา บ่อยครั้งเราจะปล่อยให้มันเน่าเสียไปในตู้เย็นทั้งที่บางทียังอยู่ในหีบห่อบรรจุด้วยซ้ำ
.
โปรเจ็กต์ Ovie Smarterware จากชิคาโก จึงถูกออกแบบมาให้เราดูแลติดตามอาหารที่เราซื้อมาได้อย่างใกล้ชิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โอวี่เป็นแทร็กเกอร์ทรงกลมที่เราติดเข้ากับภาชนะบรรจุอาหาร โดยมีไฟแอลอีดีล้อมรอบ ไฟสามารถเปลี่ยนได้สามสีเพื่อบอกสถานะของอาหาร สีเขียวคืออาหารใหม่ที่เพิ่งซื้อเข้ามา สีเหลืองคืออายุของอาหารที่เก็บไว้ได้ผ่านไปครึ่งหนึ่งแล้ว และสีแดงคืออาหารผ่านวันหมดอายุมาแล้วควรนำไปทิ้ง โดยสามารถแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนได้
.
ความเก่งของแก็ดเจ็ตชิ้นนี้คือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องระบุวันหมดอายุของอาหารเอง หากใช้งานควบคู่กับผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะอเล็กซ่า ก็สามารถใช้เสียงสั่งการว่า “อเล็กซ่า นี่คือ …(ประเภทของอาหาร)…” ระบบก็จะคำนวณให้เองว่าอาหารประเภทนี้โดยทั่วไปแล้วสามารถเก็บได้กี่วัน และจะเริ่มต้นการติดตามอายุอาหารให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้จะเลือกป้อนข้อมูลนี้ด้วยตัวเองก็ได้ แถมอาหารไหนที่ใกล้หมดอายุแล้ว แอปพลิเคชันก็จะแนะนำสูตรอาหารด้วยว่าสามารถเอาไปประกอบอาหารเมนูไหนได้บ้าง
.
เมื่อเราจัดการอาหารในตู้เย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็จะไม่ต้องซื้อของเยอะกว่าความจำเป็น ลดทั้งขยะอาหาร ลดทั้งขยะบรรจุภัณฑ์ที่มาพร้อมกับอาหาร และจะช่วยให้เราไม่บริโภคเยอะจนเกินความจำเป็นด้วยนะคะ
.
รับมือกับประจำเดือนแบบไม่พึ่งพลาสติก

.
สถิติระบุว่าในช่วงชีวิตผู้หญิง เราจะทิ้งขยะที่เกี่ยวกับประจำเดือนราว 113-130 กิโลกรัมต่อคน ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัยแบบแผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด พลาสติกห่อผ้าอนามัย หรือแอปพลิเคเตอร์ที่ใช้ช่วยสอดผ้าอนามัย
.
แอปพลิเคเตอร์ หรือแท่งพลาสติกที่ใช้ช่วยให้เราสอดผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น ผู้หญิงส่วนใหญ่ในประเทศไทยอาจจะไม่เคยได้สัมผัสของชิ้นนี้เพราะเรานิยมใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นมากกว่า แต่ก็มีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นประจำ และถนัดการใช้แอปพลิเคเตอร์ช่วยมากกว่าใช้มือสอดเอง แต่แอปพลิเคเตอร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้แล้วทิ้งเพราะสัมผัสกับภายในร่างกาย ต่อให้นำมาล้างทำความสะอาด เราก็คงไม่ค่อยจะแน่ใจว่ามันจะสะอาดพอที่จะใช้ซ้ำหรือเปล่าอยู่ดี
.
โปรเจ็กต์ D เป็นโปรเจ็กต์ที่คิดใหม่ ทำใหม่ ว่าศตวรรษที่ 21 ผู้หญิงสามารถรับมือกับประจำเดือนได้แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ D แอปพลิเคเตอร์ที่ทำความสะอาดตัวเองได้ด้วยเทคโนโลยีต้านจุลชีพ ใช้เสร็จแล้วแค่ทำความสะอาดด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการเช็ด หรือล้างน้ำ ก็สะอาดพร้อมให้ใช้ใหม่คราวหน้าได้ ผู้หญิงก็จะไม่จำเป็นต้องทิ้งแอปพลิเคเตอร์พลาสติกอีกต่อไป
.
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีมาจับแง่มุมต่างๆ ในการใช้ชีวิต และปรับให้เราพึ่งพาพลาสติกน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การช่วยกันลดขยะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้นะคะ
.
แต่เป็นสิ่งที่เรา “ต้องทำ” แบบไม่มีข้อแม้ ต่างหากล่ะค่ะ
.
หมายเหตุ : สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิ้งค์ข้างล่างค่ะ
.
ถุงกระดาษยุคใหม่ที่ไม่บอบบาง : A better paper bag
www.kickstarter.com/projects/1542769036/a-better-paper-bag?ref=discovery&ref=discovery&term=environment

แทร็กเกอร์ลดขยะอาหารทิ้งขว้าง : Ovie Smarterware: The First Connected Food Storage System
www.kickstarter.com/projects/29031083/ovie-smarterware-the-first-connected-food-storage?ref=recommended&ref=discovery

รับมือกับประจำเดือนแบบไม่พึ่งพลาสติก : D. | The first reusable tampon applicator
www.kickstarter.com/projects/517128785/d-the-first-reusable-tampon-applicator?ref=recommended&ref=discovery

 

Reviews

Comment as: