โต๊ะผิดอะไร

By : Dr.Piyapong Sumettikoon


หากเราย้อนกลับไปสู่หลายสิบปีก่อน สถาบันการศึกษาและครอบครัว จะเน้นการสอนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ครอบครัวประกอบไปด้วยสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อยสามชั่วอายุคนอยู่ร่วมกัน เป็นประสบการณ์ตรงของการใช้ชีวิตที่ต้องอาศัยทักษะที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เกิดจนแก่ชราให้แก่กันและกัน ทำให้สมาชิกของครอบครัวมีความเข้าใจทักษะการอยู่ร่วมกันกับคนทุกช่วงวัย บนพื้นฐานของความเอื้ออาทรและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ละคนคอยดูแลไม่เพียงแต่เรื่องสารทุกข์สุกดิบของตนเองและครอบครัว แต่ยังคอยห่วงใยและใส่ใจกับความเป็นมาเป็นไปของผู้อื่นในชุมชนด้วย

หากสมองจะคิด ทำ หรือพูดอะไร สิ่งนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับทั้งตนเองและผู้อื่นเป็นอันขาด สังคมจึงอยู่กันด้วยความสงบสุข ผู้คนเคารพในสิทธิของกันและกัน และมีการแบ่งปันกำลังและน้ำใจให้แก่กันและกัน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และสัมพันธภาพที่ยั่งยืนระหว่างกันและกัน มากกว่าการนึกถึงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

รากเหง้าทางวัฒนธรรมจึงถูกสื่อสารออกมาในรูปแบบประเพณีที่ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันของคนทุกคนในชุมชน เป็นวิถีชุมชนไทยที่มีความสุข ก่อให้เกิดพลังความสามัคคีและเป็นความสนิทสนมกลมเกลียวกันของคนทุกคนในชุมชน ความเสียสละเพื่อส่วนรวมไม่ได้ถูกมองว่าเป็นความยากลำบาก แต่คือหน้าที่และความรับผิดชอบที่ทุกคนมีต่อความอยู่รอดและยั่งยืนของสังคม

แต่เมื่อความเจริญและวัฒนธรรมอื่นๆ ได้แผ่ขยายเข้ามาสู่สังคมไทย การแข่งขันเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากเดิมที่เคยร่วมมือร่วมใจกันแบบเป็นชุมชน ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการให้ความร่วมมือเฉพาะกลุ่ม โดยมีผลประโยชน์ของกลุ่มและสมาชิกในกลุ่มเป็นตัวตั้ง แม้ว่าการรักษาสิทธิของตน โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นยังคงปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เริ่มเลือนหายไปคือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสังคมในภาพรวม

สังคมไทยเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น สถาบันครอบครัวก็เปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่มาเป็นครอบครัวเดี่ยว สายใยแห่งความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวก็เริ่มสั้นลงและจำกัดอยู่แต่เพียงพ่อ แม่ และลูกเท่านั้น ผู้คนที่เคยรู้จักมักคุ้นและไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม ก็แปรเปลี่ยนเป็นแทบจะไม่รู้จักกันเลย ทั้งๆ ที่รั้วบ้านอยู่ติดกัน

สังคมมุ่งพัฒนา กฎ กติกา และมารยาทเพื่อตอบสนองความเป็นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ดังนั้นใครที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มก็จะไม่ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นเฉพาะของกลุ่ม การแบ่งชนชั้นด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมเป็นไปอย่างอิสระ สร้างและขยายช่องว่างทางสังคมไปเรื่อยๆ วัฒนธรรมประเพณีที่ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีของคนหมู่มากก็เริ่มจะลดบทบาทความสำคัญทางสังคมลง เพราะความเสียสละเพื่อส่วนรวมของคนในสังคมลดลง

สังคมในรูปแบบดังกล่าวพัฒนาตนเองไปอย่างรวดเร็ว บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน คนในสังคมมีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น Social Media เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันหลักที่ก่อให้เกิดรูปแบบการปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ ที่ให้พื้นที่ส่วนตัวกับแต่ละบุคคลมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นในสมองของคนยุคนี้จึงมักมีแต่เรื่องของตนเองเป็นหลัก นึกถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเอง คิดเข้าข้างตนเอง และไม่เพียงแต่จะเรียกร้องสิทธิของตนเท่านั้น แต่ยังไปเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนอีกด้วย

การหาข้ออ้างต่างๆ เพื่อผลักความรับผิดชอบไปให้ผู้อื่น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดที่ตนเองได้ก่อไว้ หรือเป็นการอ้างเพื่อลดหย่อนความผิดของตน เกิดขึ้นให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ การชี้นิ้วไปที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น หรือแม้แต่การใช้คำว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อขอความเห็นใจจากสังคม ต่างสะท้อนการผลักความรับผิดชอบทั้งนั้น

สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ ทำให้ผมอดคิดถึงกรณีที่เวลาลูกวิ่งไปชนโต๊ะแล้วหัวโนร้องไห้งอแง ก็จะมีพ่อแม่ประเภทหนึ่งที่จะรีบวิ่งไปปลอบลูกด้วยการตีโต๊ะให้ลูกเห็นพร้อมกับพูดว่า “นี่แน่ะ โต๊ะนิสัยไม่ดี มาทำให้น้องเจ็บได้ยังไง” ผมพอจะเข้าใจถึงความรักความห่วงใย ที่พ่อแม่มีให้กับลูกของตน แต่ผมขอถามหน่อยเถอะว่าโต๊ะผิดอะไร จงอภิปราย

 

Reviews

Comment as: