Thai Solar Car

By : Jakkrit Siririn


เรารู้จัก Elon Musk ในสถานะเจ้าของบริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla และยังเป็นเจ้าของโครงการก่อตั้งปั๊มไฟฟ้า ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนปั๊มน้ำมันแต่ไม่มีน้ำมันให้ปั๊มเข้ารถ มีแต่ไฟฟ้าเตรียมให้ไว้สำหรับชาร์ตแบตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในรูปของเครือข่ายแท่นชาร์ตไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท Solarcity ของ Elon Musk

คำถามมีอยู่ว่า เหตุใด Tesla จึงไม่ติดตั้งแผง Solar Cell ไว้บนตัวถังและหลังคารถยนต์เสียเลย จะได้ไม่ต้องคอยจอดแวะปั๊มไฟฟ้า ระหว่างที่รอคำตอบ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้มีการค้นคิดประดิษฐ์รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Car ภายใต้รหัส STC-1 ย่อมาจาก Siam Technological College เป็นรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์รุ่นที่ 1

STC-1 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 350,000 บาท โดยการออกแบบตัวถังรถและการสร้างระบบขับเคลื่อน นั้น ใช้วิธีศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่นจากต้นแบบรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศด้วยการค้นคว้าข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต

STC-1 มีความกว้าง 1.8 เมตร และมีความยาว 4.5 เมตร ถูกออกแบบให้มีสมรรถนะสูงตามหลักวิศวกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานในการขับเคลื่อนต่ำ และเลือกใช้แผง Solar Cell ประเภท Silicon ผลึกเดี่ยวแบบ หรือ Monocrystallineติดตั้งด้านบนของยานพาหนะ รวมกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งสิ้นจำนวน 1,000 วัตต์ โดยไฟฟ้าที่รับได้จาก Solar Cell จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง และถูกส่งต่อไปยังมอเตอร์ ซึ่งใช้เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน

พลังงานไฟฟ้าบางส่วนที่เหลือจากการใช้ของรถ จะถูกนำไปสะสมที่ชุดแบตเตอรี่ผ่านอุปกรณ์ควบคุมประจุไฟฟ้าแบบ Maximum Power Point Tracking ระบบสะสมพลังงานหรือแบตเตอรี่ที่เลือกใช้ เป็นแบบตะกั่ว-กรด เนื่องจากมีราคาไม่สูงจนเกินไป ง่ายต่อการควบคุม และมีความทนทาน

ตัวถังของ STC-1 ถูกออกแบบให้รับน้ำหนักของอุปกรณ์ทุกชิ้น รวมถึงระบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยใช้โปรแกรม SolidWorks ช่วยในการออกแบบ   STC-1 ได้รับรางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับประเทศ ผ่านการแข่งขัน World Solar Challenge 2015 ที่ประเทศAustralia
โดยการแข่งขัน World Solar Challenge ในปีที่ผ่านมากำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันเดินทางจากเมือง Darwin ไปยังเมือง Adelaide รวมระยะทางทั้งสิ้น 3,000 กิโลเมตรภายในเวลา 50 ชั่วโมง โดยใช้เพียงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน

แม้ว่า STC-1 จะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศหรือติดกลุ่มนำในการแข่งขันครั้งดังกล่าว เพราะวิ่งเกินเวลาที่กำหนด แต่ก็สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ขับเคลื่อน STC-1 แบบ 100% ให้เดินทางเข้าสู่เส้นชัยที่เมือง Adelaide ได้จนเป็นผลสำเร็จ

นับเป็นการเริ่มต้นที่สวยงามของนักศึกษาและคณาจารย์ทุกคน ที่สำคัญก็คือ STC-1 ได้รับความสนใจจากทีมรถแข่งทั่วโลกที่เข้าร่วม เนื่องจาก STC-1 ใช้ต้นทุนที่ถูกมาก

ทราบว่า ปัจจุบัน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ไม่ได้หยุดอยู่ที่รถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 เพราะกำลังพัฒนา STC-2 ให้เป็นนวัตกรรมต้นแบบ หรือรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถใช้ได้จริงบนท้องถนนของประเทศไทยโดยสิ่งที่เรียนรู้มาจาก STC-1 ทำให้มีความมั่นใจว่ารถพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถใช้จริงได้ในเมืองไทยนั้นไม่ไกลเกินฝันแน่นอน

แต่อาจมีการปรับเอาพลังงานไฟฟ้าเข้ามาร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนด้วย เพราะในความเป็นจริง พลังงานแสงอาทิตย์มีความสม่ำเสมอได้ไม่ 100% และเหตุการณ์บนท้องถนนอาจมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะยามที่ไม่มีแสงอาทิตย์ เช่น เมฆมาก ฝนตก หรือเวลากลางคืน รถก็จะไม่สามารถวิ่งได้  ฉะนั้นควรมีการออกแบบระบบแบตเตอรี่ หรือระบบสะสมพลังงานให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และสามารถใช้ได้ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังงานไฟฟ้าทั่วไปได้อีกด้วย

 

Reviews

Comment as: