การจัดการนวัตกรรม: ภารกิจใหม่ของนักบริหาร (ตอนจบ)

By : Jakkrit Siririn


“การศึกษาในศตวรรษที่ 21” คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการศึกษา มีการเผยแพร่ทฤษฎีและองค์ความรู้เกี่ยวกับ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” มาแล้วมากมายอย่างต่อเนื่อง ความแตกต่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดระหว่าง “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” กับ “การศึกษาในศตวรรษที่ 20” ก็คือการเน้นเกี่ยวกับ “ทักษะ” และ “ทักษะ” ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” และทักษะหนึ่งซึ่งมีความสำคัญก็คือ “ทักษะการเรียนรู้” หรือ Learning skill

กล่าวสำหรับนักบริหารการศึกษา ในยุคของ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21”ที่ต้องอาศัย “ทักษะ” หลากหลายด้านในการบริหารจัดการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ “นักบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จะต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” ใหม่ๆ สำหรับนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต่อไป

การจัดการนวัตกรรม

            “นวัตกรรม” หมายถึงการทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ มักมีการแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการประดิษฐ์คิดค้น ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรม อันหมายถึงความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล และการที่องค์กรยุคใหม่จะประสบความสำเร็จได้นั้น องค์กรทั้งหลายจำเป็นที่ต้องมีลักษณะของ “องค์กรนวัตกรรม”

“องค์กรการศึกษา” ก็เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ โดยทั่วไป การที่องค์กรการศึกษาจะประสบความสำเร็จ และอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการมีความคิดสร้างสรรค์ การค้นพบสิ่งใหม่ๆ และการสร้างนวัตกรรม

“การจัดการนวัตกรรม” จึงเป็นการจัดดำเนินการให้เกิดสิ่งใหม่ หรือวิธีการใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในอนาคต โดยคำว่า “นวัตกรรม” นอกจากจะกินความถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแล้ว ในแวดวงการศึกษายังหมายถึงกระบวนการจัดการความรู้อีกด้วย

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ “องค์กรทางการศึกษา” จะต้องมี “การจัดการนวัตกรรม” เพื่อผลักดัน “องค์กรแห่งการศึกษา” ไปสู่การเป็น “องค์กรแห่งการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ที่มี “การจัดการนวัตกรรม” เป็นแกนกลางในการบริหารการศึกษาต่อไปในอนาคต

ภารกิจใหม่ของนักบริหารการศึกษา

ดังที่กล่าวไป ว่า “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงการศึกษา เพราะ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” คือการนำ “นวัตกรรมทางการศึกษา” เข้ามาปรับประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ดังนั้น “องค์กรทางการศึกษา” จึงจำเป็นต้องมี “การจัดการนวัตกรรม” เพื่อนำ ไปสู่การเป็น “องค์กรแห่งการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของ “การบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21”

ดังนั้น ภารกิจดั้งเดิมของนักบริหารการศึกษาทั้ง 4 ด้าน คือภารกิจด้านการบริหารงานวิชาการ ภารกิจด้านการบริหารงบประมาณ ภารกิจด้านการบริหารงานบุคคล และภารกิจด้านการบริหารงานทั่วไป จึงไม่เพียงพอต่อ “การบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้ ทั้งการบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ล้วนมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น โดยเฉพาะในยุคของ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” ภารกิจในแต่ละด้านไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ต่างก็มีการนำ “นวัตกรรม” มาใช้ในการบริหารการศึกษาในแต่ละด้านกันอย่างกว้างขวางและครอบคลุม

ท่ามกลางการกระจายตัวของ “นวัตกรรม” โดยเฉพาะ “นวัตกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จึงมีความจำเป็นที่นักบริหารการศึกษาต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งรวดเร็ว เข้มข้น และรุนแรง

ดังนั้น “ภารกิจใหม่” ของนักบริหารการศึกษาในยุค “นวัตกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จึงต้องเพิ่ม “ภารกิจ” ทางด้าน “การจัดการนวัตกรรม” หรือ “การบริหารนวัตกรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของแวดวงการศึกษา

เพราะในปัจจุบัน การบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ต่างต้องอาศัย “นวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อนนั่นเอง.

 

Reviews

Comment as: