การจัดการนวัตกรรม: ภารกิจใหม่ของนักบริหาร (ตอนแรก)

By : Jakkrit Siririn


ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เรียกกันว่า “ศตวรรษที่ 21” มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในหลากหลายวงการ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในเรื่องของการสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคมที่ดีขึ้นของประชากรโลก

ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ก็ล้วนมีการผลิต “นวัตกรรม” ขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดย “นวัตกรรม” ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาจากวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถูกนำไปต่อยอด ขยายผล และใช้งานในแทบจะทุกวงการ โดยเฉพาะแวดวงการศึกษา

“การศึกษาในศตวรรษที่ 21” คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการศึกษาเช่นกัน โดยมีการเผยแพร่ทฤษฎีและองค์ความรู้เกี่ยวกับ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” มาแล้วมากมายอย่างต่อเนื่อง ความแตกต่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดระหว่าง “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” กับ “การศึกษาในศตวรรษที่ 20” ก็คือการเน้นเกี่ยวกับ “ทักษะ” และ “ทักษะ” ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” และทักษะหนึ่งซึ่งมีความสำคัญก็คือ “ทักษะการเรียนรู้” หรือ Learning skill

นอกจากนี้ ยังมี “ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม” ที่จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของผู้เรียนในการเข้าสู่โลกแห่งการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในยุค “ศตวรรษที่ 21” ซึ่งประกอบด้วย ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม, การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา, การสื่อสารและความร่วมมือ

นอกจากนี้ยังมี “ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี” ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน เหตุผลหลักก็คือ ในยุค “ศตวรรษที่ 21” ได้มีการเกิดขึ้นของช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย

ดังนั้น ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้หลายด้าน อันประกอบไปด้วย ความรู้ด้านสารสนเทศ, ความรู้เกี่ยวกับสื่อและความรู้ด้านเทคโนโลยี

กล่าวสำหรับนักบริหารการศึกษา ในยุคของ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21”ที่ต้องอาศัย “ทักษะ” หลากหลายด้านในการบริหารจัดการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ “นักบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จะต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” ใหม่ๆ สำหรับนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต่อไป

ภารกิจของนักบริหารการศึกษา

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักบริหารการศึกษา ว่าการบริหารการศึกษาในทุกระดับการศึกษา จะมีภารกิจ 4 ด้านซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักของนักบริหารการศึกษา อันได้แก่ ภารกิจด้านการบริหารงานวิชาการ ภารกิจด้านการบริหารงบประมาณ ภารกิจด้านการบริหารงานบุคคล และภารกิจด้านการบริหารงานทั่วไป

โดยภารกิจด้านการบริหารงานวิชาการ ครอบคลุมตั้งแต่งานบริหารหลักสูตรและการสอน งานบริหารการประกันคุณภาพ งานบริหารการวัดและประเมินผล งานบริหารการวิจัย รวมถึงงานบริหารการบริการวิชาการ ขณะที่ภารกิจด้านการบริหารงบประมาณครอบคลุมตั้งแต่งานกำหนดนโยบาย งานเขียนแผนงบประมาณ งานติดตามผลการของบประมาณ งานดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณ งานตรวจสอบ และงานประเมินผลการใช้งบประมาณ

ส่วนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคล เช่น การประเมินและวางแผนอัตรากำลังบุคลากร การแสวงหาบุคลากร การกำหนดขอบข่ายอำนาจหน้าที่ในแต่ละตำแหน่ง งานประเมินผลการปฏิบัติงาน และการวางแผนพัฒนาบุคลากร  ส่วนภารกิจด้านงานบริหารทั่วไป ประกอบด้วยการกำหนดนโยบายและแผนงานโครงการพิเศษ การจัดทำระบบการจัดการความรู้ งานธุรการ และการประชาสัมพันธ์

 

นวัตกรรมการเรียนรู้

“นวัตกรรมการเรียนรู้” เป็นการนำสิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และการจัดการเรียนรู้ ซึ่งในปัจจุบันนวัตกรรมเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า นวัตกรรมกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการระบบเศรษฐกิจ สังคมฐานความรู้

“นวัตกรรมการเรียนรู้” คือการนำพลวัตของเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และสร้างให้เกิดประโยชน์ “นวัตกรรมการเรียนรู้” จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ แต่รวมไปถึงการประยุกต์ และการผนวกเทคโนโลยีที่มีอยู่ ดังนั้น เทคโนโลยีจึงเป็นผู้นิยามถึงความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรม เพิ่มผลิตภาพ และสร้างศักยภาพให้กับบุคลากร

ดังนั้น “นวัตกรรมการเรียนรู้” จึงเป็นแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงนวัตกรรมการเรียนรู้ และรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาการเทคโนโลยีการเรียนรู้นั่นเอง

 

 

Reviews

Comment as: