Hiphop กับวัฒนธรรม “ของก๊อบ” กับคำถามว่า “อะไรคือของจริง อะไรคือของปลอมกันแน่??”

By : Pantavit Lawaroungchok


เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปในปี 1980 เป็นยุคสมัยที่แบรนด์ Hi-end Fashion ระดับตำนานอย่าง Louis Vuitton Gucci Fendi หรือแม้กระทั่ง Chanel กำลังเบ่งบานไปทั่วโลก เสื้อผ้าที่ห้องเสื้อเหล่านี้ออกแบบและผลิตออกมานั้นล้วนแต่เป็นแฟชั่นของคนชนชั้นสูง โอต์ กูตูร์ ชุดเดรส ชุดราตรี สูทร่วมสมัย เป็นชุดที่ใช้สำหรับออกงานหรือเข้าสังคมที่ดูหรูหรา ฟู่ฟ่า เป็นยุคสมัยแห่งการสังสรรค์ปาร์ตี้ไปพร้อมๆ กับจุดพีคของวัฒนธรรมดนตรีอย่าง Funk และ Disco… โดยในยุคนั้นสินค้าที่แบรนด์ห้องเสื้อเหล่านี้จะไม่ผลิตออกมาเลย คือเสื้อผ้า Street (ในสมัยนั้นยังไม่มีการบัญญัติคำว่า Street Fashion ด้วยซ้ำ) ที่ใช้สำหรับดำเนินชีวิตของคนทั่วๆ ไปและถูกมองว่าเป็นเสื้อผ้าของตลาดล่างไม่เหมาะสมกับแบรนด์
.
ในอีกฟากหนึ่งของมหานครนิวยอร์ค กลุ่มคนผิวสีได้ก่อกำเนิดวัฒนธรรมดนตรีที่เรียกว่า Hip hop และหนึ่งใน Element ที่สำคัญของชาว Hip hop คือ แฟชั่นที่นำเอาเสื้อผ้าเก่าๆ ที่ได้รับบริจาคมาใส่ มิกซ์แอนด์แมทซ์ โดยส่วนใหญ่เสื้อผ้าเหล่านั้นมักจะเป็นเสื้อผ้ากีฬา แจ็คเก็ต หรือชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันง่ายๆ ซึ่งในกาลต่อมาก็พัฒนามาเป็น “สตรีทแฟชั่น” อย่างในปัจจุบัน… ไม่แปลกที่ผู้มีรายได้น้อยทั้งหลายในยุคนั้น ต่างใฝ่ฝันที่อยากจะครอบครองสินค้าแบรนด์เนมระดับตำนานที่กล่าวมาข้างต้น แต่ไม่มีโอกาส บ้างก็หามาโดยวิธีที่ผิดกฏหมาย ไปเป็นโจร ปล้น ชิงทรัพย์ ค้ายา เกิดเป็นปัญหาในระดับชาติ… ความเหลื่อมล้ำของชนชั้นนั้นถูกแสดงออกมาในรูปของวัตถุสินค้าแฟชั่น เป็นความฝันของชนชาวอเมริกันที่ต้องไขว่ขว้ามาสวมใส่ให้ได้ในชีวิตก่อนตาย หรือที่เรียกว่า “American Dream”
.
Dapper Dan เจ้าพ่อแฟชั่นฮิปฮอป ที่อยู่อาศัยในย่านคนผิวสีอย่าง “ฮาเร็ม” ได้เล็งเห็นถึงความเหลื่อมล้ำของชนชั้นที่เกิดขึ้นนี้ แล้วได้ออกแบบสินค้าที่นำเอาชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ ของบิ๊กเบรนด์เนม Louis Vuitton Fendi Gucci อย่างโลโก้ลายโมโนแกรม หรือแม้กระทั่งเศษผ้าของพวกเสื้อมือสองที่เป็นของแท้แต่สภาพที่เสียหายแล้วจากกองขยะ นำมาแยกชิ้นส่วนแล้วนำมาชุบชีวิตออกแบบใหม่ให้เป็นชุดเครื่องแต่งกายในรูปแบบที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เดินดินบนถนนคนธรรมดามนุษย์ปุถุชน ราคาถูกและที่สำคัญทุกๆ คนสามารถจับต้องได้ อย่างไอเท็ม หมวก เสื้อแจ๊คเก็ต กางเกงวอร์ม ซึ่งพัฒนาเป็นแฟชั่นสตรีทในเวลาต่อมา… ตามถ้อยคำกล่าวจากปากของเขา “ผมไม่ได้ทำอะไรมากเลยนะ ผมแค่ต้องการทำเสื้อผ้าที่รับใช้ชุมชนคนผิวสีที่เค้าอาศัยอยู่เท่านั้นเอง”
.
เสื้อผ้าของเขาแทนที่จะโดนดูถูกและมองว่าเป็น “ของปลอม” หรือ “ของก๊อบปี้” แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากแก๊งค์ผู้มีอิทธิพลทางสังคม เซเลบริตี้ กลุ่มนักกีฬา ดาราและนักร้องฮิบฮอปที่มีชื่อเสียงหลายคนในยุคนั้น จนทำให้มีพ่อค้าหัวใสมากมายที่พยายามก๊อบปี้สินค้าของ Dapper Dan ตามไปขายหน้างาน เวลามีทัวร์และการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินผิวสีฮิปฮอป หรือเราเรียกสินค้าแบบนี้ว่า “Bootleg”… เมื่อทุกอย่างเอื้อมถึงได้ ก็ยิ่งทำให้แพร่กระจายไปสู่ผู้คนหลากหลายชนชั้นมากขึ้น… ยิ่งทวีความคลั่งไคล้แฟชั่นในแบบฉบับของแดปเปอร์ แดน…
.
นี่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดการเริ่มต้นของวัฒนธรรมที่สำคัญมากในยุคสมัยใหม่อย่าง “Bootleg”
.
อย่างไรก็ตามด้วยความนิยมที่ถึงจุดพีค แดปเปอร์ แดน ก็ถูกแจ้งจับและถูกสั่งปิดร้านในปี 1992 ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เป็นการสิ้นสุดการทำงานของเขาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา… ดูเหมือนเรื่องจะจบลงแค่นี้ แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น มิฉะนั้นเรื่องราวนี้จะเป็นตำนานได้อย่างไร??… ในปีนี้ 2018 กับการเปิดคอลเล็คชั่น Gucci Cruise Fashion Show 2018 ในรันเวย์นั้น Alessandro Michele ครีเอทีฟไดเรคเตอร์แห่งกุชชี่ได้นำเสนอลุคที่ 33 ด้วยชุดแจ็คเก็ตแขนพองลายโมโนแกรมกุชชี่ที่เหมือน “ก๊อบปี้” มาจากชุดของ แดปเปอร์ แดน ในปี 1989 อีกที… มีความคล้ายกันมากเพียงแต่ในยุคก่อนนั้นทำมาจากการถอดชิ้นส่วนของกระเป๋า Louis Vitton ที่ไม่ใช้แล้ว… ดราม่ากระแสโจมตีแบรนด์กุชชี่อย่างหนักหน่วงถือเป็น ”การก๊อบปี้ในก๊อบปี้ของตัวเองอีกที” (ฟังแล้ว งงมั้ยฮะ) โดยไม่ให้เครดิต… แต่กุชชี่ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้เซ็นสัญญาให้ แดปเปอร์ แดน มาเป็นนายแบบนำเสนอคอลเล็คชั่นนี้และเป็น Creative Director เฉพาะกิจในการออกแบบคอลเล็คชั่นสุดพิเศษที่นำเอาความ Original ในแบบฉบับของ Dapper dan กลับมาอีกครั้งในรอบ 28 ปีต่อมา กับ Brand ที่เคยแจ้งจับเค้าในอดีต ในชื่อ Collection ‘Gucci Dan”
.
มันสะท้อนอะไรหลายอย่างกับเรื่องนี้ ทั้งเรื่องของการเอาชนะความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นผ่านรูปแบบสินค้าแฟชั่น ไปจนถึงการตั้งคำถามกับประเด็น “ของจริง” vs “ของปลอม”… ซึ่งขนาด Brand ในตำนานหลายๆ แบรนด์ ยังต้องกลับไปศึกษาสินค้าที่เคยมีคนลักลอบ Bootleg ก๊อบปี้ของตัวเองไว้แล้วในอดีต แล้วนำกลับมาออกแบบใหม่ วางขายเป็น “ของแท้” ใน Official อย่างในปัจจุบัน… เรื่องของปลอมหรือการก๊อบปี้ ยังเติบโตมากในประเทศที่เป็นฐานการผลิตด้วยตัวเอง แรงงานถูก และในอดีตจะทำสินค้าประเภท OEM (Original Equipment Manufacturer) ส่งให้กับสินค้าแบรนด์ดังใหญ่ๆ โดยเฉพาะในแถบเอเซีย อย่างประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้… จากเดิมที่เพียงก๊อบปี้สินค้าเหมือนๆ ต้นฉบับออกขายไปสู่การสร้างรายได้ที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและยังสร้างแบรด์ใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์ที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลกโดยมีรากฐานมาจากการอุตสาหกรรมก๊อบปี้ ซึ่งทาง “Highsnobiety” Blogger แฟชั่นชื่อดังของโลกได้ใช้คำเรียกว่า “Counterfeit Culture”
.
เราขอยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลก และยังเป็นอันดับ 5 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลก ซึ่งรายได้มาจากภาคอุตสาหกรรม, เทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งเราจะเห็นได้จากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์เกาหลีมีอยู่มากมายรอบตัวเรา อีกทั้งจะมีโรงงานที่เป็นฐานผลิตสินค้าต่างๆป้อนเข้าสู่แบรนด์ใหญ่ๆของโลกมากมาย อย่างบางชิ้นส่วนของโทรศัพท์ iPhone ก็ถูกผลิตโดยโรงงานในประเทศเกาหลี เป็นต้น… ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศเกาหลีจึงถูกขับเคลื่อนด้วยสินค้าของปลอมมากมาย มีทั้งตลาดของปลอมย่านอีแทวอนและทงแดมุน หรือ Shop แบรนด์ก๊อบปี้อย่าง Supreme ก็เป็นแบรนด์สตรีทแฟชั่นที่มีช้อปขายสินค้าปลอมโจ่งครึ่มอยู่มากมายในตลาดอย่างชัดเจน…
.
ประกอบกับอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีก็เติบโตส่งแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก ดารา นักแสดงที่มีชื่อเสียงต่างเป็นต้นทาง Trend Setter เรื่องไลฟ์สไตล์และแฟชั่นการแต่งตัวให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่มีกำลังจับจ่ายสินค้า “ของแท้” ที่มีราคาแพง แต่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ปะทุและครุกรุ่นอยู่ภายใน เตรียมพร้อมที่จะระเบิดแสดงออกมาผ่านแฟชั่นและการแต่งตัว ตามแบบอย่างไอดอลและศิลปินที่เค้าชื่นชอบ… “ของก๊อบ” จึงเป็นช่องทางที่เข้าไปรับใช้วัยรุ่นเกาหลีในความต้องการนี้… เมื่อราคาไม่แพง ในขณะที่คุณภาพสินค้าอาจจะไม่เท่าของจริง แต่สำหรับแฟชั่นแล้วมันก็ยอมรับได้ พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนเกาหลีกล้าที่จะแต่งตัว กล้าที่จะ Mix&Match ลุคของตัวเองในทุกๆวัน… วงการแฟชั่นเกาหลีจึงคึกคักและพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก… จนทำให้ “โซล” เป็นเมืองที่ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในเมืองที่มีอิทธิพลต่อโลกแห่งแฟชั่น ไล่บี้กับมหานครนิวยอร์ค ปารีส หรือมิลาน ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าหลายสิบปี… ก่อนที่จะพัฒนาเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้ก๊อบปี้แล้วแถมยังสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว สัญชาติเกาหลีแท้ๆ และก้าวเข้ามาเป็นผู้นำแถวหน้าในวงการแฟชั่นระดับโลกเกิดขึ้นอย่างมากมายอย่าง 99 Percent is หรืออย่าง Peaceminusone ของศิลปิน G-Dragon รวมไปถึงอีกหลากหลายแบรนด์
.
วัฒนธรรมดนตรีอย่าง Hiphop ที่ส่งผลต่อแฟชั่น พัฒนามาเป็นรูปแบบ Lifestyle ที่ผนวกเอาศิลปะเข้ากับการใช้ชีวิต สู่การต่อสู้ทางชนชั้นผ่านการแสดงออกทางความคิดในรูปของดนตรีและสินค้าแฟชั่นต่างๆ กับการเกิดขึ้น “ของก๊อบปี้” ที่กลายเป็นสะพานที่เชื่อมโยงปัญหาความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในสังคม แก้ปัญหาหลายๆอย่าง เกิดรูปแบบความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในขณะเดียวกันมันก็สร้างปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในระดับชาติมากมาย ปัจจุบันมันอยู่ใกล้ตัวเราจนยากที่จะแยกแยะได้… เรื่องทุกเรื่องมีหลายมิติ จะของแท้ หรือ ของปลอม แบบไหนที่เรียกว่า “ถูก” หรือ “ผิด”… คงไม่อาจจะตัดสินได้ แต่กรณีศึกษาทั้งสองเรื่อง ทั้งเรื่องของ Dapper Dan และ Counterfeit Culture มันก็ทำให้เราได้มองเห็นว่าโลกใบนี้มันไม่ได้มีแต่สีขาวและสีดำเท่านั้น เพราะเราก็ยังอยู่บนโลกใบเทาๆ
.
ที่มา
- “เมื่อ Gucci พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” http://www.gqthailand.com/style/article/gucci-dapper-dan
- “Counterfeit Culture” Counterfeit Culture | Seoul: A Look Inside Korea’s Fake Fashion World https://youtu.be/BALbGfjjsbc
- “Gucci x Dapper Dan จาก Bootlegger สู่ Collaborator” http://www.ellementhailand.com/fashion/dapperdanxgucci/
- “เปิดรับวัฒนธรรมฮิปฮอปยุค 80s ไปกับ GUCCI DAPPER DAN : THE COLLECTION” https://www.lofficiel.co.th/fashion/gucci-dapper-dan-the-collection
- “Bootleg งานปลอม ทำเหมือน? หรือเป็นพวกเราที่ตีค่ากันไปเอง” https://www.unlockmen.com/bootleg/

หมายเหตุ : ภาพนี้จัดทำเพื่อใช้ประกอบบทความเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ ห้ามนำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

Reviews

Comment as: