โฆษณาชวนเชื่อ

By : Prasit Wittayasamrit


โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ปัจจุบันนี้ใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของสื่อได้ ฟังก์ชัน Live บน Facebook กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศเรา มีการถ่ายทอดตั้งแต่การแต่งหน้าออกจากบ้าน ร้องไห้เพราะถูกแฟนทิ้ง ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย สื่อเหล่านี้กำลังอยู่เหนือการควบคุม ในเมื่อใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของ content ได้ โลกของเราจะเป็นอย่างไรต่อไป?

Salmon Book สำนักพิมพ์ที่ออกหนังสือเจาะตลาดวัยรุ่น กำลังปรับชื่อตัวเองโดยเหลือคำว่า Salmon อย่างเดียวเพื่อออกจากกรอบการจำกัดตัวเองว่าเป็นแค่สำนักพิมพ์ และนิยามตัวเองเสียใหม่ในฐานะผู้ผลิต content ที่หลากหลายมากขึ้น

แบงค์ ณัฐชนน มหาอิทธิดล บรรณาธิการบริหารของ Salmon กล่าวว่าปัจจุบันนี้ใครๆ ก็เป็นเจ้าของ content ได้ พยาบาลรักษาสัตว์ เด็กวิศวะไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแม้แต่เด็กมัธยมต้น ก็สามารถเป็นเจ้าของ Facebook Page ที่มียอดติดตามหลักหมื่นได้ Content ที่ว่านี้ เกิดจากการเล่าเรื่องราวในมุมของตนเอง ที่คนอื่นไม่รู้ หรือไม่เคยมองในมุมนั้นมาก่อน เป็นการเอาความคิดของตน ถ่ายทอดออกมาให้ดูสนุก และน่าติดตาม นำเสนอมุมมองต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำวัน ข่าวดังๆ หรือแม้แต่เรื่องราวในชีวิตประจำวันถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสื่อที่หลากหลาย เช่น Twitter ด้วยเนื้อหาที่ยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร บทความใน Blog หรือ Video อย่าง Vine ที่มีความยาวแค่ 7 วินาที ก็สามารถทำให้คนตามดูได้เป็นหลักแสน

ในเมื่อใครๆ ก็เป็นเจ้าของ content และสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิดออกไปได้ การทำให้คนที่ตามเรา “เชื่อ” ในสิ่งที่เราพูด และการมีอิทธิพลต่อความคิดของคนอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน  ดังนั้นการ “ชวนเชื่อ” จึงไม่จำกัดอยู่แค่สื่อหลักๆ หนังสือพิมพ์ สำนักข่าวใหญ่ๆ อย่างเมื่อก่อน แต่เป็นใครก็ตามที่สามารถสร้างให้เกิดความ “น่าเชื่อ” ขึ้นมา เช่น การอ้างหลักฐานทางการแพทย์ ว่าวิตามินตัวนี้ดีจริง หรือภาพที่ถ่ายตัวเองที่ดูขาวใส ก็ทำให้เชื่อว่าทานอาหารเสริมแล้วผิวสว่างใสได้จริง

“โฆษณาชวนเชื่อ” ในยุคนี้ จึงน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะเป็นการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เนื้อหา สนับสนุนให้คนซื้อสินค้า บริการต่างๆ ยิ่งนับวันยิ่งง่ายขึ้นเรื่อยๆ และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่พร้อมจะเชื่อก็ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ในยุค Big data ที่ความเป็นส่วนตัวกำลังจะหมดไป เพราะพฤติกรรมในการใช้ social media ของเราทั้งหมด ถูกวิเคราะห์ และแบ่งเป็นกลุ่มได้ง่ายๆ เช่น ร้านขายอุปกรณ์ทำขนมที่เพิ่งเปิดใหม่ สามารถเจาะจงกลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเปิดดู content เกี่ยวกับการทำขนม ดู video หรือกด Like เพจทำขนมในช่วง 15 วันที่ผ่านมา ทำงานอะไร ชอบทำขนมช่วงไหนของวัน หรือกำลังคิดเปิดร้าน bakery ในอนาคตอยู่หรือเปล่า? เจาะจงได้ถึงลูกค้าในพื้นที่ ที่อาศัยอยู่ในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากตำแหน่งร้านเลยทีเดียว

แล้วเราจะเลือกเชื่อ หรือไม่เชื่ออะไรดี? เดี๋ยวนี้การเชื่อถืออะไรจากแหล่งเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลที่ออกมาจากแต่ละแหล่งล้วนมี agenda แอบแฝงอยู่ด้วย การสื่อสาร online ในยุคนี้ ถูกวางแผนกลยุทธการสื่อสารที่เป็นขั้นเป็นตอน ลำดับเหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อให้คนคิด และเชื่อตามแผนที่วางไว้ ดังนั้นเราอาจจะต้องคิดมากกว่า 2 ถึง 3 ชั้นในการวิเคราะห์ ว่าเราควรจะเชื่อ และรับ content ที่แตกต่างอย่างไรดี? และบางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาในการรอเพื่อที่จะรู้ว่า viral video ที่เพิ่งปล่อยเมื่อวาน จริงๆ แล้วต้องการขาย หรือสื่อสารอะไรกันแน่?

โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนแย่งพื้นที่ที่จะบอกเล่าเรื่องของตัวเอง ดังนั้นผู้บริโภคทั้งหลายอย่าเพิ่งปล่อยใจเชื่อเนื้อหาที่ได้อ่านอย่างหมดใจ อาจจะต้องเสียเวลาในการหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเห็นแง่มุมด้านอื่นๆ ของมัน และอาจจะต้องรอเวลาเฉลยว่า content เหล่านั้นที่แท้จริง กำลังจะบอกอะไรเรากันแน่ ไม่อย่างนั้นเราก็จะหลงติดกับ “โฆษณาชวนเชื่อ” อยู่เรื่อยไป

 

Reviews

Comment as: