รักนั้นเป็นฉันใด?

By : Anusorn Tipayanon


“ความรักที่ไม่รู้จักวิธีรักมีแต่จะทำให้ผู้ที่ถูกรักเจ็บปวด”

การพยายามนิยามสิ่งที่เรียกว่า”ความรัก”เป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำติดต่อกันมาอย่างเนิ่นนาน บ้างก็กระทำผ่านความคิดทางปรัชญา บ้างก็กระทำผ่านกระบวนการทางจิตวิทยา และมีก้าวล่วงไปถึงการกระทำผ่านสมการคณิตศาสตร์ด้วยซ้ำไป กระนั้นก็ดูเหมือนความกระจ่างในความรักยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์เพียรค้นหาต่อไป

ติช นัท ฮันท์ พระภิกษุชาวเวียดนามที่มีชื่อเสียงในด้านของการอบรมการภาวนาและการแสวงหาสันติภาพภายในตน ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า “จะรักกันอย่างไร-How To Love” อันเป็นหนังสือที่บอกถึงถ้อยความการเรียนรู้ความรักในฐานะประสบการณ์สำคัญของชีวิต

ประเด็นสำคัญของความรักในแง่มุมของ ท่าน นัท ฮันท์ คือการเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าความเข้าใจ “ความรักและความเข้าใจคือสิ่งเดียวกันแต่มีชื่อเรียกขานต่างกัน” ทว่าความเข้าใจในที่นี้ไม่ใช่ความเข้าใจในความต้องการของคู่รักอีกฝ่ายแต่เป็นความเข้าใจในความทุกข์และความเจ็บปวดของอีกฝ่ายแทน โดยท่าน นัท ฮันน์ ได้เปรียบเทียบความเข้าใจที่ว่านี้ด้วยการอุปมาว่า “หากเราเติมเกลือสักหนึ่งกำมือลงในน้ำบริสุทธิ์ น้ำบริสุทธิ์ที่ว่านั้นจะเค็มจนเราดื่มไม่ได้ แต่หากเราโยนเกลือกำมือนั้นลงไปในแม่น้ำ

ผู้คนทั่วไปยังสามารถใช้น้ำนั้นหุงหาอาหาร ชำระร่างกายหรือแม้แต่ดื่มกิน แม่น้ำนั้นมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพที่จะแบกรับ โอบกอดหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆที่ผสมรวมกับมัน ถ้าหัวใจของเรามีขนาดเล็ก มันก็จะสร้างความเข้าใจหรือมีความกรุณาได้เพียงเล็กน้อย เราไม่อาจยอมรับหรืออดทนต่อสิ่งต่างๆ ได้เพียงจำกัดและเราจะเริ่มเรียกร้องต่อสิ่งต่างๆให้ทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อเรา แต่เมื่อหัวใจของเราขยายตัวขึ้น กว้างขวางขึ้น เราก็จะรับความทุกข์ทรมาณได้มากขึ้นและเราจะไม่เจ็บปวดง่ายเช่นเดิม ไม่ทุกข์เช่นเดิม เราจะเปี่ยมด้วยความเข้าใจและความกรุณาและเราจะโอบกอดผู้อื่นได้อย่างท่วมท้น เราจะยอมรับผู้อื่นในสิ่งที่เขาเป็นและนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเขาจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง”

ดังนั้นคำถามคือ”เราจะขยายขนาดของหัวใจของเราได้อย่างไร? เราจะเเผ่ปริมณฑลหัวใจของเราได้อย่างไร?”

คำตอบของท่าน นัท ฮันท์ คือการมีความสุข “ยิ่งเราสร้างจิตใจของตนเองให้สงบและเป็นสุขได้มากเพียงใด เราก็จะสามารถพัฒนาคุณสมบัติที่จะรักได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่นคือการให้ที่ทรงพลังมากและการเข้าใจที่ว่านั้นคือความรักในตัวของมันเองเลยทีเดียว ถ้าเราไม่เข้าใจความทุกข์ของผู้อื่น การมีความรักก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นทีเดียว”

ด้วยเหตุนี้เอง ความรักจึงเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอผ่านทางความเข้าใจผู้อื่น สิ่งที่เป็นปัญหาของความรักส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่นน้อยเต็มทีและหลายคนเติบโตมาในครอบครัวที่ผู้เป็นบิดา มารดา ก็หาได้พยายามทำความเข้าใจกันไม่ และนั่นทำให้ผู้เป็นลูกไม่อาจมีบทเรียนเรื่องความรักและความเข้าใจได้แต่เยาว์วัย “ถ้าพ่อแม่ของเราไม่เข้าใจกัน ไม่เรียนรู้ที่จะรักกัน พวกเราจะได้บทเรียนที่ว่านั้นจากที่ใด พ่อแม่อาจทิ้งทรัพย์สมบัติ เงินทอง บ้านหรือที่ดินไว้ให้เรา แต่หากพวกเขาไม่ใช่คนที่มีความสุข พวกเราก็ยากที่จะรู้จักความสุขได้ ใครก็ตามที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีความสุข เขาผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าได้รับมรดกอันล้ำค่าแล้ว”

 

Reviews

Comment as: