จินตนาการแห่งนิเวศวิทยา

By : Anusorn Tipayanon


ทะเลเบื้องนอกสงบนิ่งแต่ก็จมอยู่ในความมืดมิด ในวัยเด็กผมชอบออกไปเดินตามชายหาดในยามค่ำ เท้าเตะทรายไปเรื่อย เฝ้าดูปูลมวิ่งแตกตื่นที่มีมนุษย์ผู้ยังไม่หลับไม่นอนมารบกวนดินแดนของมัน ท้องทะเลยามค่ำคืนมีมนต์ขลังอย่างยิ่ง มันปราศจากสีฟ้าในแบบที่เราเจนตาแต่กลับโอบอุ้มสีดำขลับไว้อย่างเต็มใจ ผมชอบยืนมองทะเลสีดำขลับที่ว่านั้นทีละนานๆ จินตนการว่าในความมืดดำนั้นมีอะไรที่ชวนให้ตื่นเต้นบ้าง ฉลามดุร้ายที่เฝ้ารอเหยื่อของมันตามแนวชายฝั่งหรือสัตว์โบราณในอดีตนับพันๆ ปีที่จะแอบโผล่ตัวขึ้นมาหายใจยามที่มันคิดว่ามันปลอดภัย ความคิดคำนึงแบบที่ว่านี้ให้ความสุขกับผมอย่างยิ่ง เป็นความสุขที่ผมเรียกมันว่า “จินตนาการแห่งนิเวศวิทยา”
.
แต่วันนี้ผมไม่ไปที่นั่น ไม่ไปที่ชายหาด ไม่เฝ้ามองไปที่ท้องทะเลมืดมิด ผมโตขึ้นมากแล้ว แก่ชราลงเกินกว่าจะสร้างจินตนาการแปลกใหม่อะไรออกมา ผมรู้ดีแล้วว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในความมืดมิดใต้ท้องทะเลยามนี้ สิ่งที่ดำรงอยู่ในความมืดมิดนั้นมีเพียงสิ่งเดียว สิ่งนั้นคือ “ขยะพลาสติก”
.
ภาพถ่ายในปีนี้จากนิตยสาร National Geographic อันเป็นนิตยสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เผยให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์จำนวนมากระหว่างสัตว์กับสิ่งที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันที่เรียกว่า “พลาสติก” ภาพของลิงในเนปาลที่กำลังพินิจพิเคราะห์บรรจุภัณฑ์พลาสติก ภาพของม้าน้ำที่เกาะก้านสำลีพลาสติกเพื่อเคลื่อนที่แทนสาหร่ายในอินโดนีเซีย ภาพของคนเก็บขยะในอินเดีย และภาพอื่นๆ อีกมากมาย ทุกภาพในนิตยสารแสดงถึงปัญหาอันวิกฤตของพลาสติกที่กำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกและของระบบนิเวศวิทยาในโลกไปอย่างสิ้นเชิง
.
ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของพลาสติกสมัยใหม่นั้นกำหนดไว้ในปี 1907 ชายชาวอเมริกันเชื้อสายเบลเยี่ยมนาม ลีโอ เฮนดริค เบเคแลนด์ (Leo Hendrik Baekeland) ได้ผลิตวัสดุที่มีชื่อว่าเบเคไลท์ (Bakelite) ซึ่งทำมาจากฟีนอล (phenol) และ ฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde) เบเคไลท์นั้นถูกใช้ทำกระดุมหรือตัวโครงของโทรศัพท์บ้านในยุคนั้น และหลังจากนั้นพัฒนาการของพลาสติกก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันที่เราแทบจะสัมผัสมันในทุกนาที นับแต่ถ้วยน้ำ หลอด เก้าอี้ เตียงนอน หมอน และอีกสารพัดสิ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของพลาสติกก็คือมันเป็นวัสดุที่ทำลายได้ยากและเสื่อมสลายได้ช้าอย่างยิ่ง การเผาพลาสติกจะก่อให้เกิดผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ที่สูดดมเข้าไป อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลภาวะต่ออากาศโดยรอบอีกด้วย ส่วนการฝังพลาสติกก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อดินและระบบน้ำรอบๆ พลาสติกกลายเป็นสิ่งที่เราทั้งชอบและชังในเวลาเดียวกัน มนุษย์รู้ถึงภัยของพลาสติก แต่กระนั้นมนุษย์ก็ต้องยอมรับว่าพลาสติกสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างสูงเช่นกัน
.
ปัญหาใหญ่ของพลาสติกที่มีผลต่อชายหาดและท้องทะเลพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นเมื่อพลาสติกที่ถูกทิ้งลงท้องทะเลได้ถูกย่อยโดยสัตว์ทะเลบางชนิด ผนวกรวมเข้ากับคลื่นและแสงแดด พลาสติกที่ถูกย่อยนั้นมีชื่อเรียกขานว่า ไมโครพลาสติก (Micro Plastic) และมีขนาดเพียงห้ามิลลิเมตรหรือเล็กกว่านั้น ไมโครพลาสติกเมื่อถูกย่อยสลาย แพลงก์ตอนจะกินไมโครพลาสติกเหล่านี้เป็นอาหารและปลาที่กินแพลงก์ตอนก็จะรับไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปในตัวอีกทางหนึ่งด้วย มนุษย์ผู้บริโภคปลาเป็นลำดับต่อไปย่อมต้องรับไมโครพลาสติกเข้าไปในตัวอย่างไม่ต้องสงสัย กระนั้นแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าไมโครพลาสติกส่งผลต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง แต่มันก็สร้างความน่าหวาดหวั่นให้กับเราอยู่ดีว่าในที่สุดแล้ว ปัญหาเรื่องพลาสติกไม่ใช่เพียงการขจัดทำลายมัน แต่ยังก้าวไปถึงทำอย่างไรเราจะปลอดจากการบริโภคมันอีกด้วย
.
การมองหาไมโครพลาสติกในยามค่ำไม่ใช่เรื่องยากเย็น คุณเดินลงไปที่หาด หยิบเอาทรายขึ้นมาหนึ่งกำมือ ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่แฝงตัวอยู่กับความระยิบระยับของทรายและมีลักษณะแปลกปลอม นั่นแหละคือไมโครพลาสติก ทะเลที่เคยมีมนต์ขลังสำหรับเราหลายคนในอดีต ปัจจุบันกำลังถูกทำให้แปรเปลี่ยนไปด้วยชิ้นส่วนเล็กๆ นี้เอง สิ่งที่สำคัญกว่าการเดินเล่นในชายหาดยามค่ำคือจะทำอย่างไรดีให้ชายหาดเหล่านี้กลับมาบริสุทธิ์ดังเดิม?
เหล่านี้กลับมาบริสุทธิ์ดังเดิม?

 

Reviews

Comment as: