ท่องเที่ยว ห้องเรียนของภาคปฏิบัติ

By : Anon Pairot


วิกิพีเดีย อธิบายคำว่า “การท่องเที่ยว” ไว้สั้นๆ ว่า หมายถึง “การเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจหรือเพื่อความสนุกสนานตื่นเต้นหรือเพื่อหาความรู้”
.
องค์กรการท่องเที่ยวของสหประชาชาติ (อังกฤษ: World Tourism Organization) กำหนดไว้ว่า “การท่องเที่ยวหมายถึงการเดินทาง โดยระยะทางมากกว่า 40 กิโลเมตรจากบ้าน เพื่อจุดประสงค์ในการพักผ่อนหย่อนใจ” (ผมอ่านล่ะก็คิดในใจว่า การไปเที่ยวบ้านเพื่อนใกล้ๆ ห้องเพื่อนข้างๆ นี่เรียกว่า ไปเที่ยวไม่ได้ใช่ไหมน่ะ?)
.
แล้วคุณล่ะ จะกำหนดความหมายของการท่องเที่ยวไว้อย่างไรดี?
.
สำหรับ อานนท์แล้ว การท่องเที่ยว คือ “ห้องเรียนของภาคปฏิบัติ”
ผมนี่แปลกใจเหลือเกิน ว่าทำไมโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาไม่ค่อยมีวิชา”การท่องเที่ยว”เสียเท่าไหร่เลย?
.
ผมนี่คิดฝันมาตั้งแต่เด็กเลยว่า “ถ้าที่โรงเรียนในทุกๆ สัปดาห์มีการสอนวิชาท่องเที่ยวอย่างได้สาระเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ผมคงจะเข้าใจอะไรหลายอย่างที่เรียนในห้องเรียนได้เร็วขึ้นแบบก้าวกระโดด!”
.
หลายคนอ่านถึงตรงนี้แล้ว อาจจะเถียงอานนท์ว่า “เป็นความคิดที่ไร้สาระจริงๆ” แต่สำหรับตัวผมเองนั้น กลับคิดว่าการมีเวลาให้กับตัวเองไป “ท่องเที่ยวแบบที่มีสาระ” การท่องเที่ยวนั้นก็คือห้องเรียนภาคปฏิบัติอย่างดี และอาจจะดีที่สุดด้วยซ้ำไป
.
ถ้าจะพูดแบบโคตรซีเรียส ผมอยากจะบอกว่า ที่เราเดินทางผ่านยุคสมัยต่างๆ จนนำพามนุษย์ตั้งแต่ยุคที่เรายังเป็นลิง จนมาถึงความเป็นมนุษย์ร่วมสมัยในปัจจุบันได้ในวันนี้ก็เพราะ “มนุษย์ได้เรียนรู้ชีวิตจากการท่องเที่ยวนี่แหละ?”
.
นักโบราณคดีบางคนถึงกับสันนิษฐานเลยว่า เจ้ากลุ่มลิงรุ่นแรก ที่คิดออกจะเดินทางไปหาอาหารต่างถิ่น ไปดูลาดเลา ไกลบ้านไกลถ้ำ มันคือ innovation lifestyle ของการได้เริ่มเป็นมนุษย์…
.
ก็เพราะไอ้ความอยากรู้อยากเห็นนี่แหละครับ มันเป็นแรงขับให้กับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ออกเดินทางเพื่อไปหาทางออกใหม่ๆ ในการมีชีวิตให้รอด และต้องลองผิดลองถูกในการปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ กินอะไรใหม่ๆ เห็นอะไรใหม่ๆ รับมือกับปัญหาใหม่ๆ และเราก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเราในทุกวันนี้ไงครับ
.
จะว่าไปแล้ว ไอ้ดีเอ็นเอของการอยากรู้อยากเห็นนี่แหละ ที่น่าจะฝังรากลึกต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษ จนทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จัก “การเอาตัวรอด” ของในแต่ละยุคสมัย ส่วนใหญ่นี่ก็น่าจะได้มาจาก “การท่องเที่ยว” เนี่ยแหละ
.
การท่องเที่ยว เป็นการแตกแขนงออกมาจากการเดินทางปกติ และมันจะออกมีจริตที่ต่างจากการเดินทางไปทำธุระตรงที่ มันเป็นการเดินทางที่ออกไปหาธุระปริศนาตรงปลายทางข้างหน้า ว่าจะเจอธุระใหม่ที่น่าสนใจในดินแดนที่ต่างกันไปบ้างมั้ย
.
การท่องเที่ยว เกิดขึ้น พร้อมกับสร้างนวัตกรรมให้กับมนุษย์เรามาทุกยุคสมัยเลยนะครับ
.
ผมลองจินตนาการแบบสนุกๆ ถึงไอ้เจ้ามนุษย์นักประดิษฐ์ในสมัยก่อนๆ เขาคงเจอปัญหาในการท่องเที่ยวมามากมาย จึงได้มีการคิดอะไรออกมาได้แน่ๆ เช่น
“มนุษย์เริ่มเดินเท้าออกจากบ้าน….. แล้วก็รู้สึกเหนื่อย
เราก็เลยใช้วิธีขี่ม้าเพื่อทุนแรง
ขี่ม้าไป สุดแม่น้ำมันแล้วไปไม่ได้…. แต่ยังอยากจะไปต่อ
อยากจะข้ามแม่น้ำไปอีกฟากให้ได้… เราก็เลยคิดจะ “ว่ายน้ำ”
.
พอเรา ว่ายน้ำได้ แต่มันเหนื่อย เราก็เลยอยาก “สร้างแพ”
ไปคนเดียวมันเหงา เลยสร้างสะพาน ให้เพื่อนข้ามมาเพื่อไปด้วยกัน
และพอเราอยากจะไปไกลมากขึ้น เราก็พัฒนาจากแพเป็น “เรือ”
พอไปคนเดียวมันเหงา เราก็เลยสร้างเรือให้ใหญ่ขึ้นจะได้ไปหลายคน
คนเราฝันอยากไปนู่นไปนี่มาโดยตลอดทุกยุคสมัยเลย…”
.
มนุษย์เราเลยสรรค์สร้างนวัตกรรมมากมายเพื่อพาเราไปในที่ต่างๆ ให้ไกลขึ้น เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น สะดวกสบายขึ้น และยิ่งสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลยมี รถม้า จักรยาน รถยนต์ รถราง บอลลูน เครื่องบิน จนปัจจุบัน เราก็อยากจะรู้ว่านอกโลกเป็นยังไง เลยพยายามสร้างจรวด สร้างดาวเทียม สร้างยานสำรวจอวกาศ
.
คงมีสัตว์ไม่กี่จำพวก ที่มีความคิดอยากจะไปดวงจันทร์ ดาวอังคาร ก็คงมีแต่มนุษย์นี่แหละที่เต็มไปด้วยแรงปราถนาของการไปในที่ที่เราไม่เคยไป อยู่ในหัวใจลึกๆ จากรุ่นสู่รุ่น
.
เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว… อานนท์ขอถามคุณว่า
“การท่องเที่ยวครั้งต่อไปของคุณ คุณอยากเรียนรู้เรื่องอะไร
ก่อนที่คุณจะแก่เฒ่าเดินทางไม่ไหว คุณจะได้รู้จัก และเรียนรู้มัน
จากการเดินทางเยี่ยมเยือนครั้งต่อๆ ไปในชีวิต…”
.
และการท่องเที่ยว นี่แหละ
จะเปิดให้คุณเห็นโอกาสใหม่ๆ
จะทำให้คุณค้นพบอะไรใหม่ๆ
เจอเพื่อนและ connection ใหม่ๆ
ประสบการณ์ ความทรงจำ และไอเดียดีๆ
ก็มักจะเกิดในช่วงเวลาของการท่องเที่ยวนี่ล่ะ

ท่องเที่ยวนี่ล่ะ คือห้องเรียนภาคปฏิบัติฉบับของพวกเรา
และนี่คือทักษะสำคัญของการดำเนินชีวิตในวันนี้ครับ….”

 

Reviews

Comment as: