USB Type-C การเปลี่ยนผ่านที่ไม่ง่าย

By : Isriya Paireepairit


รอบ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เราเริ่มเห็นมาตรฐานการเชื่อมต่อแบบใหม่ที่เรียกว่า USB Type-C (หรือบางที่ก็เรียกสั้นๆ ว่า USB-C) กันมากขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์รุ่นก่อน ๆ มีพอร์ตเชื่อมต่อสารพัดแบบที่ใช้ร่วมกันแทบไม่ได้เลย ดังนั้นการซื้อเมาส์หรือคีย์บอร์ดสักชิ้นนึง เราก็ต้องเช็คก่อนอยู่เสมอว่า สามารถใช้กับเครื่องของเราได้หรือไม่

ปี 1996 หรือ 20 ปีที่แล้ว กลุ่มบริษัทไอทีหลายรายที่นำโดยอินเทล ออกมารวมตัวกันเพื่อสร้างมาตรฐานการเชื่อมต่อแบบใหม่ชื่อ Universal Serial Bus หรือ USB เพื่อเป็นมาตรฐานกลางของการเชื่อมต่อทุกประเภท (ตามชื่อ Universal คือรองรับเชื่อมต่อ แบบไร้ขีดจำกัด )

ส่งผลให้มาตรฐาน USB เริ่มได้รับความนิยม จนเป็นพอร์ตมาตรฐานสากล ที่คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกเครื่องต้องมี และพอร์ตประเภทอื่นๆ เริ่มทยอยหายไปจากตลาด และในที่สุด USB ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง เติบโตอย่างต่อเนื่องจนผันมากลายเป็นมาตรฐานในตลาดอุตสาหกรรม

แต่ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มาตรฐาน USB ก็เคยได้ถูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อยู่หลายครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการ ทุกยุคสมัย (ปัจจุบันมาตรฐานล่าสุดคือ USB เวอร์ชัน 3.1 ที่ออกในปี 2014) แต่..สิ่งหนึ่งที่ยังถือเป็นจุดยืนของพอร์ต USB ที่ยังคงมีคือ หน้าของพอรต์ ที่ต้องเหมือนเดิม เพื่อยังคงให้ใช้งานร่วมกันกับอุปกรณ์รุ่นเก่าได้

ไม่เว้นแม้แต่ในยุคที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ขนาดของพอร์ต USB มาตรฐาน (ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า USB Type-A) อาจดูใหญ่เกินไป สำหรับอุปกรณ์พวกโทรศัพท์หรือกล้องถ่ายภาพ ดังนั้นทางกลุ่มมาตรฐาน USB จึงปรับเปลี่ยนพัฒนาหัว USB ขนาดเล็กลงมา เรียกว่า Mini USB และ Micro USB มาใช้แทน (สองตัวหลังอยู่ในกลุ่มชื่อ Type-B)

กล้องดิจิทัลและสมาร์ทโฟนยุคแรกๆ มีบางรุ่นที่ใช้พอร์ต Mini USB แต่ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ (ยกเว้น iPhone) น่าจะเป็น Micro USB กันหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม พอร์ต USB แบบเดิมไม่ว่าจะเป็นขนาดปกติ (Type-A) หรือพอร์ตขนาดเล็ก (Micro USB) ยังมีข้อจำกัดทางเทคนิคอยู่หลายประการ แต่ประเด็นที่จับต้องได้มากที่สุดคือ หัวเสียบของ USB แบบเดิมมีลักษณะไม่สมมาตร การเสียบหัวจึงต้อง “เล็ง” ว่าถูกด้านหรือไม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกกับผู้บริโภค

ในส่วนข้อจำกัดอื่นๆ คือกำลังจ่ายไฟของ USB แบบเดิมมีไม่เยอะนัก เพราะมันถูกออกแบบให้เป็นพอร์ตสำหรับส่งข้อมูล ไม่ใช่พอร์ตสำหรับชาร์จไฟ เพียงแต่มันอาจใช้ชาร์จโทรศัพท์ได้ แต่อาจไม่พอสำหรับการชาร์จคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก

ทางกลุ่มมาตรฐาน USB จึงพัฒนามาตรฐานแบบใหม่ที่เรียกว่า USB Type-C ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น พอร์ตแบบใหม่มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับ Micro USB แต่มีลักษณะสมมาตร เสียบด้านไหนก็ได้ (ปัญหาเสียบสายชาร์จตอนปิดไฟจึงหมดไป) หัวเหมือนกันทั้งสองด้าน และสามารถจ่ายไฟได้แรงพอตัว ใช้เป็นสายชาร์จอุปกรณ์ขนาดใหญ่ได้สบาย

นอกจากนี้ มันถูกออกแบบมาให้ส่งข้อมูลประเภทอื่นๆ เช่น สายต่อแสดงผลหน้าจอ แจ๊คเสียบหูฟัง ฯลฯ ได้ด้วย เรียกว่าถ้าภาพฝันของ USB Type-C เป็นจริง ในอนาคตเราจะมีพอร์ต USB Type-C เพียงประเภทเดียว ใช้งานได้ทุกกรณี ไม่ต้องมีสายชาร์จ สายเสียบหูฟัง สายต่อจอภาพ แยกอีกต่อไป

ทุกวันนี้เริ่มมีอุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ รองรับพอร์ต USB Type-C กันแล้ว อุปกรณ์ที่คนรู้จักกันดีคือ MacBook รุ่น Slim ของแอปเปิล ส่วนสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่ออกขายในปี 2016 ก็เริ่มทยอยเปลี่ยนมาใช้ USB Type-C  เช่น Google Pixel, Lumia 950, Moto Z, LG G5

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ USB Type-C มีข้อดีมากมาย แต่การเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่ง USB Type-C ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก เหตุผลสำคัญ ก็เพราะพอร์ต USB Type-C ไม่สามารถใช้ร่วมกับ USB Type-A หรือ Micro USB ที่มีอยู่เต็มไปหมดได้ ทุกอย่างจึงต้องใช้หัวแปลงเข้าช่วย ซึ่งก็สร้างความไม่สะดวกให้กับผู้ใช้งาน

แต่สรุปจุดที่ผมคิดว่าสำคัญคือ อุปกรณ์จำนวนมากที่มีใช้งานอยู่ในตอนนี้เป็น USB Type-A กันซะมากกว่า และอุปกรณ์หลายตัวก็ถูกผนึกฝังแน่นอยู่กับที่ เช่น พอร์ต USB ในรถยนต์หรือบนเครื่องบิน, พอร์ต USB ที่เครื่องเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานเป็นสิบปี กว่าจะเปลี่ยนเป็น USB Type-C ได้ทั้งหมด ในอนาคต…

 

Reviews

Comment as: