คนสูงวัยเข้าใจดิจิทัล

By : Kamolkarn Kosolkarn


เจนเนอเรชั่นเบบี้ บูมเมอร์ส (Baby Bommers) หรือกลุ่มคนสูงวัยอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ในครั้งหนึ่ง เราอาจจะมองว่ากลุ่มคนเจนนี้ไม่สามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ได้ ภาพจำของการเป็น Late Adopter หรือกลุ่มคนที่เปิดรับเทรนด์ใหม่ได้ช้า และเข้าใจการใช้งานได้ยาก แต่ใครจะรู้ว่า ในวันนี้ กลุ่มผู้สร้างดิจิทัลแพลทฟอร์มหรือนวัตกรรมทั้งหลาย กำลังจับจองที่นั่งแถวหน้าให้ว่าที่ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มาพร้อมผมสีดอกเลาและไลฟสไตล์ที่มีความเฉพาะตัว

คุณปู่หรือคุณย่าที่มีเวลาให้กับการเลี้ยงหลาน ใช้เวลาอยู่ในช่วงหลังการเกษียณ ไปจนถึงมุ่งมั่นรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นตามวัย ลักษณะการใช้ชีวิตของเจนเบบี้ บูมเมอร์ส นี้เอง ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่ให้กับเหล่าสตาร์ทอัพ (ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่) ฉีกกฎทุกการเข้าใจ ว่าผู้สูงวัยไม่ต้องการเทคโนโลยีอย่างเจนเอ๊กซ์หรือกลุ่มมิลเลนเนียล พวกเขาต้องการไม่ต่างกัน เพียงแต่แค่มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างออกไป หน้าที่การออกแบบแพลทฟอร์มให้เป็นมิตรกับผู้ใช้สูงวัย จึงตกเป็นของเหล่าผู้ผลิตที่ต้องรองรับความต้องการนี้ให้ทันอย่างที่ สก็อตต์ คอลลินส์ (Scott Collins) CEO แห่ง Linkage บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องประชากรศาสตร์ผู้สูงอายุกล่าวว่า  “สิ่งที่เห็นคือ การตระหนักรู้ได้ว่า เจนเบบี้บูมเมอร์นั้นมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในทุกๆ ระดับ นักพัฒนาและผู้ประกอบการจึงต้องนึกให้ถึงว่า นี่คือโอกาสทางการตลาดขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น”

ผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นหรือแพลทฟอร์มต่างๆ จึงหันมาออกแบบหน้าตาและการใช้งาน ให้เป็นมิตรกับกลุ่มใช้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็น Necta Breezie หรือ Senior phone ที่ออกแบบอินเตอร์เฟซให้ใช้งานง่าย ขยายไอคอนให้ใหญ่ขึ้น ตัวหนังสือหนาขึ้นลดความยุ่งเหยิงวุ่นวายในการใช้งาน หรือบริการที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่าง Go Go Grandparent สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง แต่ต้องการใช้บริการอย่าง Uber เพียงกดโทรศัพท์บ้านโทรออกไปยังเบอร์กลาง บริการนี้ก็จะจัดการทุกอย่างให้ตามความต้องการได้ทันที

หรือแม้แต่โลกของโซเชียลมีเดีย ที่เราเหล่าเจนเอ็กซ์หรือมิลเลนเนียลคุ้นเคยเป็นอย่างดี เจนเบบี้ บูมเมอร์ส เองก็ต้องการใช้งานไม่ต่างกัน เพียงแต่ลักษณะการเล่นนั้นต่างออกไป รายงานจาก Ofcom กล่าวว่า คนสูงวัยในอังกฤษกว่า 88% เช็คโซเชียลมีเดียของพวกเขาทุกวัน โดยช่องทางที่โปรดปรานมากที่สุดก็คือเฟซบุ๊ค ตามมาด้วยกูเกิ้ลพลัส ไปจนถึงแอปฯ สำหรับหนุ่มสาวอย่าง Tinder สำหรับกลุ่มคนสูงวัยก็มีแอปฯ ในลักษณะนี้เช่นกัน เรียกว่าแอปฯ Stitch เป็นเทนเดอร์แบบปู่ย่า ที่เป็นในลักษณะของการหาเพื่อนในวัยเดียวกัน ทั้งเพื่อพูดคุย ออกไปทำกิจกรรมร่วมกัน จัดกรุ๊ปท่องเที่ยว ไปจนถึงออกแบบอีเว้นท์ที่อยากให้เกิดขึ้นภายในชุมชน

ไม่ใช่แค่เพียงคิดค้นแอปฯ หรือแพลทฟอร์มสำหรับไลฟสไตล์ของเจนเบบี้ บูมเมอร์ส เท่านั้น แต่ยังมีนักพัฒนาอีกหลายรายที่เลือกให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างระหว่างวัย  จากปู่ย่าถึงลูกหลาน อย่างแอปฯ ที่คว้ารางวัลจากการประกวดในหลายเวทีอย่าง Gingersnap แอปฯ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงวัยสามารถสร้างเรื่องราวการผจญภัยให้กับลูกๆ หลานๆ  ผ่านเกมหรือการตกแต่งภาพตลกๆ ที่เรียกเสียงหัวเราะได้ มีบทบาทเป็นเครื่องมือที่ข้ามระหว่างหลายเจน (cross-generational tool) หรือแม้แต่แอปฯ ส่งข้อความอย่าง Facebook Messenger เองก็ตามที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารยอดนิยมของผู้สูงวัยในการติดต่อกับสมาชิกในครอบครัว

พฤติกรรมการใช้งานและตัวอย่างการเปิดรับเทคโนโลยีของเจนเบบี้ บูมเมอร์ส ตามที่กล่าวไป แสดงให้เห็นถึงโอกาสใหม่สำหรับอีกหลายธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง ทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการจึงต้องจับตามองกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มนี้ เพื่อรองรับความต้องการและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ดีขึ้นได้ต่อไปในอนาคต

 

Reviews

Comment as: