อนาคตใหม่ของการทำงานในปี 2020

By : Kamolkarn Kosolkarn


ปัจจุบัน ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการทำงานในรูปแบบของฟรีแลนซ์มากขึ้น มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ผู้คนจะทำงานแบบอิสระเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยมีทั้งเป็นฟรีแลนซ์ แรงงานตามการจัดจ้าง และโอกาสในการแชร์การทำงานร่วมกัน ด้วยปัจจัยสำคัญของการเกิดแพลทฟอร์มออนไลน์ ที่ทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกัน โดยที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่อีกต่อไป

ถ้าการเกิดขึ้นของ TaskRabbit เป็นพลุลูกแรก ที่ทำให้รูปแบบของการทำงานเปลี่ยนไปมาจนถึงปัจจุบัน ตารางงานที่สามารถยืดหยุ่นได้ การเข้าถึงผู้ผลิตที่หลากหลายมากขึ้น เราต่างมีโอกาสได้สร้างเพจแสดงผลงานผ่านทางเฟซบุ้ค ไปจนถึงการสื่อสารระหว่างประเทศ ที่เป็นไปอย่างสะดวกสบาย คำถามสำคัญคือ องค์กรหรือบริษัททั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้นต้องปรับตัวอย่างไร?

รายงานเรื่อง Twenty trend that will shape the next decade โดย global.intuit.com

ฟรีแลนซ์… รูปแบบการทำงานของเจนมิลเลนเนียล

จำนวนประชากรสหรัฐฯ กว่า 53 ล้านคนในปัจจุบัน ทำงานแบบเป็นฟรีแลนซ์ โดย 38% นั้น เป็นเจนมิลเลนเนียล นั่นเป็นเพราะเจนนี้มีเป้าหมาย การให้คุณค่า และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเป็นอิสระ การมีพื้นที่ได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ และไม่ถูกผูกมัด โดยเฉพาะเจนเนอเรชั่นนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในอาชีพการงานของตัวเอง พร้อมกับที่ต้องรู้สึกได้ถึงความสามารถในการควบคุม และจัดการทุกอย่างให้เป็นไปได้ตามที่ต้องการ

เจนมิลเลนเนียลมีความสามารถในการผสมผสานชีวิตส่วนตัวเข้ากับชีวิตการทำงาน ที่อยู่บนพื้นฐานของการยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ จนถึงที่ว่า 60% ของคนทำงานที่เป็นเจนนี้จะตัดสินใจลาออก ถ้าพวกเขาถูกสั่งห้ามให้เข้าถึงโซเชียลมีเดีย หรือห้ามแชทในระหว่างเวลาทำงาน

แพลทฟอร์มออนไลน์ ปัจจัยใหม่เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน

องค์กรบริษัทหลายแห่ง เริ่มใช้แพลทฟอร์มออนไลน์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการว่าจ้างผู้ผลิต และเข้าถึงเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อมาทำงานในแต่ละโปรเจค

แพลทฟอร์มออนไลน์นั้น เอื้อประโยชน์ในเรื่องของความรวดเร็ว และได้งานที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถทำงานร่วมกับหลายๆ บริษัทได้ ตามความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทั้งยังสามารถเข้าถึงผู้ผลิตระดับท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วกว่าอดีตที่ผ่านมา

การทำงานนอกสถานที่ในปี 2020

ถ้าย้อนกลับไปในปี 2009 ค่าเฉลี่ยของลูกจ้างที่ทำงานนอกสถานที่ หรือการทำงานแบบสื่อสารทางไกลมีเพียง 50% เท่านั้น แต่สำหรับปัจจุบัน ธุรกิจมีรูปแบบการดำเนินที่เปลี่ยนไปจากระดับ “นานาชาติ” เป็น “ระดับโลก” ทำให้ในปี 2020 ที่จะถึงนี้การสื่อสารทางไกลนั้น อาจกลายเป็นเรื่องปกติ และการทำงานข้ามสายของคนที่มีความถนัดในเรื่องต่างๆ จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำงานในอนาคต

ถ้าหากจะพูดเรื่องของการพัฒนาและการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ในบริษัทนั้น จะต้องยกระดับรูปแบบการทำงาน จากแบบประเมินตัวชี้วัดผลสําเร็จของงาน ไปสู่การจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกคน โดย 2 ใน 3 ของผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่า พวกเขามีแผนที่จะให้ความสำคัญ กับการพัฒนาความสามารถของพนักงาน และว่าที่ผู้นำแผนกหรือฝ่ายในอนาคต เพิ่มศักยภาพเพื่อเป็นรากฐานสำคัญให้กับบริษัทต่อไปในระยะยาว

ในปี 2020 เจนเนอเรชั่น Z หรือคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จะเข้าสู่ตลาดงานเป็นอัตราส่วน 20% โดยจะมาพร้อมกับความแตกต่างจากเจนก่อนหน้าอย่างเจน X หรือเจนมิลเลนเนียล เพราะพวกเขาจะมาพร้อมกับวิธีคิดที่เกิดขึ้นจากการเติบโตท่ามกลางความไม่มั่นคงของโลก

“การเติบโตมาในช่วงเวลาที่โลกมีแต่ความไม่มั่นคง ทั้งระบบเศรษฐกิจหรือการเมือง สิ่งที่พวกเขาต้องการจึงเป็นงานที่ให้ความรู้สึกมั่นคงกับพวกเขาได้” คำกล่าวจาก Ester Frey ผู้บริหารแห่ง Robert Half Technology กล่าวว่าเจน Z จะมีความต้องการงานที่ให้สวัสดิการที่ดี เลือกทำงานกับองค์กรหรือบริษัทขนาดกลาง หรือใหญ่มากกว่าขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างจากเจนมิลเลนเนียลที่เลือกทำงานในรูปแบบสตาร์ทอัพเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นเหล่าเจน Z ที่ในวันนี้ยังอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษา ในอนาคตอันใกล้ พวกเขาจะเรียนจบมาพร้อมความคาดหวังใหม่ โลกแห่งความจริงที่พวกเขาต้องเผชิญนั้น อาจไม่พอดีกับความคาดหวังที่มี การเปลี่ยนแปลงอีกระลอกใหญ่ จึงกำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ และการปรับตัวที่เร็วกว่าของบริษัทก็จะสามารถครองใจกลุ่มแรงงานใหม่นี้ได้อย่างทันท่วงที

 

Reviews

Comment as: