(Digital Copyright Law Specialist) นักกฏหมายลิขสิทธิ์ดิจิตอล

By : Pattarakorn Vorathanuch
กล่าวกันว่าโลกดิจิทัลในทุกวันนี้ เกิดขึ้นมาได้เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเติบโตขึ้นมาเพราะอินเทอร์เน็ต
โลกดิจิทัลจึงมีบทบาทสำคัญในการแบ่งปัน และให้ข้อมูลและข่าวสาร (sharing) และถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ งานเขียน ภาพเขียน ภาพวาด วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรี โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ
เมื่อระบบดิจิทัลได้ถูกพัฒนาขึ้น และมีความสามารถในการดัดแปลง แก้ไข และทำซ้ำข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น หน่วยงานและกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ จึงเกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ที่นอกเหนือกว่านั้น หน่วยงานองค์กรหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างก็คิดหาวิธีทางเทคโนโลยีที่จะสามารถป้องกันการเข้าถึงข้อมูลงานดิจิทัล โดยหนึ่งในวิธีการนั้น คือ การใช้รหัสผ่าน (password) แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่วิธีการป้องกันเบื้องต้นเท่านั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ จึงยังคงเป็นบรรทัดฐานหลักในการคุ้มครองระบบดิจิทัลอยู่
การเติบโตที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดดของโลกดิจิทัล ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการสื่อสาร แต่สำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะเจ้าของผลงานหรือเจ้าของข้อมูลแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลอาจดูจะเป็นเหมือนภัยร้ายแรงที่ถูกคุกคามเป็นอย่างยิ่ง นั่นเป็นเพราะว่าเขาอาจจะกำลังจะสูญเสียอำนาจในการควบคุมสิทธิของตนไป
โลกที่ไร้พรมแดนของยุคดิจิทัลขณะนี้ กำลังกลายเป็นประเด็นที่กล่าวถึงครั้งสำคัญ เพราะการพัฒนาที่ก้าวล้ำของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดให้คำถามที่ว่า สิทธิเสรีภาพเหล่านี้จะถูกปรับปรุงแก้ไข และควบคุมอย่างไร ดังนั้น มาตรการคุ้มครองทางเทคโนโลยี จึงเป็นเครื่องมือที่ตอบรับเพื่อคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือมาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการเข้าถึง (Access Control) และมาตรการทางเทคโนโลยีที่ควบคุมการทำซ้ำ (Copy Control) งานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งบางกรณีเทคโนโลยีทั้งสองอาจใช้ร่วมกัน ทำให้ป้องกันทั้งการทำซ้ำและการเข้าถึงได้ในขณะเดียวกัน
กรณีตัวอย่างที่เป็นข้อถกเถียงในระดับโลก เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ดิจิทัล คงหนีไม่พ้น เดอะไพเรตเบย์ (The Pirate Bay) เว็บไซต์สัญชาติสวีเดน ที่ให้บริการบิตทอร์เรนต์ (BitTorrent) ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก และมีผู้ใช้งานมากถึง 25 ล้านคน หรืออีกหนึ่งกรณี คือ ลิขสิทธิ์เฟซบุ๊กที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง Social Network ไม่เว้นแม้แต่ Google ที่พยายามจะสแกนหนังสือทั้งหมดในโลกเพื่อทำห้องสมุดโลก ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างการละเมิดลิขสิทธิ์และความท้าทายทางเทคโนโลยี
ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือธุรกิจหรือองค์กร เพื่อกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ หากลยุทธ์ในการขายสินค้าและบริการที่ไม่ขัดต่อลิขสิทธิ์ และปกป้องสิทธิส่วนบุคคลและองค์กรหากมีผู้อื่นมาละเมิดลิขสิทธิ์
11 ข้อควรรู้จากกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ของประเทศไทย ที่เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.58
1.ลิขสิทธิ์คุ้มครอง คือ ต้องเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่รวมถึงกระบวนการคิดหรือขั้นตอนการสร้างสรรค์ เช่น บทความ ซอฟต์แวร์ เพลง หนังสือ รูปภาพ ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพวาด ภาพยนตร์ ละคร
2.ลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครอง เช่น ข่าวประจำวันข้อเท็จจริงต่างๆรัฐธรรมนูญและกฎหมายระเบียบข้อบังคับ ประกาศคำสั่งคำพิพากษาคำวินิจฉัยและรายงานของทางราชการ
3.ห้ามลบ หรือเปลี่ยนแปลง ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์
4.ห้ามทำลาย Password ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้ป้องกันการเข้าถึง การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี เพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์
5.การดูหนัง ฟังเพลง จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ห้ามทำซ้ำ
6.ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต เช่น Youtube ถ้าเอางานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บ ถือว่าไม่ผิด
7.สามารถนำรูปภาพ หนังสือ ซีดีเพลง ไปขายมือสองได้ แต่ต้องดูกฎหมายอื่นๆ รองรับด้วย
8.นักแสดงมีสิทธิระบุชื่อตัวเองในการแสดง และห้ามไม่ให้ใครทำเสียชื่อเสียง
9.ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจงใจละเมิด ศาลสามารถสั่งให้จ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2 เท่า
10.การนำ Embed ใน Youtube มาลงเว็บไซต์หรือแชร์ ถือว่าไม่ละเมิด
11.ศาลมีอำนาจ สั่งริบ หรือทำลายสิ่งที่ละเมิด
สามารถติดตามกฎหมายฉบับเต็มได้ที่
http://www.sme.go.th/SiteCollectionDocuments/กฏระเบียบ%20ประกาศ/02/001/copyright-2537.pdf