การเปลี่ยนแปลง คือโอกาส

By : Apichart Prasert


Jack Welch อดีตผู้บริหารสูงสุดของ General Electric เคยได้กล่าวไว้ว่า “หากความเปลี่ยนแปลงภายนอก เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร จุดจบก็คงอยู่ไม่ไกล”

จากคำพูดที่น่าสนใจของเขา ยังคงเป็นข้อพิสูจน์ได้จริงในยุคปัจจุบัน เมื่อโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง หากเราไม่รู้เท่าทัน และไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จุดจบที่เขาได้กล่าวนั้น ก็คงอยู่ไม่ไกลเกินจริง

ความเปลี่ยนแปลงในโลก ก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งด้านนวัตกรรม การผลิต การบริหารจัดการ นโยบายเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เว้นแม้แต่ กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเข้าสู่สังคมสูงวัย การก่อการร้าย และการเกิดขึ้นของโรคระบาดต่างๆ  ทั้งหมดล้วนแต่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค และกลยุทธ์ ตลอดทั้งนโยบายทางการตลาด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราต้องการที่จะประสบความสำเร็จนั้น ต้องรู้จักการคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงภายนอกและการปรับตัวอย่างชาญฉลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

ในปัจจุบัน ส่วนแบ่งของตลาดถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ตลาดสินค้า 2.บริการ ตลาดเงิน  3. ตลาดทุน และตลาดแรงงาน  และจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  ล้วนมีผลกระทบต่อตลาดทั้ง 3 ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนานวัตกรรมด้านการควบคุมอัตโนมัติ (Automation) ไม่เพียงแต่มีผลกระทบโดยตรงกับรูปแบบและการใช้งานสินค้าและบริการแล้ว แต่ยังมีผลกระทบต่อสินค้าและบริการอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chains) หรือแม้แต่สินค้าและบริการที่ต้องใช้ร่วมกัน (Complementary Goods/Services)

ส่วนของตลาดเงินตลาดทุน อาจมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมด้านควบคุมอัตโนมัติมากกว่าธุรกิจตัวอื่นๆ การระดมทุนจึงทำได้ง่ายกว่า เช่นเดียวกับตลาดแรงงาน ที่ต้องการวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีควบคุมอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มากขึ้น  แต่สำหรับแนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ใกล้ตัวที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ ก็มี 3 แนวโน้มเช่นกัน ได้แก่

1 การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ (Demographical Changes) 2 การเพิ่มขึ้นของความเป็นเมือง (Urbanization) และ 3 นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Emerging Technology) ซึ่งจากการคำนวณของ UN DESA คาดว่าในปี ค.ศ. 2030 ประชากรโลกจะมีจำนวน 8.5 พันล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 9.7 พันล้านคน ถัดไปในปี ค.ศ. 2050 ประชากรที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี จะเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์

ดังนั้นภาครัฐ จึงจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการดูแลประชากรกลุ่มนี้  โดยปัจจุบันรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว จะใช้จ่ายงบประมาณกว่า 10% ของ GDP ในการดูแลด้านสุขภาพและอนามัยของประชาชน นอกจากนี้ จากการศึกษาของ OECD พบว่า ในปี ค.ศ. 2030 จำนวนชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 พันล้านคน และคนกลุ่มนี้จะมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดความเป็นไปได้ในสังคมอีกด้วย

ส่วนผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ คือการเพิ่มขึ้นของความเป็นเมือง ซึ่ง UN DESA คาดว่า ในปี ค.ศ. 2050 ประชากร 64% ของประเทศที่กำลังพัฒนาจะอาศัยอยู่ในเมือง และสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 86% ในประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้เกิดเมืองขนาดใหญ่จำนวนมากทั่วโลก และแน่นอนปัญญาเหล่านี้ ย่อมมีผลกระทบต่อทั้งระบบคมนาคมขนส่ง ระบบความปลอดภัย สภาพแวดล้อมและมลภาวะในเมือง รวมทั้งค่าครองชีพ และระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการและปัญหาเหล่านี้อีกด้วย

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีสมัยใหม่ พบว่ามีการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยระยะเวลาในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ (Adoption Rate) จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ และมีผลต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะ Digital Technology ที่ช่วยให้การสื่อสาร การเรียนรู้ และการดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ความเสี่ยงในด้านต่างๆ จะอาจส่งผลเพิ่มสูงขึ้นตามเช่นกัน และอาจส่งผลต่อพฤติกรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง

แต่ทว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกข้างต้น ล้วนมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นภาครัฐและเอกชน จึงต้องให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวนโยบาย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้… การเปลี่ยนแปลง ก็จะนำมาซึ่งประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกันด้วย แต่หากเราสามารถคาดการณ์และมองหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเตรียมความพร้อม ในการปรับตัวให้เร็วกว่าคนอื่น ๆ เราก็คงจะไม่พบกับจุดจบที่ Jack Welch ได้บอกไว้อย่างแน่นอน….

 

Reviews

Comment as: