เทคโนโลยีเปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

By : Apichart Prasert


เทคโนโลยีสมัยใหม่นอกจากมีผลกระทบต่อพฤติกรรม และการตัดสินใจทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะพฤติกรรมการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองของคนรุ่นใหม่

หากจะมองในมุมของการนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้สามารถเรียนรู้ได้ในสิ่งที่เหมาะสมกับศักยภาพและความชอบของแต่ละคน (People-Centric Learning) ก็จะพบว่า เป็นการเปลี่ยนรูปแบบ และแนวทางการเรียนการสอนไปอย่างสิ้นเชิง

จากการเรียนการสอนแบบบรรยายในห้องเรียนระหว่างผู้เรียนและผู้สอน มาเป็นการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น ทั้งในด้านเนื้อหา เวลา และพื้นที่ ของการเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์ ระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และแม้กระทั่งผู้ปกครอง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ที่พัฒนาไม่หยุดนิ่ง ทั้งในด้านเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนรู้

การเรียนการสอนในโรงเรียนสมัยใหม่ มีการนำการเรียนการสอนทาง Online มาใช้ ทั้งแบบเป็นรายวิชาและแบบทุกรายวิชา (Online School) โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนที่อยู่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ที่มีคุณภาพและหลากหลาย (Distant Learning) และเป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ผ่านการค้นคว้าเพิ่มเติม และการนำเอาความรู้ไปลองปฏิบัติจริง เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีข้อจำกัดด้านเวลาด้านงบประมาณและด้านการเดินทาง

แม้ในโรงเรียนที่อยู่ในเมือง ก็เริ่มมีการใช้ระบบการเรียนรู้แบบผสม (Blended Learning) มากขึ้น โดยเริ่มจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (High-speed Internet) ระบบเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless Connection) หรือแม้กระทั่งการใช้ Laptop และ I-Pad เป็นการผสมผสานระบบการเรียนรู้ Online กับการเรียนแบบเดิมที่เน้นบทบาทของครู การเรียนรู้สำหรับเด็กจำนวนมาก และการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก เพื่อให้เด็กได้รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามศักยภาพที่แตกต่าง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ในประเทศพัฒนาแล้ว มีความร่วมมือในการพัฒนาระบบ OER (Open Educational Resources) เพื่อสร้างเนื้อหาความรู้สำหรับผู้สอน ผู้เรียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนและการเรียนรู้เพิ่มเติม โดยที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักสูตรการเรียนการสอน เนื้อหารายวิชา หนังสือเรียน แบบฝึกหัด แอพพลิเคชั่นต่างๆ  วิดีทัศน์ประกอบการเรียนรู้ ข้อสอบ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ รวมถึงเทคนิคและคำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเรียนการสอน โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างครูผู้สอน นักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทั้งภาครัฐและเอกชน

แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีข้อควรกังวลอยู่หลายประการ เกี่ยวกับความสำเร็จของการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น และเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแนวทางอื่นๆ เนื่องจากขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมในการเรียนรู้ รวมถึงตัวเด็กแต่ละคนด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความพร้อมของครู และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี รวมถึงความคุ้มค่าในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง

นอกเหนือจากปัญหาการพัฒนาเนื้อหาออนไลน์ให้มีความหลากหลาย และมีมาตรฐานสูง อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบัน เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย และสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน และครูก็ยังคงมีความจำเป็นในบทบาทของผู้ชี้แนะและกระตุ้นให้เด็กค้นพบตนเอง และสามารถพัฒนาการเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่ออนาคตที่ดีกว่าทั้งต่อตนเองและสังคม

 

Reviews

Comment as: