Blue Apron สตาร์ตอัพสายปรุงอาหาร

By : Isriya Paireepairit


แวดวงไอทีสหรัฐปี ค.ศ.2017 มีบริษัทที่น่าสนใจอยู่รายหนึ่งชื่อว่า Blue Apron (ผ้ากันเปื้อนสีน้ำเงิน) ที่เพิ่งขายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อเดือนมิถุนายนนี้

Blue Apron ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.2012 ทำธุรกิจที่มีชื่อเรียกว่า ‘meal kit’ หรือการขาย “ชุดทำอาหาร” ให้ลูกค้านำไปประกอบอาหารเองที่บ้าน

อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ สำหรับคนไทย หลายท่านที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา น่าจะเคยเห็นอาหารแช่เย็นประเภท “ชุดเครื่องต้มยำไก่” หรือ “ชุดผัดกระเฉดหมูกรอบ” ที่ประกอบด้วยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่างๆ หั่นมาแล้วเรียบร้อย ซื้อกลับบ้านไปก็พร้อมปรุงเป็นอาหารจานนั้นทันที ไม่จำเป็นต้องซื้อแยกผักกระเฉด หมูกรอบ หรือพริกกระเทียม กระทั่งเต้าเจี้ยวอีกทีละส่วน

Blue Apron ก็เป็นธุรกิจแบบนี้ล่ะครับ ลูกค้าจะได้กล่องที่พร้อมประกอบอาหารด้วยวัตถุดิบในปริมาณพอเหมาะ ส่งตรงถึงบ้านโดยไม่ต้องไปเดินหาซื้อของเองให้เมื่อย ถ้าปรุงไม่เป็น ในกล่องยังมีสูตรและคำอธิบายว่าจะต้องทำอาหารอย่างไรด้วย

กลุ่มเป้าหมายของ Blue Apron คือลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ อยากทำอาหารกินเอง แต่ติดข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ขี้เกียจออกไปซื้อวัตถุดิบเอง หรือ วัตถุดิบที่วางขายมีปริมาณเยอะเกินกว่าการปรุงอาหารหนึ่งมื้อ เหลือทิ้งหรือเน่าคาตู้เย็น เป็นต้น

ลูกค้ากลุ่มนี้ คือ คนสมัยใหม่ที่มองเรื่องการทำอาหารในฐานะ “งานอดิเรก” จะเรียกว่า “อยู่เพื่อกิน” มากกว่า “กินเพื่ออยู่” ก็พอได้ ลูกค้ากลุ่มนี้คือกลุ่มเดียวกับที่สนใจซื้อหาหนังสือทำอาหาร อยากหัดทำอาหารเป็นงานอดิเรก แต่ไม่มีความขยันพอที่จะลุกขึ้นมาทำแบบนั้นได้บ่อยนัก

Blue Apron ยังเพิ่มมูลค่าของตัวเอง ด้วยการใช้วัตถุดิบสดใหม่แนวออร์แกนิค ผักสดจากฟาร์มของเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ฉีดฮอร์โมน หรืออาหารทะเลที่มาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน พร้อมโฆษณาว่าการสั่งอาหารกับ Blue Apron ช่วยลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (food waste) อีกด้วย

โมเดลการหารายได้ของ Blue Apron คิดค่าสมาชิกเป็นรายมื้อ เฉลี่ยแล้วตกมื้อละ 9.99 ดอลลาร์ต่อหนึ่งคนกิน (ในกล่องมาพร้อมกับอาหารสำหรับ 2-4 คน แล้วแต่จะเลือก) และสามารถเลือกได้ว่าจะรับอาหารสัปดาห์ละ 2-4 กล่อง แถมสัปดาห์ไหนไม่สะดวก ก็สามารถ “ข้าม” ไม่ให้ส่งในสัปดาห์นั้นได้ เมนูอาหารก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์เพื่อไม่ให้ซ้ำซากจำเจ

Blue Apron ระบุว่ามีลูกค้าเกือบ 1 ล้านราย และมีคำสั่งซื้ออาหารที่ 4 ล้านคำสั่งต่อหนึ่งไตรมาส เฉลี่ยแล้วลูกค้าหนึ่งรายจะสั่งอาหารประมาณ 4.3 ครั้ง

นอกจากสินค้าหลักที่เป็นชุดประกอบอาหารแล้ว Blue Apron ยังขยายไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ขายไวน์ส่งถึงบ้านเป็นชุด เดือนละ 6 ขวด ขายหนังสือสอนทำอาหาร ไปจนถึงขายของที่ระลึกอย่างผ้ากันเปื้อนแปะโลโก้ของบริษัทด้วย

Blue Apron เป็นตัวอย่างของบริษัทสตาร์ตอัพที่น่าสนใจ ในแง่การใช้ประโยชน์จากโมเดลการส่งอาหาร (delivery) ที่ไม่ได้เป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน แต่ปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและความสุขที่ได้จากการทำอาหารด้วยตัวเอง

 

Reviews

Comment as: