“วิกฤตศรัทธา Crowdfunding”

By : Isriya Paireepairit


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวคิด “การระดมทุนมวลชน” (Crowdfunding) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยกระแสความนิยมเรื่องนี้ นำโดยเว็บไซต์ระดมทุนรายใหญ่ 2 รายคือ Kickstarter และ Indiegogo

ด้วยแนวคิด Crowdfunding คือเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีไอเดียโดดเด่น สร้างสรรค์ แต่ไม่มีเงินทุนเพื่อพัฒนาไอเดียให้กลายเป็นจริง (ไม่ว่าไอเดียนั้นเป็นสิ่งของ เทคโนโลยี หรืองานสร้างสรรค์ เช่น เพลง ละครเวที ภาพยนตร์) โดยสามารถขอรับเงินจาก “มวลชน” บนอินเทอร์เน็ต เพื่อทำความฝันให้เป็นจริงได้ ซึ่งฝั่งผู้ให้ทุนรายย่อยทั้งหลายจะได้รับสิ่งตอบแทนคืนตามที่ผู้นำเสนอไอเดียสัญญาไว้

ตัวอย่างโครงการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอดีต คือ โครงการสร้างนาฬิกาอัจฉริยะ Pebble ซึ่งถือเป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นแรกๆ ในท้องตลาด โครงการนี้ เริ่มนำเสนอผลงานครั้งแรกในปี 2012 และมีคนร่วมเงินสนับสนุนมากเกือบ 7 หมื่นราย ระดมเงินทุนได้มากเกิน 10 ล้านดอลลาร์

Pebble นำเงินเหล่านี้ไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์นาฬิกา และเป็นต้นทุนการผลิต ก่อนส่งมอบให้กับผู้ให้ทุนทั้งหลายได้ตามสัญญา ความนิยมในตัว Pebble ส่งผลให้ทีมผู้สร้าง Pebble หันมาทำธุรกิจเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนตั้งเป็นบริษัทผลิตนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ที่มีฐานแฟนๆ จำนวนมหาศาล

จากโมเดล Crowdfunding นี้ส่งผลให้กลุ่มผู้สร้างสรรค์ทุกสาขาอาชีพสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยผู้ขอระดมทุนในระบบ Crowdfunding ส่วนหนึ่งคือกลุ่มพนักงานที่เคยเสนอไอเดียของตัวเองต่อนายจ้าง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ สุดท้ายจึงเลือกลาออกเพื่อมาทำตามความฝันของตัวเอง

แต่อย่างไรก็ตาม การให้เงินทุนผ่านระบบ Crowdfunding นั้น ก็ต่างจากการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า เพราะโครงการระดมทุนเหล่านี้ “ไม่ได้การันตี” ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป จากข้อมูลพบว่า มีบางกลุ่ม
ที่มาขอรับเงินสนับสนุน ไม่สามารถทำตามได้ตามแผนงานที่โฆษณาเอาไว้ จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณาว่ามีโอกาสสูญเงินหรือไม่ (ส่วนเว็บระดมทุนอย่าง Kickstarter หารายได้จากค่าธรรมเนียม โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนเงินระดมทุนที่ได้รับ)

ขณะเดียวกันกระแสความนิยมใน Crowdfunding ยังมีช่องว่าง และยังมีข้อผิดพลาดสำหรับผู้ให้ทุนผ่านอินเทอร์เน็ตที่มัก “มองโลกในแง่ดีเกินไป” ทำให้มีโครงการที่ไม่เป็นไปได้อยู่หลายโครงการ รวมทั้งยังมีโครงการที่ตั้งใจมาหลอกเงินมวลชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหน กลุ่มผู้ให้เงินสนับสนุนต่างก็สูญเงินฟรีด้วยกันทั้งนั้น

ตัวอย่างโครงการที่ล้มเหลวของ Crowdfunding เช่น Zano โดรนขนาดเล็ก ที่ขอรับทุนในปี 2014 และได้เงินมากถึง 2.3 ล้านปอนด์ (100 ล้านบาท) แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ทำเอาผู้สนับสนุนกว่า 12,000 คนต้องสูญเงินทั้งหมด

เหตุผลที่โครงการที่ขายฝันสวยหรูระดมทุนได้มหาศาล แต่พอทำจริงกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ส่วนใหญ่คือผู้ขอรับทุนนั้นขาดประสบการณ์ในการทำงานลักษณะนี้ ยิ่งโครงการระดมทุนได้มาก มียอดสินค้าที่ต้องส่งมอบเป็นจำนวนมากในเวลาอันจำกัด การหาแหล่งผลิตที่มีคุณภาพตามระยะเวลาที่ต้องการไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งยังไม่รวมเรื่องความผิดพลาดในการบริหารจัดการทั่วไปที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในโครงการ

โดยปัจจุบันปัญหาโครงการที่ล้มเหลว ส่งผลให้ชื่อเสียงของ Crowdfunding เริ่มไม่ดีเท่าไรนัก ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อความสามารถในการระดมทุนของ Crowdfunding ในระยะยาว

ทั้งนี้เว็บไซต์อย่าง Kickstarter และ Indiegogo จึงต้องเข้มงวดมากขึ้นกับผู้ขอระดมทุน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพซึ่งตั้งบริษัทหลอกลวงขึ้นมาเพื่อขอรับเงินลงทุนในโครงการที่ “ดูเหมือนจะดี” แต่ทำไม่ได้จริง

ช่วงหลังเว็บไซต์ระดมทุนเหล่านี้จึงต้องตรวจสอบเอกสารของผู้ขอรับทุนอย่างละเอียด และมีเงื่อนไขให้ผู้ขอรับทุนต้องแสดง “ต้นแบบสิ่งของ” ที่ขอระดมทุนว่ามีจริง ทำงานได้จริงตามที่โฆษณา (แม้จะยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่ต้องใช้ได้จริง) ต่างจากสมัยก่อนที่เปิดให้แสดงภาพกราฟิกจำลองการทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานของจริงมายืนยัน

สรุปคือผู้เขียนมองในภาพรวมว่า โมเดล Crowdfunding ยังมีประโยชน์ และมีคนที่ขอระดมทุนแล้วทำได้จริงตามสัญญาอีกมาก แต่การปล่อยให้ขอระดมทุนอย่างพร่ำเพรื่อ ไร้การตรวจสอบ ก็มีอยู่จริงเช่นกัน และการที่โครงการยอดนิยมประสบความสำเร็จมากในแง่ตัวเงินที่ได้ แต่ทำจริงกลับล้มเหลว ยิ่งจะกลายเป็นวิกฤตศรัทธาต่อคนให้ทุนในระยะยาว

 

Reviews

Comment as: