Mindful Wandering เมื่อความเบื่อหน่ายกลายเป็นต้นทางของความคิดสร้างสรรค์

By : Kamolkarn Kosolkarn


ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งที่เราต้องเจอกับอาการเบื่อ บางครั้งก็เบื่อปัญหาที่แก้ไม่ได้ เช่น เบื่อรถติด เบื่ออาหาร เบื่อกิจกรรม เบื่อวันหยุดที่ไม่รู้จะออกไปไหน ไปจนถึงเบื่อโฆษณาที่เยอะมากเกินไป แต่แทนที่จะมองข้ามหรือหลีกเลี่ยง วันนี้ เราขอให้ลองเปิดใจและยอมรับความเบื่อ ทั้งหลายที่ว่ามา

จากผลการวิจัย ปัจจุบัน ในแต่ละวัน คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับเรื่องราวบนโลกออนไลน์ เป็นเวลากว่า 7-10 ชั่วโมง และในแต่ละวัน เราถูกรบกวนจากเนื้อหาข้อมูล ที่เรียกร้องความสนใจจากเราอยู่เสมอ

จากการรายงานของมหาวิทยาลัยแลงคาไชร์ (Lancashire) พบว่า ความเบื่อหน่ายเป็นต้นทางของความคิดสร้างสรรค์ เพราะความรู้สึกเบื่อนี้เองที่จะทำให้จิตใจสดชื่น สอดคล้องกับการที่นักเขียนอย่าง มาร์ติน ลินสตรอม (Martin Lindstrom) กล่าวว่า “เราทุกคนต้องเคยเจอกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน จากเวลาทำงานสู่เวลาว่าง การเปลี่ยนผ่านตรงนั้น ช่องว่างที่เกิดขึ้นคือ เวลาของการตั้งค่าสมองใหม่ เพราะจากการที่สมองต้องรับข้อมูลมหาศาลจากหลายทิศทาง ถ้าไม่มีการหยุดพัก สมองของเราก็จะทำงานช้าลง”  นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า เบื่อ ลองหันมาทบทวนดูกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลานี้

ในอดีต ทั้งบอร์ดเกม การถักไหมพรม หรือการเขียนตัวอักษรวิจิตร ล้วนแต่เป็นกิจกรรม “ฆ่าเวลา” มาก่อน ซึ่งในวันนี้กลับมีความหมาย และเป็นทางเลือกใหม่ นอกเหนือจากโลกออนไลน์ ที่ไม่ใช่ความสำคัญแรกอีกต่อไป

เป็นที่น่าแปลกใจ ที่หลายครั้ง ไอเดียดีๆ เกิดขึ้นตอนอาบน้ำ หรือก่อนจะหลับสนิท นั่นเป็นเพราะช่วงเวลาของสมองที่ว่างเปล่าชั่วคราว เปิดโอกาสให้จิตใจได้ออกเดินทาง และมองเห็นคำตอบ ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งหลาย

เกิดสิ่งที่เรียกว่า Mindful Wandering เป็นกิจกรรมทางจิตใจ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ตัวอย่างจากนักออกแบบ แคโรไลน์ แองจูโล (Caroline Angiulo) ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้คนทำแก้เบื่อ เช่น เชือกถักเปีย ดึงปุยนุ่นออกจากหมอน แผ่นกดให้ผ้าลงไปในรู ทั้งหมดนี้ก็ช่วยให้คนได้พักจากการทำงาน

การได้หนีจากความจริงในช่วงเวลาสั้นๆ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ที่อาจสร้างให้เกิดประโยชน์จริง Mindful Wandering จึงเป็นเหมือนภาวะหนึ่ง ที่จิตใของเรานั้นเป็นเจ้าของตัวเองอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้มีนักออกแบบและศิลปินอีกหลายคน ที่สร้างผลงานภายใต้แนวคิดเรื่องความน่าเบื่อ ยกตัวอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ Boring Collection จากแบรนด์ Lensvelt ที่ร่วมมือกับบริษัทสถาปนิก Space Encounters ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ภายในสำนักงาน ที่มีทั้งเก้าอี้ โต๊ะรับแขก นาฬิกา ไปจนถึงถังขยะ ที่ล้วนแต่เป็นสีเทา

โดยไอเดียของเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นนั้น ต้องน่าเบื่อสุดๆ ดีไซเนอร์กล่าวว่า คอลเล็กชั่นนี้ เป็นการออกแบบเพื่อการใช้งาน คำนึงถึงฟังก์ชั่น ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความสวยงาม ที่สำคัญ ต้องไม่น่าดึงดูดใจ

สองนักวิจัยอย่าง แซนดิ มานน์ (Sandi Mann) และรีเบคก้า คาดแมน (Rebekah Cadman) แห่งมหาวิทยาลัยเซนทรัลแลงคาไชร์ ได้ทดลองกระตุ้นพลังของความคิดสร้างสรรค์ ที่เกิดจากอาการเบื่อหน่าย โดยการทดลองแรก ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวน 80 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกต้องคัดลอกเบอร์โทรศัพท์ที่อยู่ในมือถือลงบนกระดาษ และอีกกลุ่มไม่ต้องคัด

หลังจากให้ทดสอบตามโจทย์ คิดเรื่องความเป็นไปได้ในการใช้ถ้วยพลาสติก ผลปรากฏว่า กลุ่มที่คัดลอกเบอร์โทรศัพท์นั้นมีไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากกว่า ในรายงานการวิจัยนี้จึงสรุปว่า “กิจกรรมการเขียนเป็นการยับยั้ง และทำให้เกิดการฝันกลางวัน ซึ่งเป็นภาวะที่จำเป็นต่อการสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ และการวาดรูปเล่นในระหว่างวัน ก็เป็นหนึ่งในช่องทางการพัฒนาประสิทธิภาพ ของการตระหนักรู้ของบุคคล”

ถ้าอาการเบื่อหน่าย คือช่วงเวลาที่ทำให้เราได้หลบหนีจากความจริงชั่วคราว ขณะเดียวกัน ก็เป็นภาวะที่ทำให้เรารู้สึกตัวถึงความสำคัญของกิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่ด้วย อาการเบื่อจึงเป็นทั้งเรื่องของอารมณ์ กระบวนการคิด และประสบการณ์ทางสังคม ดังนั้น ความเบื่อหน่ายจึงเป็นการเตือนให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราไม่ต้องการทำ และให้เรารู้ตัวถึงสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ นับเป็นการผลักดันให้เกิดแรงจูงใจ เพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยความคิดสร้างสรรค์

 

Reviews

Comment as: