อนาคตใหม่ของระบบการศึกษา

By : Kamolkarn Kosolkarn


จากการทดลองกับประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นพบว่าในปัจจุบันมีระบบการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากรูปแบบโรงเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างทางสังคม และการที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับสถานที่ที่เป็นทางเลือกของการศึกษามากกว่าโรงเรียนในรูปแบบเดิม มาดูกันว่าอนาคตใหม่ของการศึกษานั้นจะเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ให้มีหน้าตาและรากฐานเป็นอย่างไร

ไม่ใช่รายวิชา แต่เป็นการรู้จักสร้างสรรค์

บทบาทของศิลปะและการออกแบบในระบบการศึกษาใหม่ เมื่อโรงเรียนต้องการที่จะให้เด็กนักเรียนขยายเขตแดนของจินตนาการ รู้จักคิด และฝันให้ไกล การสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการศึกษาทางเลือกใหม่ในอนาคต ยกตัวอย่างจาก พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (V&A) ในลอนดอน เปิดตัว DesignLab Nation, a national programme โครงการด้านศิลปะและการออกแบบในเดือนกันยายนปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อโปรโมทและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการศึกษาวิชาออกแบบ หรืออย่าง School of Machines, Making& Make Believe ในกรุงเบอร์ลิน พื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนได้ปลดปล่อยจินตนาการออกมาอย่างเต็มที่ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า “นักเรียนของเราพร้อมที่จะปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์จากภายในตัวของพวกเขา ออกมาด้วยวิธีในรูปแบบของตัวเอง”

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ยิ่งมีทางเลือกของการศึกษาแบบสร้างสรรค์มากขึ้นเท่าไหร่ การมุ่งเน้นไปยังศิลปะและการออกแบบสำหรับคนเจอเนอเรชั่นใหม่ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

ไร้กฎ แต่ไม่ไร้กรอบ

เมื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในโรงเรียนไม่มีกฎบังคับ…

โรงเรียนทางเลือกบางแห่งกำลังทดลองโครงสร้างการสอนแบบใหม่ที่ไม่มีกฎเกณฑ์มากอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ตัวอย่างเช่น Ecolé 42 ที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศส Xavier Niel มหาวิทยาลัยที่ฉีกทุกการสอนแบบเดิม เพราะสถาบันแห่งนี้ไม่มีอาจารย์ ไม่มีหนังสือ ไม่มีตารางเรียน นักศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรตามความถนัดและเวลาของแต่ละคน เช่นเดียวกับที่ Evangelical School Berlin Centre ที่คิดค้นรูปแบบการสอนใหม่โดยไม่มีกฎเรื่องการเรียน ไม่มีการตัดเกรด ไม่มีตารางวิชา ไม่มีระเบียบวาระ นักเรียนสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าวิชาไหนที่ต้องการเรียนและเมื่อไหร่ที่ต้องการสอบ โรงเรียนจะมุ่งเน้นการสร้างความมั่นใจให้กับเด็กเล็กอายุ 3 ขวบเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีความมั่นใจในตัวเองมากที่สุดช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะถูกลดทอนลงเมื่อเข้าเรียนในหลักสูตรทั่วไปตามปกติ ปรัชญาในการทำโรงเรียนรูปแบบใหม่นี้ก็คือ เมื่อตลาดแรงงานมีความต้องการที่เปลี่ยนไปและอินเตอร์เน็ตกับมือถือเข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข้อมูลของเด็กรุ่นใหม่ ทักษะที่สำคัญที่สุดที่โรงเรียนจะมอบให้กับเด็กได้คือความสามารถในการกระตุ้นและผลักดันตัวเอง วิธีคิดเช่นนี้ทำให้รูปแบบการสอนประสบความสำเร็จมากในประเทศเยอรมัน ส่งผลให้อีกหลายโรงเรียนเริ่มนำโมเดลนี้ไปปรับใช้

ห้องเรียนแห่งอนาคต

เมื่อเจนเนอเรชั่น X, Y หรือมิลเลนเนียลในวันนี้ไม่ได้เลยวัยแห่งการเรียนรู้ การศึกษาจึงไม่ถูกจำกัดให้เป็นเรื่องเฉพาะเด็กอีกต่อไป แต่ยังเป็นการใช้เวลาว่างและการเรียนรู้อันไม่สิ้นสุดของผู้ใหญ่ การศึกษาตามความสนใจเฉพาะของแต่ละคน เป็นโปรเจคของการเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ ตัวอย่างจาก Fluent City ที่แสดงให้เห็นว่าห้องเรียนแห่งอนาคตจะหน้าตาเป็นแบบไหน สตาร์ทอัพจากนิวยอร์กที่คว้าเงินลงทุนไปได้ถึง 2.5 ล้านเหรียญนี้ใช้วิธีการสอนเฉพาะและการทดลองเชิงปรัชญาที่อยู่นอกเหนือมิติทางภาษา แต่เป็นการเรียนผ่านอาหาร เครื่องดื่ม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โรงเรียนนี้ต้องการสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสาขาศิลปศาสตร์ เพื่อสร้างศูนย์กลางของการเรียนรู้ข้ามสาขา สำหรับกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องลักษณะตามจิตวิทยา หรืออีกหนึ่งตัวอย่างจาก 2btube โรงเรียนที่สอนผ่านเว็บไซต์ยูทูป สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องการ “โตไปเป็น youtuber” โดยจะพาไปเข้าค่ายติวเข้มเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อฝึกสอนให้เป็นซูเปอร์สตาร์ออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรงเรียนในวัฒนธรรมสมัยใหม่จึงเป็นการเรียนรู้แบบไม่จำกัดช่วงวัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโมเดลการศึกษานั้นอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ ทดลอง เพื่อหารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนในปัจจุบันให้เหมาะสมมากที่สุดต่อไป

 

Reviews

Comment as: