ความคิดสร้างสรรค์จากการผลัดถิ่น

By : Kamolkarn Kosolkarn


ในยุคสมัยที่ใจกลางเมืองนั้นเต็มไปด้วยพลวัตที่ไหลเร็ว จนจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่มาจากพื้นที่ชานเมือง ไม่ว่าจะเรียกในชื่อ ชนบท ชานเมือง ชายแดน หรืออะไรก็ตามแต่ พื้นที่เหล่านี้ในอดีตเคยอยู่เบื้องหลัง ในฐานะผู้สนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ให้เมืองใหญ่

แต่เทรนด์ในปี ค.ศ.2018 พื้นที่รอบนอกเหล่านี้จะกลายเป็นจุดกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะจากพื้นที่ในแถบยุโรปตะวันออก (โปแลนด์, ฮังการี, โรมาเนีย, บัลแกเรีย และอดีตยูโกสลาเวีย) ที่จะสร้างอิทธิพลด้านการออกแบบไปทั่วโลก ซึ่งจะไม่ใช่กรุงปารีส มิลาน หรือนิวยอร์ก เมืองรอบนอกจะชนะใจได้ด้วยความสวยงามตามจริง สุนทรียะที่เรียบง่าย และจะกลายเป็นหัวใจของผลงานดีไซน์ต่างๆ

ความคิดสร้างสรรค์จากการผลัดถิ่น

อัตราการอาศัยอยู่ในเมืองต่อประชากรของโลกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในปี ค.ศ.2017 มีเมืองที่เป็นมหานครถึง 37 เมือง (มหานครคือเมืองใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป) ทั้งโตเกียว จาการ์ตา มอสโคว บัวโนสไอเรส และรวมถึงกรุงเทพฯ โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรในเมืองจะเพิ่มจาก 3.9 พันล้านคนสู่ 6 พันล้านคนในปี ค.ศ.2045 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์การหลั่งไหลจากชนบทเข้าสู่ใจกลางเมืองมากขึ้น ให้ผลลัพธ์เป็นการเกิดขึ้นของความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากหลากที่มา ไม่ใช่แค่เพียงในระดับเมือง แต่เป็นการหลอมรวมของความแตกต่างนี้ในระดับโลก

เหล่าเมืองต่างๆ จึงต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับการไหล่บ่าของความคิดสร้างสรรค์ที่เข้ามาอย่างท่วมท้น เมื่อที่อยู่อาศัยหรืออาคารสำนักงานต่างๆ ใจกลางเมืองนั้น ผู้คนไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ด้วยค่าเช่าที่แพงมากขึ้นหลายเท่าตัว หรือระบบการคมนาคมที่พัฒนามารองรับการเดินทางกระจายออกไปสู่ชานเมืองมากขึ้น ทำให้ได้เห็นการปรากฏของสถานที่ใหม่ๆ มากมาย

ยกตัวอย่างเช่น แกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย เทิร์นเนอร์ เปิดตัวพร้อมกับการเปิดตัวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองมาร์เกต (Margate) เมืองติดทะเลในตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ และกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปินร่วมสมัย หรือการฟื้นคืนย่านวัฒนธรรมในสหรัฐอเมริกา อย่างเมืองแนชวิลล์ (Nashville) ในรัฐเทนเนสซี เป็นต้น

(ชาน) เมืองฉลาด

ความเจริญของเมืองที่กระจายตัวออกนั้น มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่โลกน้อมรับอย่าง เมืองฉลาด (Smart cities) ที่มีเครื่องมือสำคัญคือ Internet of Things: IoT เป็นผู้ช่วยพัฒนาเมือง มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2019 IoT จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 1.7 แสนล้านดอลลาร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยเติบโตขึ้น

ตัวเลขของอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ทั้งหลอดไฟ LED ตัวล็อคอัตโนมัติ หรือเซนเซอร์ต่างๆ จะมีการใช้งานจริงที่ 1 พันล้านหน่วยในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านหน่วยในปี 2020 ที่จะมาถึงและสัญญาณอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าใจกลางมหานครอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป

เมื่อในปีนี้มีการแบนรถยนต์ในเขตเมืองมากขึ้น หรือการที่เหล่าตำรวจในเมืองแคลิฟอร์เนียปรับเงินผู้อยู่อาศัยในเมืองถึง 500 ดอลลาร์ (ราว 17,500 บาท) ถ้าหากค้นพบว่าบ้านไหนใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยในช่วงหน้าร้อน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่ใส่ใจพื้นที่สีเขียว หรือการออกแบบพื้นที่ชานเมืองใหม่ให้เป็นมิตรกับคนเดินเท้า ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการวางผังเมืองระยะยาวต่อไป

การบรรจบกันของชานเมืองและใจกลางเมือง ยังก่อให้เกิดสุนทรียะของการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมา อาทิ ทิวทัศน์ใหม่ ที่ที่หญ้าเจอคอนกรีต อาคารรูปทรงที่ผสมผสานแปลกตา รวมถึงอาจเป็นชุดชาวสวนชาวไร่ที่อยู่ร่วมกับชุดของหนุ่มสาวออฟฟิศได้ลงตัว ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบอกเล่าให้เห็นถึงรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ของอนาคต ที่กำลังเดินทางมาในช่วงเวลาอันใกล้นี้

 

Reviews

Comment as: