“The Rapper” จากกิจกรรมของคนสลัมสู่วัฒนธรรมเมนสตรีมของโลก

By : Pantavit Lawaroungchok


ปฎิเสธไม่ได้ว่าในตอนนี้กระแสของ Hip-Hop ในประเทศไทยกำลังเบ่งบาน หลังจากที่เงียบหายไปช่วงหนึ่งมานานกว่า 10 ปี… ก็ต้องยกเครดิตนี้ให้กับรายการ “The Rapper Thailand” รายการที่ทาง Workpoint Entertainment ได้ร่วมงานกับ บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด และ ทีม Rap is Now กลุ่ม Community ที่รักการแร็ป ซึ่งเป็นฐานกลุ่ม Underground เล็กๆ ที่ขยายวงขึ้นมาจากการจัดกิจกรรมแข่งขัน “Rap Battle” ตะเวน Roadshow ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย… เป็นที่รวมตัวของกลุ่มคนไทยที่ชื่นชอบสุดสายทางวัฒนธรรม Hip-hop… ถ้าใครยังไม่เคยรับชม ลอง Search ช่อง YouTube แล้วลองพิจารณาดูจะพบว่า ความดุดัน ความสด ความเดือด ความเฉียบ ถือเป็นต้นทางของรายการที่แท้ทรู
.
ในประเทศไทยนั้น Hip-Hop ได้เข้ามาในช่วงยุค 90 ผ่านศิลปินหลายท่าน อาทิ Technical Knock Out / T.K.O, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, ขันเงิน เนื้อนวล (ขันเงิน วง Thaitanium) เป็นต้น ส่วนที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ต้อง พี่เจ เจตริน ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบ Original สายทาง Rapper ในประเทศไทย… แล้วก็ตามมาด้วยกลุ่ม Pioneer ที่ทำให้สังคมเด็กแร็ปเฟื่องฟู มีทั้งบนดินอย่าง เจ้าพ่อวงการแร็ป พี่โจ้ โจอี้บอย และคณะก้านคอคลับ, คณะไทเทเนียม และวงใต้ดินอย่าง ดาจิมแร็ปไทย และอื่นๆ อีกมากมาย… ซึ่งหลังจากนั้น ก็ยังมีศิลปินแร็ปรุ่นใหม่อีกมาก รันวงการอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แต่กระแสความนิยมก็เริ่มที่จะเบาบางลง พร้อมกับกระแสวัฒนธรรมดนตรีที่ปรับเปลี่ยนไป กระแสไอดอล Boy band, Girl group เข้ามาแทนที่ แต่เพลงแร็ปก็ไม่เคยสูญหายไป เพียงแต่แปรรูป วิวัฒนาการไปอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของทุกกระแสดนตรีที่ตามมา จนมาถึงก่อนยุคปัจจุบันย้อนไปสัก 4 ปีที่กระแสปาร์ตี้ และเทศกาลดนตรีสังเคราะห์ EDM (Electronic Dance Music) ได้เข้ามามีบทบาทกลืนกินทุกกระแสดนตรีจากทั่วโลกในระยะเวลาหนึ่ง
.
แต่ในอเมริกาต้นทางแห่ง Hip-hop นั้นได้ถือกำเนิดวัฒนธรรมนี้ขึ้นมาตั้งแต่ช่วง Late 70’s จนถึงต้น 80’s ในขณะที่ ณ ขณะนั้นดนตรี Disco ที่ตอบสนองการเข้าสังคมอันหรูหราของคนเมืองในมหานครแห่งทุนนิยม “นิวยอร์ค” กำลังเฟื่องฟู…แต่ในขณะเดียวกันยังมีอีกฟากของเมืองคือ ภาพของแหล่งชุมชนแออัด แหล่งเสื่อมโทรม อย่างย่าน “Bronx” (บร็องซ์)… ย่านที่ถูกทอดทิ้งจากสังคม เพราะเป็นที่อาศัยของเหล่าคนผิวสี ที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด การทะเลาะวิวาท มาเฟียท้องถิ่น อาวุธสงคราม แบ่งกลุ่มแก็งค์ในการปกครองตนเอง เป็นที่ที่แม้แต่ตำรวจเองยังไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว… ก็ได้ถือกำเนิดเพลงแร็ปโดย DJ Kool Herc ซึ่งได้บังเอิญพบเสียงที่ถูกเมิน ที่เกิดขึ้นจากการ Scratch ของแผ่นเสียงแล้วเกิดบีทจังหวะซ้อนทับใหม่ๆ ในบทเพลงที่เคยคุ้นหู แล้วนำเอาถ้อย “ไรม์” (Rhyme) บทกลอน คำคล้องจอง หรือที่เราเรียกว่า ”การแร็ป” มาพ่นด่าใส่กันบนจังหวะใหม่นั้น… ส่วนในช่วงเปลี่ยนสับเปลี่ยนเพลง จำเป็นต้องมีการสลับแผ่นเสียง ก็ทำให้เกิดกิจกรรม Hip-hop ต่างๆ ที่ถูกนำมาเล่นในช่วงพัก Break นั้นไม่ว่า Beat box การสร้างจังหวะเลี้ยงโดยการใช้ลมในการเป่าปากกับไมค์ หรือการเต้นระหว่างพักคอย Break dance หรือที่พัฒนามาเป็นการเต้น B-Boy นั่นเอง ….
.
กิจกรรมการ Rap และ Hip-hop ได้รับความนิยมจนถึงขีดสุดในหมู่ผู้คนชาวย่านบร็องซ์จนถึงขนาดที่ว่า คนผิวดำชาวแก็งค์ต้นทางของฉายา A.K.A. (also known as) “AFRIKA BAMBAATAA” เจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพล เขาได้ตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า “Zulu nation” ให้เป็นพื้นที่ของคนที่ใช้อาวุธที่เรียกว่าการแร็ปมาโต้ตอบ Battle กัน แทนการใช้กำลังอาวุธสงคราม และความรุนแรงเหมือนอย่างเคย… จากการซ่องสุมเสพยาก็เปลี่ยนมารวมตัวกันสร้างเพลง… จากย่าน Dark City ที่น่ากลัวในสายตาผู้คนภายนอก เป็นปัญหาสังคมที่แก้ไขไม่ได้ในระดับประเทศ แม้แต่ตำรวจยังไม่อยากยุ่ง มาสู่ย่านที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงและเป็นบ่อเกิดแห่ง “วัฒนธรรม Hip-hop” หนึ่งในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เติบโตแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วที่สุด กลายเป็นกรณีศึกษาเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาเปลี่ยนแปลงเมืองที่ได้ผลที่สุดอีกเคสหนึ่งของโลก
.
Hip-hop ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรมการบันเทิงของคนดำเท่านั้น หากแต่เป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ สะท้อนปัญหาทางสังคม และการแบ่งแยกทางชนชั้นของคนสลัมมาสู่ท่อนแร็ปในบทเพลง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสียง ต่อรองกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงเป็นการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ส่งต่อออกไปในวงกว้าง เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่คิดเหมือนกันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในสังคมเมืองต่อไป… ในบริบทนี้จะเห็นได้ว่า Hip-hop คือ “การแสดงออกทางความคิด” จึงทำให้มันไม่ได้จบแต่เพียงแค่เสียงเพลงเท่านั้น… หากรวมการเป็นอยู่ ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงแฟชั่นการแต่งตัวและอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้คนจะสามารถถ่ายทอดออกมาผ่านชีวิตในรูปแบบต่างๆ ลองคิดดูว่าผู้คนที่ชื่นชอบ Hip-hop มีอยู่มากแค่ไหนกันล่ะ? ทำอาชีพอะไรบ้าง? กระจายไปอยู่ในแวดวงต่างๆ บางคนเป็นคนทำงาน บางคนเป็นผู้บริหาร และอีกหลายคนที่เป็นชนชั้นผู้นำปกครองประเทศ… Hip-hop จึงไม่ได้เป็นเพียง “กิจกรรม” แต่มันเป็น “วัฒนธรรม”
.
ยกตัวอย่าง ศิลปินแร็ปยุคปี 80’s ยุคบุกเบิกย่าน Queens อย่าง RUN D.M.C ผู้ที่มองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ออกมาพูดผ่านท่อนแร็ป และเสียงเพลง จากภาพภายนอกที่คนมองว่าพวกเขาเป็นเด็กสลัมผิวสีคือ คนไม่ดี เป็นปัญหาต่อสังคม แต่ก็ได้พิสูจน์ตัวเองจนกระทั่ง ก้าวขึ้นมาเป็น Super Star มีบทเพลงดังอย่าง “My Adidas” ได้รับการยอมรับจาก Brand ระดับโลก… ในบทเพลงพูดถึงการต่อสู้ทางชนชั้น และความฝันของสลัมบอยอย่างชัดเจน… เรื่องของเสื้อผ้าของเด็กสลัมที่ส่วนใหญ่จะได้มาจากการบริจาคของผู้คน โดยส่วนมากนั้น จะเป็นเสื้อผ้ากีฬาที่ผู้คนไม่ใช้แล้ว คละไซส์จนไม่สามารถระบุขนาดที่จะพอดีกับตัวได้… และในช่วงยุคนั้น Adidas ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่ง “American Dream” เป็นชุดเครื่องแต่งกายที่เป็นเหมือนความใฝ่ฝันของเด็กยากจน เพราะราคาแพง ไม่มีโอกาสได้ซื้อ… นี่ก็เป็นที่มา ต้นทางของแฟชั่นชุดกีฬา Sport wear กับการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลวมโคร่ง Over size ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันนอกจากการเล่นกีฬา
.
เรื่องราวของวัฒนธรรม Hip-hop ที่มีผลแทรกซึมไปสู่สังคม เศรษฐกิจ การเมืองของโลกยังมีอีกมาก หลายๆ อย่างที่อยู่รอบๆ ตัวใกล้กับชีวิตเรา ก็มีต้นทางมาจากสิ่งนี้แต่เราอาจจะไม่รู้… ทำไมพวกแร็ปเปอร์ถึงต้องแต่งตัวจัด?… วัฒนธรรมของปลอมคืออะไร?… Hip-hop จะช่วยแก้ปัญหายากๆ ในสังคมได้อย่างไร? อีก 3 ตอนต่อจากนี้ ผมขอนำพาทุกท่านไปเรียนรู้เรื่องราวของ “The Rapper” ไปด้วยกันนะครับ แล้วเราจะได้เห็นว่ามันเป็นได้มากกว่าที่เห็นจริงๆ
.
“Hip-hop culture’s not just about the music, it’s also about a lifestyle. It’s people who are free, who are exploring their creativity through a kind of free format of words, rhyme, language, music, or visual style.
Andre leon talley, Former Editor Vogue Magazine
“ฮิปฮอปเป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ดนตรีเท่านั้น มันยังรวมถึงการดำเนินชีวิตด้วย มันคืออิสระชน สำหรับคนที่กำลังเสาะหาความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น ผ่านรูปแบบที่ไร้กฎเกณฑ์ อย่าง เนื้อร้อง คำสัมผัส ภาษา ดนตรีหรือสไตล์ของภาพ”
อันเดร ลีออน ทาลลีย์, อดีตบรรณาธิการนิตยสารโว้ค
.
ที่มา
- “Hip-hop”, https://en.wikipedia.org
- “จากใต้ดิน สู่บนดินอย่างเป็นทางการกับรายการ The Rapper Thailand”, www.fungjaizine.com
- “The Golden Era : ย้อนเวลาตามหาแร็พเปอร์ไทยยุค 90s”, www.favforward.com
- “EDM เสียงดนตรีที่ไม่ใช่แค่ “กระแส” อีกต่อไป”, http://marketeer.co.th
- ย่าน Bronx ปาร์ตี้ และ DJ Kool Herc ผู้ให้กำเนิดดนตรีฮิปฮอปและเพลงแรป, https://thestandard.co
- ศัพท์ Rap ที่ควรรู้ก่อนดู The Rapper Thailand, http://crossboxs.com
- สารคดีชุด “Rapture”, Netflix
- Fresh Dressed documentary
- ประวัติ Tupac นักร้องฮิปฮอป 2pac ตำนาน God of Hip-hop | อสมการ, https://www.youtube.com
ประวัติศาสตร์ Hip Hop [ตอน 1] ฮิปฮอปแห่งมวลมนุษยชาติ Rap MC DJ Graffiti B-boy | อสมการ , https://www.youtube.com
- ประวัติศาสตร์ Hip Hop [ตอน 2] ฮิปฮอปคืออะไร Rap MC DJ Graffiti B-boy | อสมการ, https://www.youtube.com

หมายเหตุ : ภาพนี้จัดทำเพื่อใช้ประกอบบทความเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ ห้ามนำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

Reviews

Comment as: