เหม่อลอยอย่างไรให้ได้ดี

By : Dr.Piyapong Sumettikoon


ขณะที่นั่งรถติดอยู่ในวันแรกของการทำงาน หลังจากหยุดยาวช่วงปีใหม่ ใจผมไม่ได้คิดถึงเรื่องการขับรถเลย แต่กลับไปคิดจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ต้องทำในปีใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ครอบครัว  หรือเศรษฐกิจ โดยที่ผมไม่ได้รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังคิดถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ จนกระทั่งถูกรถคันหลังบีบแตรไล่เพราะไฟเขียวแล้ว

ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะมีประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ หรืออย่างน้อยสมัยเรียนหนังสือ แม้ว่ามือจะถือปากกา ตาจะมองกระดานดำ แต่หูไม่ได้ฟัง และสมองไม่ได้รับรู้เรื่องที่คุณครูกำลังสอนอยู่เลย เพราะใจกลับไปจดจ่ออยู่กับหน้าของรุ่นพี่ที่แอบเพ้อถึงอยู่บ่อยๆ อาการดังกล่าวนี้เราเรียกกันว่าการเหม่อลอย

การเหม่อลอย คือ ช่วงเวลาที่ใจหลุดพ้นจากความสนใจในกิจกรรมหลักที่กำลังปฏิบัติอยู่ โดยความสนใจมีการตลบตัวจากกิจกรรมหลัก ย้อนกลับเข้าหาความคิดภายในที่เกิดขึ้นเองอย่างไม่รู้ตัว แต่การเหม่อลอยก็ไม่ใช่การนั่งนิ่งอยู่เฉยๆ เหมือนกับที่ผู้คนเข้าใจจากความนิ่งที่ปรากฏทางกายภาพ แต่การเหม่อลอยประกอบไปด้วยความคิดที่วิ่งอยู่ในสมองอย่างลุ่มลึก โดยกระบวนการดังกล่าว สามารถส่งผลกระทบได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

Jonathan Smallwood และ Jonathan Schooler กล่าวถึงผลกระทบเชิงบวกของการเหม่อลอยไว้ว่า การเหม่อลอยมีประโยชน์ด้านการคาดคะเนสถานการณ์ โดยเวลาคนเหม่อลอย สมองจะสั่งการให้ใจครุ่นคิดถึงสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญในอนาคต เช่น การเหม่อลอยที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมสอบครั้งสำคัญของนักเรียน โดยการอ่านถูกขัดจังหวะด้วยความคิดเรื่องความคาดหวังของตนเอง พ่อแม่ หรือครูที่มีต่อการสอบในครั้งนั้น ใจของนักเรียนไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาในตำรา แต่กลับไปจดจ่ออยู่กับการคาดคะเนสถานการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นว่า หากสอบได้หรือไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรดี  ซึ่งผู้วิจัยเล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์ในด้านการคาดคะเนสถานการณ์ และเป็นการวางแผนและเตรียมความพร้อมทางจิตใจได้เป็นอย่างดี

การเหม่อลอยยังมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบการเรียนรู้ และการศึกษาอีกด้วย งานวิจัยของ Benjamin Baird และคณะฯ ที่ให้กลุ่มตัวอย่างเลือกของใช้ในชีวิตประจำวันมาหนึ่งอย่าง แล้วให้คิดวิธีการใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ได้หลากหลายที่สุด หลังจากนั้นจึงแยกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้กลุ่มหนึ่งคิดต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่พัก และให้อีกกลุ่มหนึ่งมีเวลาพักสมองและอยู่ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเหม่อลอย ผลปรากฏว่าเมื่อให้ทั้งสองกลุ่มกลับมาคิดหาวิธีเพิ่มเติมอีกครั้ง กลุ่มที่มีเวลาในการเหม่อลอย สามารถคิดวิธีการในการใช้สิ่งของนั้นเพิ่มเติมได้อย่างหลากหลายวิธีกว่ากลุ่มที่ไม่มีเวลาเหม่อลอยเลย

ในปี ค.ศ. 2013 ผลการวิจัยของ Shi Feng สวนกระแสทฤษฎีการเหม่อลอยแบบเดิมๆ ที่กล่าวไว้ว่า การอ่านเนื้อหาที่ยากจะทำให้ผู้อ่านเกิดความพยายามที่สูงกว่าปรกติ และผู้อ่านจะตั้งใจอ่านมากขึ้น เพราะหน่วยความจำในสมองจะทำงานอย่างหนัก และไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับการเหม่อลอย แต่ Shi Feng พบว่า การอ่านเนื้อหาที่ยากและซับซ้อน จะทำให้ผู้อ่านเกิดอาการเหม่อลอยได้มากกว่าการอ่านเนื้อหาที่ง่ายและไม่ซับซ้อน และจะส่งผลเชิงลบต่อการเรียนรู้ด้วย เพราะการเหม่อลอยทำให้ผู้อ่านอ่านไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจเนื้อหาในที่สุด

หากจะนำแนวคิดที่ได้จากผลการวิจัยดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับศึกษา การสลับและการดึงความสนใจจากการเอาใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป มาสู่สิ่งอื่นๆ บ้างระหว่างการเรียน เช่น การพักสมอง การพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ และที่สำคัญที่สุดคือการเล่น จะส่งผลให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ดร. Pasi Sahlberg นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ ยังได้เลือกที่จะเขียนประโยคว่า “Children must play” (เด็กควรต้องได้เล่น) เมื่อได้รับโจทย์ให้สรุปวิธีการเรียนรู้ในการสร้างพลโลกสำหรับอนาคตในหนึ่งประโยค ดังนั้นการเหม่อลอยและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ระหว่างการเหม่อลอยก็สามารถเป็นประโยชน์ต่อการเรียนได้ หากส่วนผสมในแต่ละวันประกอบไปด้วยเนื้อหาที่ไม่ยากจนเกินไป เปิดโอกาสให้คิดแบบเป็นอิสระ และมีการพักสมองควบคู่กันไป

 

Reviews

Comment as: