SOCIAL BUSINESS ส่วนตัว เพื่อส่วนรวม

By : Pattarakorn Vorathanuch


“โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน” เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้ หรือบางคนก็พูดคำนี้บ่อยๆ จนนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากสื่อต่างๆ หรือแม้แต่บทสนทนาของคนรอบตัว สืบเนื่องมาจากโลกยุคปัจจุบัน แวดล้อมไปด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาสังคมเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว

ในทางกลับกัน หากลองคิดใหม่ มองโลกในเชิงบวกว่า หากคุณได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้ คงจะดีไม่น้อย

คำถามคือ แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาแบบนี้กันได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นเพียงแค่มนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง?

ที่จริง การที่จะมีใครมาเปลี่ยนแปลงโลก หรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้สักคนหนึ่งนั้น ถือว่าเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำ

แต่หากลองเปลี่ยนตัวเองในมุมมองความคิด และเปลี่ยนสังคมที่อยู่รอบข้าง บางทีก็อาจเป็นไปได้โดยไม่ลำบากยากเย็นเกินไป เช่น การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจ

ในอดีต เราทุกคนล้วนต่างเคยเรียนรู้ หรือเคยถูกสอนมาว่า การทำธุรกิจต้องมุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไรสูงสุด เพียงแต่วิธีการในรูปแบบนั้น เป็นวิธีการทำธุรกิจในรูปแบบเก่าที่ล้าสมัย แตกต่างจากแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการของคนรุ่นใหม่

การทำธุรกิจเพื่อสังคม คือเทรนด์ใหม่ คือเทรนด์ที่โลกกำลังจับตามองและให้ความสำคัญ แตกต่างไปจากการธุรกิจรูปแบบอื่น และไม่เหมือนกับมูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลใดๆ ด้วยวิธีการออกแบบหรือการก่อตั้งธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาสังคมด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสามารถดำเนินกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาควบคู่กับการได้รับผลตอบแทนหรือกำไรเพื่อให้สามารถต่อยอดและดำเนินการธุรกิจเพื่อสังคมต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ในต่างประเทศนั้น ธุรกิจเพื่อสังคมยังมีกรอบแนวคิดหรือแนวทางการบริหารจัดการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจเพื่อสังคม จะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พนักงานในองค์กรจะต้องได้รับสวัสดิการที่ดี เทียบเท่ากับหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจตามมาตรฐาน หรืออาจมีการจัดสภาพแวดล้อมและสังคมการทำงานที่ดีกว่า ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจเพื่อสังคมรูปแบบนี้มีที่มาจากแนวคิดของศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจชาวบังคลาเทศ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นผู้ก่อตั้ง ธนาคารกรามีนแบงค์ ธนาคารที่มีแนวคิดเพื่อช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจน ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ปัจจุบันประเทศไทย มีหน่วยงาน ผู้ประกอบการใหม่ ทั้งนักธุรกิจและนักลงทุน ที่ให้ความสำคัญกับการก่อตั้งหรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม ในรูปแบบหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็กหรือรายย่อย เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ประกอบการ SME รุ่นใหม่ ที่ได้สร้างธุรกิจใหม่จากไอเดียแนวคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่าง เช่น บริษัท กล่องดินสอ ที่ได้ก่อตั้งธุรกิจขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้พิการทางสายตา ด้วยนวัตกรรมใหม่ ในรูปแบบปากกาและสมุดเล่นเส้น ทำจากเส้นไหมพรมและตีนตุ๊กแก ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถวาดรูปหรือขีดเขียน โดยสัมผัสเส้น (ไหมพรม) ที่วาดหรือขีดลงไปบนสมุด (ตีนตุ๊กแก) ได้

หรืออีกหนึ่งองค์กรธุรกิจ ที่มองเห็นถึงปัญหาของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากสาเหตุหลัก ด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างบริษัท U Drink I Drive กับแนวคิดธุรกิจที่อยากมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขหรือลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากคนที่เมาแล้วขับรถ โดยให้พนักงานเดินทางไปเป็นคนขับรถยนต์ของผู้ว่าจ้างที่ดื่มแอลกอฮอล์ ได้เดินทางกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยพร้อมกับรถของตัวเอง

ตัวอย่างการทำธุรกิจเพื่อสังคมของทั้งสององค์กรนี้ ล้วนเกิดจากแนวคิดของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่มองเห็นปัญหา และมีแนวคิดที่อยากสร้างธุรกิจเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคม ด้วยเหตุนี้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นปัญหา และตระหนักถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ หรือส่วนเล็กๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

https://www.youtube.com/watch?v=Z0gI29mxUHw

 

Reviews

Comment as: