Organic Chef Skill เชฟนักปรุงอาหารออร์แกนิค

By : Pattarakorn Vorathanuch
เริ่มแรก ถ้าคุณได้ยินชื่อของอาชีพนี้ “เชฟนักปรุงอาหารออร์แกนิค” คุณอาจจะคิดว่าเป็นแนวคิดหรือคอนเซปต์ของประเทศแถบตะวันตกแต่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยเราทำกันมาช้านาน ก่อนที่โลกจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคอุตสาหกรรมเพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบันนั้น มีผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ให้การตอบรับมากขึ้น ทั้งตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เกตตามศูนย์การค้าชั้นนำต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่างร้านที่ทุกคนรู้จักดี นั่นคือ Golden Place ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวง
เชฟนักปรุงอาหารออร์แกนิค แตกต่างจากเชฟปรุงอาหารทั่วไปตรงที่ เชฟต้องมีความรู้และทักษะอย่างมากในการเลือกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในการปรุงอาหาร ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และที่สำคัญคือ เชฟจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการปรุงแต่งอาหาร ที่จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าของอาหารนั้นน้อยที่สุด หรือต้องไม่ให้มีสารเคมีเจือปน หรือให้เจือปนน้อยที่สุด เราจึงเรียกอาหารในลักษณะนี้ว่า อาหารคลีน หรือ “Clean Food” นั่นเอง
อาหารคลีน (Clean Food) กำลังกลายเป็นที่ยอมรับ และเป็นตลาดใหม่ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ด้วยวิถีการใช้ชีวิตของคนเมืองซึ่งเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ตลอดทั้งการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีเจือปนต่างๆ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่เริ่มมีความตระหนัก หันมาใส่ใจและเลือกวิถีการบริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของสุขอนามัยเท่านั้น แต่อาหารคลีน (Clean Food) ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลุ่มคนที่ต้องการรับประทานอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก
การทานอาหารคลีน (Clean Food) ที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่แค่การทานผักและผลไม้เยอะๆ เท่านั้น แต่ที่ถูกต้องคือ การทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ต้องมีทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากนั้น อาหารคลีนก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีเนื้อสัตว์ เพียงแต่เนื้อสัตว์ที่นำมาใช้ในการปรุงอาหารนั้น ควรเลือกแบบที่ไม่สำเร็จรูปหรือผ่านการปรุงรสมาแล้ว
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า คำว่า อาหารคลีน (Clean Food) มีความหมายอยู่ 2 นัย ความหมายแรกหมายถึงอาหารที่ไม่ปนเปื้อน มีประโยชน์ ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย อีกความหมายคืออาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ดังนั้น คำว่าคลีนฟู้ดก็คือ อาหารที่ปลอดภัย ไม่ปนเปื้อน และถูกหลักโภชนาการ
กระแสการรักสุขภาพ ทำให้แนวโน้มการรับประทานอาหารคลีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดความต้องการเชฟนักปรุงอาหารออร์แกนิค ที่จะมาเป็นผู้ทำอาหารคลีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อาชีพดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าจะสร้างโอกาสที่ดีทางธุรกิจ และสามารถต่อยอดได้อีกมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจคลีนฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่น่าจะตอบโจทย์กลุ่มคนเมืองที่รักสุขภาพได้เป็นอย่างดี…
ทักษะที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับเชฟนักปรุงอาหารออร์แกนิค
- ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการโดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ สารอาหารตามหลักโภชนาการ เช่น ธาตุน้ำตาล เกลือแร่ น้ำ วิตามิน เพื่อให้สามารถจัดสรรสัดส่วนของอาหารแต่ละมื้อได้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
- ความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น
- ความรู้ความเข้าใจสรรพคุณอาหาร วัตถุดิบแต่ละชนิด เช่น อาหารแต่ละชนิดมีสรรพคุณรักษาโรคได้อย่างไรบ้าง อาหารประเภทใดที่ผู้มีโรคประจำตัวควรหลีกเลี่ยง เป็นต้น
- ความคิดสร้างสรรค์