Lawyers specialized in Relationships ทนายด้านความสัมพันธ์

By : Pattarakorn Vorathanuch


ทนายความ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ดูดี มีเกียรติ และมีความมั่นคง สำหรับในต่างประเทศนั้น อาชีพทนายความ ถือว่ามีความสูงส่งเทียบเท่ากับกับอาชีพแพทย์ คือเป็นความรู้ชั้นสูง เป็นวิชาชีพที่ช่วยเหลือผู้คน และมีความสำคัญเป็นอย่างมากในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน

ด้วยจำนวนของประชากรที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และด้วยการเปิดกว้างของโลก รวมทั้งความหลากหลายของวัฒนธรรม ค่านิยม ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และกระบวนการความคิดความเชื่อที่ไม่ได้ปิดกั้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมมีการกระทบกระทั่ง และเกิดปัญหาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทบาทที่สำคัญของอาชีพทนายความ

ปัจจุบัน ทนายด้านความสัมพันธ์ ถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ให้ความรู้ และคำแนะนำในปัญหาเฉพาะตัวบุคคลแล้ว ยังสามารถช่วยรักษาผลประโยชน์และสิทธิอื่นๆ เช่น การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย การว่าความคดีอาญาและคดีแพ่ง ให้คำแนะนำแก่ลูกความเกี่ยวกับปัญหาธุรกิจในแง่ของกฎหมาย และทำแทนลูกความในเรื่องต่างๆ ดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในนามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของลูกความ

จากข้อมูลเชิงสถิติ บ่งบอกว่า ประเทศที่มีความเจริญมากเท่าไหร่ ก็ย่อมมีปัญหากระทบกระทั่งมากตามมาด้วย และปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันครอบคลุมความหลากหลายทางเพศและความสัมพันธ์อื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นทนายด้านความสัมพันธ์ จึงเปรียบเสมือนคนกลาง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงตามโลกอย่างไม่จบสิ้น

คุณลักษณะของผู้ประกอบอาชีพทนายความ

ผู้ที่จะเข้ามาทำอาชีพทนายความ ควรเป็นผู้ที่มีความสำนึกที่ดี มีความยุติธรรม ซื่อสัตย์  ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจรรยาบรรณ รู้จักเคารพในสิทธิของคนอื่นๆ มีความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน มีความสามารถและความถนัดในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน หากสามารถพูดหรือเขียนภาษาต่างประเทศได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี และนอกจากนั้น ควรมีความสนใจใฝ่รู้ กล้าแสดงความคิดเห็น มีลักษณะความเป็นผู้นำ มีบุคลิกภาพดี มีความสำนึกทางสังคม และมีความรับผิดชอบในวิชาชีพของนักกฎหมาย

ความก้าวหน้าของสายอาชีพทนายความ

นอกเหนือจากบทบาทการเป็นทนายความแล้ว ยังสามารถเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของหน่วยงาน เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของหน่วยงาน เป็นพนักงานอัยการ และก้าวไปสู่การเป็นผู้พิพากษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นทนายด้านความสัมพันธ์ที่มีความรู้ความสามารถสูง อาจนำความรู้ที่มีไปปรับใช้กับอาชีพอื่นได้อีกมากมาย เช่น นักการเมือง ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน เจ้าหน้าที่การเงิน หรือครู อาจารย์ และหากมีความรู้ทางกฎหมายระหว่างประเทศ อาจได้รับการว่าจ้างให้เป็นทนายความว่าความในต่างประเทศ หรืออาจเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจาทางด้านกฎหมาย หรือสิทธิประโยชน์ของประเทศได้อีกด้วย

ข้อมูลส่วนอื่นๆ ของอาชีพทนายความ

ทนายความในแต่ละประเทศอาจมีศัพท์เรียกแตกต่างกัน เช่น Barrister-At-Law หรือ Attorney หรือ Solicitor ซึ่ง Barrister-At-Lawyer ซึ่งหมายถึง ทนายความที่ว่าความในศาล ส่วน Solicitor จะเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่ไม่ได้ว่าความ ในสหรัฐอเมริกาจะเรียกทนายความว่า Attorney หรือ Lawyer ซึ่งว่าความได้ และเป็นทนายความเพียงประเภทเดียว บางครั้งมีผู้แปลคำว่า Lawyer ว่านักกฎหมาย

แต่สำหรับในประเทศไทย การเป็นทนายว่าความ จะต้องสอบใบอนุญาตว่าความ (ตั๋วทนาย) จากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อน โดยไม่จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิต แต่จะต้องเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตสภาในพระบรมราชูปภัมภ์

 

Reviews

Comment as: