สถาปนิกสีเขียว (Green Architect)

By : Pattarakorn Vorathanuch


เพราะมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติ ธุรกิจสีเขียวที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติได้กลายเป็นกระแสความนิยมในตลาดโลกยุคปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านจิตสำนึกและการลงมือปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการบริโภคสินค้าและบริการ เพื่อช่วยลดปัญหาอันเกิดจากวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ปรากฏการณ์เรือนกระจก เกาะความร้อน หรือ ฝนกรด ฯลฯ ด้วยเหตุนี้โอกาสในการเติบโตของกลุ่มธุรกิจสีเขียวจึงยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความก้าวหน้าเทคโนโลยี นวัตกรรมการก่อสร้างอาคารและสถาปัตยกรรมต่างๆ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ข้อมูลของ United Nations ระบุว่า ในปี 2011 โลกมีประชากร 7 พันล้านคน โดย 3.6 พันล้านคนเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง มีสัดส่วนสอดคล้องกับเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่พัฒนาไปเป็นสังคมเมือง (Urbanization) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 52 % ทั่วโลก โดยในช่วงปี 2010-2015 อัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.97 % นั่นหมายความว่า ในอนาคตจำนวนอาคารก่อสร้างจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบจากอาคารต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สถาปัตยกรรมสีเขียวจึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการใช้ชีวิตด้วยการตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์ธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด คือ ต้องลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพลังงาน แต่เราไม่สามารถลดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนได้หากที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของเราไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจะไม่สามารถลดการใช้พลังงานได้เลยหากไม่มีการปรับเปลี่ยนอาคารสถานที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและประหยัดพลังงาน แนวคิด Sustainable Development หรือการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็น ‘การพัฒนาเพื่อให้โอกาสแก่คนรุ่นปัจจุบันดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ไปปิดโอกาสในการดำรงชีวิตของคนรุ่นหลัง’ นำมาสู่แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมให้คนสามารถอยู่ได้อย่างสบายโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด นั่นคือ หลักการออกแบบของสถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture) นั่นเอง

แนวคิดสถาปัตยกรรมสีเขียวเคยถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสความเคลื่อนไหวหนึ่งของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน และการร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อผ่านมาหลายทศวรรษได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สถาปัตยกรรมสีเขียวมิใช่เป็นเพียงแค่แฟชั่น หากสถาปัตยกรรมสีเขียวกำลังจะกลายเป็นทิศทางหลักของการออกแบบในปัจจุบัน

ประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับกระแสสถาปัตยกรรมสีเขียว จากตัวอย่างอาคารที่ผ่านมาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy & Environmental Design ซึ่งเป็นแบบประเมินอาคารของหน่วยงาน The U.S. Green Building Council ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ Green Architecture ที่อยากให้เป็นมากกว่ากระแส โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิชาการด้านเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของคนในสังคมให้หันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหวังว่าสถาปัตยกรรมสีเขียวจะได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมอย่างจริงจังมากกว่านี้

กระแสสถาปัตยกรรมสีเขียวนี้จะส่งผลให้ทิศทางการก่อสร้างนับจากนี้ต่อไปคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น นักผังเมือง นักธุรกิจในวงการอสังหาริมทรัพย์ และโดยเฉพาะสถาปนิก จะหันมาสร้างสรรค์งานสร้างอาคารบ้านเรือนและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วงการสถาปัตยกรรมในประเทศไทยเองก็กำลังผลักดันกระแสสถาปัตยกรรมสีเขียว โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดงานมอบรางวัล สถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่น จำนวน 9 อาคารเป็นปีแรกให้กับสถาปนิกเจ้าของอาคารเพื่อให้เป็นแรงผลักดันให้เกิดสถาปัตยกรรมสีเขียวเพิ่มขึ้น และจะจัดมอบรางวัลดังกล่าวในทุกๆ ปี

เมื่อผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และยินดีที่จะปรับวิถีชีวิตในมุมที่พอปรับได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน สถาปนิกจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมสีเขียวเพื่อคุณภาพที่ดีของผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ถ้าอยากเป็นสถาปนิกสีเขียว จะต้องเพิ่มพูนทักษะอะไรบ้าง ???

ทักษะที่จำเป็นเบื้องต้น
• ความรู้สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นองค์ความรู้เฉพาะด้าน สถาปนิกจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางจึงสามารถประกอบอาชีพสถาปนิกได้ เช่น สถาปัตยกรรมผังเมือง สถาปัตยกรรมภายใน เป็นต้น
• ทักษะการเขียนโปรแกรมออกแบบ CAAD สำหรับสถาปัตยกรรม (Computer-aided Architectural Design) จำเป็นในการช่วยออกแบบตัวอาคารก่อนสร้างจริง เช่น Maya, 3D Studio Max, AutoCAD Architecture 2015, Autodesk Revit Architecture 2015, AutoCAD Civil 3D 2015 เป็นต้น
• ความรู้ Interior Design วัสดุ องค์ประกอบทุกอย่างของอาคารสีเขียวจำเป็นต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบภายในไม่สามารถเน้นแค่ความสวยงาม สถาปนิกสีเขียวจำเป็นต้องมีทักษะการออกแบบภายในที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้จริง
• ความรู้ด้านอาคารสีเขียว ปัจจัย องค์ประกอบ รวมถึงมาตรฐานการประเมินอาคารสีเขียวทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ อย่างเช่น LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ซึ่งเป็นระบบประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของอาคาร หรือสิ่งก่อสร้าง ที่ได้รับการยอมรับ และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดทั่วโลก เป็นระบบที่ พัฒนาโดย U.S. Green Building Council (USGBC) สหรัฐอเมริกา Green Globe จากแคนาดา Green Star ของออสเตรเลีย Green Mark ของสิงคโปร์ หรือในประเทศไทยเองสถาปนิกสีเขียวจำเป็นต้องรู้จัก TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) เป็นเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย โดยสถาบันอาคารเขียวไทย จากความร่วมมือของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2551

แหล่งเรียนรู้เบื้องต้น ได้แก่
• สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ติดตามกิจกรรม ข้อมูล ข่าวสาร สัมมนาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมสีเขียว
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.asa.or.th
• สถาบันอาคารเขียวไทย สามารถเข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาคารสีเขียว
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.tgbi.or.th/intro.php
• สถาบันอาศรมศิลป์
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.arsomsilp.ac.th
• คอร์สออนไลน์สอนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ CAD
- http://www.cadlearning.com/courses/autocad-training-tutorials
- http://www.lynda.com/AutoCAD-Architecture-tutorials/AutoCAD-Architecture-Essential-Training/162570-2.html

 

Reviews

Comment as: