ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver)

By : Pattarakorn Vorathanuch


ผู้สูงวัยเปลี่ยนสังคม

ใครเลยจะคิดว่า วันหนึ่งคนแก่จะครองโลก? ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น ‘สังคมผู้สูงวัย’ จากตัวเลขของ UN (United Nations) ระบุว่า ปัจจุบันมีคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีถึง 600 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของประชากรทั้งหมด แม้ตัวเลขจะไม่แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วนัก แต่เป็นที่คาดการณ์ว่าอีกประมาณ 20 ปีนับจากนี้ คนแก่ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เป็นกว่า 1.1 พันล้านคนในปี 2035 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของคนแก่ต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13 และคาดการณ์กันว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 16 ในปี 2050

ประเทศไทยเราก็จะมีจำนวนคนแก่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ตัวเลขจาก UNFPA (United Nations Population Fund) คาดการณ์ว่า ในอีกประมาณ 15 ปีต่อจากนี้ (ปี 2030) ประเทศไทยจะมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มขึ้นอีกกว่า 5 ล้านคน จาก 6 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 11 ล้านคน และหากนับรวมกลุ่มประชากรที่มีอายุระหว่าง 60-65 ปีเข้าไปด้วย ก็จะยิ่งเห็นว่าการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ตัวเลขจากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในปี 2030 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 17.74 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 25.12 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยจะส่งผลให้คนวัยทำงานต้องทำงานเพิ่มขึ้น รัฐต้องจัดสรรงบประมาณที่มากขึ้นเพื่อจัดสวัสดิการให้คนกลุ่มนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรนี้ก็นำพาโอกาสใหม่ๆ มาด้วยเช่นกัน กลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้นับเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจซื้อ มีความต้องการเฉพาะของตัวเอง และพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุจะกลายเป็นตลาดแห่งอนาคตที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะสินค้าและบริการด้านสุขภาพ

งานดูแลสุขภาพผู้สูงอายุจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจที่เจาะกลุ่มนี้โดยเฉพาะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โครงการบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนมุ่งตอบสนองด้านสุขภาพเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ที่มีทักษะความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตอันใกล้นี้

แล้วคุณรู้ไหม? การดูแลผู้สูงอายุต้องมีทักษะอะไรบ้าง ???

ทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ 

• ความรู้พื้นฐานด้านกายวิภาคศาสตร์ เพื่อการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ

• ความรู้สำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

- ด้านอาหาร
- ด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกาย
- ด้านขับถ่าย
- การป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้าน
- ด้านการติดเชื้อและโรคประจำตัว
- ด้านการให้ออกซิเจนและยาวิธีต่างๆ
- ด้านสุขภาพจิต
- ด้านสิ่งแวดล้อม

• ความรู้เกี่ยวกับโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้สูงอายุส่วนมากมักมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น ทำให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคต่างๆ

แหล่งเรียนรู้เบื้องต้นเพื่อเพิ่มพูนทักษะ ได้แก่

• โครงการอบรมการดูแลผู้สูงอายุ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล (หลักสูตรประกาศนียบัตรการดูแลผู้สูงอายุ) อบรมให้ความรู้การให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายจิตใจจิตวิญญาณ การเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรคการจัดระบบการดูแลกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะแนวทางการปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.tm.mahidol.ac.th โทร. 0-2306-9111-2, 081-721-1656
หมายเหตุ* ต้องติดตามวันและเวลาในการเปิดรับสมัคร โครงการอบรมมีค่าใช้จ่าย

• มูลนิธิเพื่อชีวิตสุขวัยที่สาม ติดตามข่าวสาร บทความเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงมีทุนการศึกษาโครงการอบรมผู้การดูแลสูงอายุมอบให้
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.thaithirdage.com

• ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพยาบาลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวบรวมบทความความรู้ทางวิชาการที่จำเป็นสำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

• ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.ns.mahidol.ac.th

 

Reviews

Comment as: