วิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ (Robotics Engineer)

By : Pattarakorn Vorathanuch


จากผลสำรวจระดับประเทศที่มาจากวิชาชีพภาคอุตสาหกรรม 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางอาหาร พบว่า ณ ปัจจุบัน ปัญหาจากค่าแรงงานที่สูงขึ้น และปัญหาเรื่องแรงงานต่างชาติ ส่งผลทำให้องค์กรและหน่วยงานหลายภาคส่วน มีความต้องการที่จะสร้างระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น บุคลากรที่มีความรู้ในสายงานด้านวิศวกรหุ่นยนต์ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทและเป็นที่ต้องการของตลาดอุตสาหกรรมดังกล่าว

World Robotics 2014 ได้ให้รายงานว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยุคใหม่สามารถสร้างงานได้มากถึง 900,000 ถึง 1.5 ล้านตำแหน่ง ระหว่างปี 2012 – 2016 โดยข้อมูลจาก Pansop.com และ Indeed.com ระบุว่าการจ้างงานในสาขาวิศวกรหุ่นยนต์กำลังมาแรงมากสำหรับยุคนี้ และสามารถสร้างรายได้สูงสุดอยู่ที่ 112,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

โดยตำแหน่งที่มีความต้องการมากขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ คือตำแหน่งวิศวกรหุ่นยนต์อาวุโส ซึ่งต้องทำงานดูแลระบบหุ่นยนต์ และทำงานร่วมกับงานวิศวกรรมทั่วไป พร้อมควบคู่กับวิศวกรรมเชิงธุรกิจ เพื่อกำหนดสร้าง และดำเนินแผนงานการวิจัยเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาโปรแกรมที่เน้นการสร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

อีกหนึ่งตำแหน่งคือวิศวกรบริการฮาร์ดแวร์ ซึ่งมีหน้าที่การทำงานดูแล และรักษาการขนส่งของ โดยหุ่นยนต์ผ่านการควบคุมทางไกล นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหา ตรวจสอบข้อผิดพลาด และเสนอทางออก เช่น ระบบการขนส่งของของ Amazon วิศวกรหุ่นยนต์สมองกล วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์สมองกลให้มีการใช้เหตุผลได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น มีกลไกการรับรู้ที่พัฒนามากขึ้น สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ดีขึ้นเพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับยุคปัจจุบันเทรนด์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำหุ่นยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ก็มีอัตราที่สูงขึ้นหลายส่วน และหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ กับการรักษาที่มีความก้าวหน้า การสร้างอวัยวะเทียม หรือหุ่นยนต์ดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุ ไม่เว้นแม้แต่ในงานอุตสาหกรรม ที่สร้างประสิทธิภาพเพื่อใช้ในงานการตลาด กับหุ่นยนต์สำหรับจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ผลิตภัณฑ์และบริการ หรือการสื่อสารทางไกล

นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์อีกกลุ่มที่มีแนวโน้มในการสร้างมูลค่าที่สูงขึ้น นั่นคือ กลุ่มวิทยาการหุ่นยนต์เพื่อการใช้งานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น หรือ Robotics for Life ที่เราเริ่มเห็นกันในยุคนี้ อาทิเช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัตโนมัติ หุ่นยนต์ต้อนรับ หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง และการศึกษา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้บุคลากรที่สามารถบูรณาการสหวิทยาการด้านไฟฟ้า เครื่องกล และคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ หรือเป็น Innovative System Integrator in Robotics and Automation Engineering

สำหรับในประเทศไทย ณ ตอนนี้ เรามีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) หรืออีกชื่อที่คุ้นเคยนั่นคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ ระดับปริญญาตรี เพื่อมุ่งเน้นผลิตวิศวกรหุ่นยนต์ รองรับการขยายตัวความต้องการตลาดที่ต้องใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นับเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรเฉพาะทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของ FIBO นั้นเป็นหลักสูตรใหม่เมื่อปี 2557 โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning บูรณาการความรู้ ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ในรูปแบบโมดูล มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นกลไกให้นักศึกษาได้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เรียนในแต่ละภาคการศึกษา

หลักสูตรนี้ถูกออกแบบโดยแนวคิด Outcome-based Education ที่เน้นการสร้างความมีส่วนร่วมของนักศึกษาในชั้นเรียนเป็นสำคัญ และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ที่นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้มากขึ้น

สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินี้ FIBO เปิดรับสมัครนักศึกษามาแล้ว 2 รุ่น โดยในปีการศึกษา 2559 ถือเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งจะเปิดภาคการศึกษาแรกในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ FIBO กำลังเตรียมพร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษาใหม่ในปี 2560 และทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวดีๆ ที่น่าจะเป็นนิมิตหมายใหม่ของวงการวิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ (Robotics Engineer) ซึ่งถือเป็นอนาคตใหม่ของอุตสาหกรรมวิชาชีพที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่อีกด้วย

พบข้อมูลรายละเอียดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ http://fibokmutt.wixsite.com/fiboedu

 

Reviews

Comment as: