นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application Developer)

By : Pattarakorn Vorathanuch


ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการสำรวจอาชีพใหม่ๆ หรือตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ ซึ่งถือเป็นอาชีพใหม่ในอนาคตนั้น มีอาชีพ “นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น” ติดอยู่ในโพลอย่างไม่ต้องสงสัย

นับตั้งแต่ Smartphone ได้ถือกำเนิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงโลก ตลาดกลุ่มผู้ใช้งาน ต่างให้ความสนใจอย่างล้นหลาม นำมาซึ่งนวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีกมากมาย ก่อให้เกิดบริษัทหรือองค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของโทรศัพท์มือถืออย่างเอาจริงเอาจัง ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่คือ “นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น” ที่และได้กลายเป็นอาชีพซึ่งสร้างรายได้สูง ทั้งยังเป็นอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงมากที่สุด

ผลการสำรวจตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกา มีการคาดการณ์ว่า อาชีพนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นจะเป็นอาชีพที่เติบโตมากถึง 28 % ในช่วงระหว่างปี 2010-2020 นับเป็นหนึ่งในไม่กี่สาขาอาชีพที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติแรงงานของสหรัฐฯ ยังชี้ว่า นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นมีรายได้ต่อปีสูงถึงปีละ 92,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นอีกด้วย จากข้อมูลในปี 2015 รายได้ของนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเพิ่มขึ้นมากถึง 9.5 % ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมไอทีทั้งอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 5.2 % ขณะเดียวกันที่รายได้เฉลี่ยของคนอเมริกันอยู่ที่ระดับ 51,939 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของสํานักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ระบุว่าในปี 2556 ความต้องการบุคลากรด้านซอฟต์แวร์โดยรวมของไทยเพิ่มขึ้นมากถึง 8,136 คน หรือ 21.7% แต่ตลาดแรงงานของไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังประสบปัญหานี้เช่นกัน

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานและผู้ประกอบการ โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พบว่าสองในสามของกลุ่มตัวอย่าง มีความเห็นว่า สถาบันที่มีอยู่ในประเทศไทยยังขาดความพร้อม ที่จะการผลิตบุคลากรด้านนี้อย่างจริงจัง ซึ่งสวนทางกับความต้องการและไลฟสไตล์ของคนในยุคนี้ ที่ล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคม (Social Media) สื่อออนไลน์ (Online Media) และอื่นๆ อีกมากมายที่มีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมหาศาล

สำหรับปี 2017 มีตัวเลขคาดการณ์ว่า การเติบโตของแอพพลิเคชั่นจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเป็น 2.2 ล้านแอพฯ ใน Google Play และ 2 ล้านแอพฯ ใน Apple Store ดังนั้น ถ้าดูจากภาพรวมแล้ว สามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่า อาชีพนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น เป็นอาชีพท้าทายที่มีอนาคตกว้างไกล เป็นที่ต้องการของตลาด และเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรต่างๆ จึงให้ความสนใจและสนับสนุนความร่วมมือที่จะผลิต นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นไทย มากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยสู่ระดับสากล

ข้อมูลและทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น

- Mobile User Interface Design คือ การออกแบบหน้าตาหรือส่วนต่อประสานระหว่างผู้ใช้กับระบบเพื่อรองรับการนำข้อมูลหรือคำสั่งเข้าสู่ระบบ ตลอดจนการนำเสนอสารสนเทศกลับมาสู่ผู้ใช้ จะต้องออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย ไม่ยุ่งยากหรือมากขั้นตอน ผู้ออกแบบจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบกราฟิก (Graphic Design) และการออกแบบส่วนติดต่อ (Interaction Design) เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ทั้งการใช้งานและความสวยงาม

- Programming มีความรู้ในภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรมต่างๆ เช่น Java C++, Mobile Platform APIs ทั้งแอปเปิล ไอโอเอส แอนดรอยด์ และวินโดว์โฟน รวมถึงภาษาที่ใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ อย่าง HTML และ HTML5

- Business Expertise หากต้องการเป็นผู้ประกอบการต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ต่างๆ อาทิ วิธีการสร้างรายได้จากแอพพลิเคชั่น การระดมทุน การร่วมทุน การตลาด ช่องทางจัดจำหน่าย เป็นต้น

 

Reviews

Comment as: