Non-Cognitive Skills: ทักษะใหม่ในศตวรรษที่ 21 (ตอนแรก)

By : Jakkrit Siririn


ในปัจจุบัน รูปแบบการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มีการพูดถึงการพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการเรียนรู้ ด้านนวัตกรรม, สารสนเทศ, ชีวิต, อาชีพ ฯลฯ ทักษะต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดทักษะที่จำเป็นของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีบริบททางสังคมแตกต่างจากศตวรรษที่ 21 เพราะศตวรรษที่ 21 เป็นยุคสมัยที่บริบททางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รูปแบบการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยการเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน เพื่อรองรับความสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของบริบททางสังคมได้อย่างทันท่วงที
.
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบททางสังคมในศตวรรษที่ 21 ทำให้มีอัตราการแข่งขันที่สูงมากในทุกองค์กรและทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือองค์กรทางการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ผลิตบุคลากรป้อนให้กับองค์กรในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เมื่ออัตราการแข่งขันที่สูงมากดังกล่าวที่ลุกลามเข้ามาสู่แวดวงการศึกษา จึงทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางด้านหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนในแนวทางใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นไปยังการกำหนดจุดมุ่งหมายในรายวิชาต่างๆ ที่พุ่งเป้าไปในประเด็นของการแข่งขัน ผ่านรูปแบบการวัดและประเมินผลทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับทักษะทางปัญญา หรือ Cognitive Skills
.
Cognitive Skills หรือทักษะทางปัญญา เป็นทักษะหนึ่งในจำนวนหลายทักษะของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นทักษะด้านการเรียนรู้ เนื่องจากคำว่า Cognitive นั้นแปลว่าการรู้คิด หรือการรู้ หรือความรู้ ซึ่งตรงกันข้ามกับ Non-Cognitive Skills หรือทักษะทางพฤติกรรม อันหมายถึงทักษะที่ไม่ใช่ทักษะทางปัญญา เพราะ Non-Cognitive Skills สามารถเป็นตัวบ่งชี้พฤติกรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือทักษะการดำเนินชีวิต อาทิ ทักษะทางอารมณ์ ทักษะในการเข้าสังคม ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะในการเข้าใจผู้อื่น ทักษะการมองโลกในแง่บวก ฯลฯ Non-Cognitive จึงหมายถึงการเรียนรู้ด้านจิตใจ หรือคุณธรรมนั่นเอง
.
ปัจจุบัน แม้ในแวดวงวิชาการทางด้านการบริหารการศึกษา จะเริ่มมีผู้ให้ความสำคัญกับประเด็นทักษะทางพฤติกรรม หรือ Non-Cognitive Skills อยู่บ้าง แต่ก็ถือได้ว่ายังไม่มีงานศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับ Non-Cognitive Skills ในการบริหารทางการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง จะมีก็เพียงบทความทางวิชาการบางชิ้น หรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่มาก การศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับ Non-Cognitive Skills ในการบริหารทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งท้าทาย หรือถือได้ว่า Non-Cognitive Skills สามารถเป็นตัวแปรใหม่ในการบริหารทางการศึกษา โดยเฉพาะหากพูดถึงการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้เน้นไปที่ทักษะ และ Non-Cognitive Skills ก็คือทักษะตัวหนึ่งที่เรียกว่าทักษะทางพฤติกรรม
.
Non-Cognitive Skills ตัวแปรสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์
แม้แวดวงวิชาการทางด้านการบริหารการศึกษาจะมีงานค้นคว้าศึกษาวิจัยมากมายเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในประเด็นทักษะ แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีการกล่าวถึง Non-Cognitive Skills หรือทักษะทางพฤติกรรม และแม้ว่าทุกวันนี้เริ่มมีนักวิชาการด้านการศึกษาให้ความสำคัญกับ Non-Cognitive Skills เพิ่มมากขึ้น ทว่ายังถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับวงการวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และเศรษฐศาสตร์การศึกษา ที่ได้มีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับ Non-Cognitive Skills มาแล้วมากมายก่อนหน้านี้ งานศึกษาจำนวนมากทางด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และเศรษฐศาสตร์การศึกษาได้ชี้ว่าทักษะทางพฤติกรรม หรือ Non-Cognitive Skills เป็นปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เช่นเดียวกับทักษะทางด้านปัญญา หรือ Cognitive Skills ที่แม้ว่าจะมีงานวิจัยจำนวนมากทางด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และเศรษฐศาสตร์การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ Cognitive Skills หรือทักษะทางด้านปัญญา โดยเฉพาะงานศึกษาที่ระบุว่า ผู้ที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะมีรายได้จากการทำงานที่สูงขึ้นก็ตาม
.
ดังที่พิริยะ ผลพิรุฬห์ (2556) ได้กล่าวไว้ถึงแนวทางการประมาณการผลลัพธ์ได้จากการศึกษา (Return on Education) ว่า โดยทั่วไปจะใช้สมการมินเซอร์ (Mincerian Equation) ในการประมาณหาความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) กับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อบุคคลเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน สอดคล้องกับงานวิจัยของจงรักษ์ หงษ์งาม เรื่อง Effects of Cognitive Skill and Non-Cognitive Skills on Earning Outcomes: A Case of Kornkaen Province of Thailand (ผลกระทบของทักษะทางปัญญาและทักษะทางพฤติกรรมที่มีต่อความสามารถสร้างรายได้: กรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น) ที่ได้ต่อยอดแนวความคิดของสมการมินเซอร์ ซึ่งเดิมมักใช้วัดผลตอบแทนทางการศึกษา (Education Return) ในรูปแบบของรายได้ ผ่านตัวแปร Cognitive Skills โดยได้เพิ่มตัวแปร Non-Cognitive Skills เข้าไปในสมการรายได้ คือความเชื่อในอำนาจแห่งตน และการภาคภูมิใจในตน ผลการวิจัยพบว่า เมื่อใส่ตัวแปร Non-Cognitive Skills ในสมการรายได้ทำให้เกิดผลที่ลดลงต่ออำนาจการอธิบายของตัวแปรทักษะทางสติปัญญา หรือ Cognitive Skills ดังนั้น Non-Cognitive Skills จึงมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อรายได้ที่สูงขึ้นของบุคคลในตลาดแรงงาน

 

Reviews

Comment as: