CKO: Chief Knowledge Officer

By : Jakkrit Siririn
การวางผังการบริหารงานของแวดวงธุรกิจระดับสากลตามลักษณะการจัดองค์กรโดยทั่วไปที่มีระดับการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง มีการกำหนดชื่อเรียกตำแหน่งหน้าที่การงานแบ่งออกไปตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายและความถนัดที่เกิดจากประสบการณ์ทำงานหรือคุณวุฒิทางด้านการศึกษา
ในอดีต ตำแหน่ง Manager หรือผู้จัดการ ดูเหมือนจะแบกรับหน้าที่ของบริษัทแทบทั้งหมด พูดอีกแบบก็คือเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในองค์กรธุรกิจ
และต่อมาก็ได้มีการเพิ่มตำแหน่ง Managing Director หรือกรรมการผู้จัดการ ที่เรียกกันย่อๆ ว่า MD
ก่อนที่จะเริ่มมีการคิดค้นชื่อตำแหน่งแห่งที่ในการบริหารงานชนิดใหม่ออกมาอย่างมากมายในภายหลัง และที่เป็นชื่อตำแหน่งแห่งหนซึ่งพูดได้ว่าเป็นหลักในการกำหนดโครงสร้างการบริหารงานองค์กรยุคใหม่ก็ว่าได้
นั่นก็คือชื่อตำแหน่งในตระกูล Chief Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ โดยจะเว้นตรงกลางเอาไว้สำหรับใส่ภารกิจต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล
แน่นอนว่า Chief Officer ตัวเด่นตัวดังนั้นคงหนีไม่พ้น Chief Executive Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ต่อมาภายหลัง มีการเพิ่มเติมตำแหน่งใหม่ๆ ในสาย CEO หรือ Chief Executive Officer ตามมาอีกมากมาย อาทิ หน่วยงานที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์หน่วยงานคืองานประชาสัมพันธ์
ซึ่งมีตั้งแต่ Chief Communications Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร ตัวย่อคือ CCO และ Chief Brand Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายตราสินค้า ตัวย่อคือ CBO และ Chief Content Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวสาร ตัวย่อคือ CCO และ Chief Design Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายออกแบบ ตัวย่อคือ CDO และ Chief Creative Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ ตัวย่อคือ CCO
และที่รู้จักกันดีอีกตำแหน่งหนึ่งในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นั่นก็คือ Chief Information Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ ตัวย่อคือ CIO ซึ่งแตกออกมาเป็น Chief Data Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ตัวย่อคือ CDO และ Chief Analytics Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล ตัวย่อคือ CAO และ Chief Digital Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิตอล ตัวย่อคือ CDO และ Chief Information Security Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยของสารสนเทศ ตัวย่อคือ CSO และ Chief Networking Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเครือข่ายข้อมูล ตัวย่อคือ CNO และ Chief Technology Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ตัวย่อคือ CTO และ Chief Web Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเว็บไซต์ ตัวย่อคือ CWO
โดยในยุคใหม่สมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ยุคศตวรรษที่ 21 ยุค Thailand 4.0 หรือที่เรียกรวมๆ และรู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า ยุคนวัตกรรม ได้มีการกำหนดชื่อเรียกตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างมากมาย อาทิ Chief Research Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย ตัวย่อคือ CRO และ Chief Innovation Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม ตัวย่อคือ CIO และ Chief Learning Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเรียนรู้ ตัวย่อคือ CLO
โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ Chief Knowledge Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรู้ ตัวย่อคือ CKO
Chief Knowledge Officer หรือ CKO จัดตั้งขึ้นตามแนวคิด Knowledge Management ครับ…
Knowledge Managementหรือ KM แปลว่า การจัดการความรู้
โดย การจัดการความรู้ตามแนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. มีกระบวนการ 7 ด้าน ได้แก่
1. การบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification)
2. การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition)
3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization)
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and Refinement)
5. การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access)
6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing)
7. การเรียนรู้ (Learning)
และตำแหน่งงาน Chief Knowledge Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรู้ หรือ CKO ก็เป็นผลพวงมาจากการเกิดขึ้นของกระบวนการการจัดการความรู้นั่นเอง
ซึ่งหากองค์กรใดมีการนำการจัดการความรู้เข้าไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะองค์กรทางธุรกิจ ก็จะยิ่งเสริมเขี้ยวเล็บให้กับการบริหารธุรกิจประดุจดั่งพยัคฆ์ติดปีกเอาเลยทีเดียว