โรงเรียนล่องหน (ตอนจบ)

By : Jakkrit Siririn


การประยุกต์ใช้ Cloud Computing เพื่อนำมาบริหารจัดการระบบการจัดการการเรียนรู้บนก้อนเมฆ หรือ Cloud-based Learning Management System ซึ่งเป็นระบบที่มีการโต้ตอบและขยายตัวเป็นอย่างมากได้สำหรับองค์กรขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

โดยเฉพาะหากนำมาใช้กับการบริหารสถานศึกษา เพื่อให้เกิดเป็น โรงเรียนล่องหน

เนื่องด้วยระบบจัดการการเรียนรู้บนก้อนเมฆ จะเป็นการจัดเตรียมประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ตัวอย่างการประยุกต์เทคโนโลยีการประมวลผลบนก้อนเมฆเข้ากับกระบวนการบริหารจัดการการศึกษา

อาทิ การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีก้อนเมฆ โดยผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อส่งเสริมทักษะการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Yoosomboon, 2014) ระบบห้องเรียนเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีการประมวลผลบนก้อนเมฆ เพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีมของผู้เรียน (Kankaew, 2014)

รวมถึงการพัฒนาระบบการเรียนรู้แบบร่วมไม้ร่วมมือกัน โดยใช้การเรียนรู้เชิงกรณีศึกษาผ่านเทคโนโลยีก้อนเมฆ ร่วมกับ Social Network เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการบริหารและจัดการองค์ความรู้ผ่าน ICT (Nookhong, 2014)

เพราะในปัจจุบัน พบว่า ผู้เรียนสิงสถิตอยู่กับหน้าจอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์เล็กใหญ่ทั้งหลาย เพื่อใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น

โดยเฉพาะ Social Network อย่าง Facebook หรือ LINE และดูวิดีโอผ่าน YouTube รวมไปถึงการเข้าไปใช้งาน Application ออนไลน์ต่างๆ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ในปัจจุบัน มีการใช้ Social Network เพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ LINE ในลักษณะการตั้งแฟนเพจ Facebook กลุ่ม และ LINE กลุ่ม

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Facebook ในการจัดการเรียนการสอน ก็คือ Facebook for Education และ Learning Center on Facebook โดยเฉพาะ Application ชั้นดีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนในการเตรียมเนื้อหาการสอนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ

อาทิ Files สำหรับอัพโหลดแฟ้มข้อมูลให้กับผู้เรียน Make a Quiz สำหรับสร้างคำถามออนไลน์เพื่อทดสอบความรู้ของผู้เรียน Calendar สำหรับสร้างปฏิทินแจ้งเตือนกำหนดการต่างๆ และ Course สำหรับจัดการเนื้อหาการเรียนการสอน

แต่ที่น่าสนใจมากกว่า ก็เห็นจะเป็น YouTube

เพราะล่าสุด YouTube ได้จัดตั้ง YouTube for Schools หรือ YouTube EDU ช่องโทรทัศน์ออนไลน์สำหรับโรงเรียนขึ้น โดยมีเนื้อหาที่เน้นไปที่เรื่องราวในแวดวงการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว โดยได้รับความร่วมมือกับภาคีด้านการศึกษากว่า 600 แห่ง

อาทิ TED เวทีนำเสนอองค์ความรู้ชื่อดัง Smithsonian เว็บไซต์ที่รวบรวมแหล่งเรียนรู้และนิทรรศการต่างๆ เอาไว้ Steve Spangler แหล่งผลิตเกมและของเล่นเพื่อการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ Numberphile ช่องสอนคณิตศาสตร์ออนไลน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ YouTube ได้ร่วมกับครูในการบริหารจัดการเนื้อหา หรือ Content กว่า 300 ชิ้น แบ่งออกเป็นรายวิชา และรายระดับชั้น

YouTube เชื่อว่า สื่อต่างๆ เหล่านี้ จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ ทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้ห้องเรียนสนุกสนานขึ้น และเด็กๆ ก็จะตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของ YouTube สำหรับการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้มีดังนี้

1. กว้างขวางครอบคลุม: ประโยชน์ของ YouTube สำหรับโรงเรียนต่างๆ เข้าถึงวีดีโอเพื่อการศึกษาฟรีนับแสนรายการจาก YouTube for Schools หรือ YouTube EDU วิดีโอเหล่านี้มาจากองค์กรที่มีชื่อเสียงต่างๆ รวมทั้งจากพันธมิตรที่กำลังได้รับความนิยมของ YouTube ซึ่งมียอดผู้ชมนับล้านๆ คน

2. ปรับแก้ได้: สามารถกำหนดค่าเนื้อหาที่ดูได้ในโรงเรียนของคุณ โรงเรียนทั้งหมดจะได้รับสิทธิ์เข้าถึงเนื้อหาของ YouTube for Schools หรือ YouTube EDU ทั้งหมด แต่ครูและผู้ดูแลระบบอาจสร้างเพลย์สิสต์ของวิดีโอที่ดูได้เฉพาะในเครือข่ายของโรงเรียนเท่านั้นก็ได้เช่นกัน

3. เหมาะสมสำหรับโรงเรียน: ผู้บริหารโรงเรียนและครูสามารถลงชื่อเข้าใช้และดูวิดีโอใดๆ ก็ได้ แต่นักเรียนจะไม่สามารถลงชื่อเข้าใช้และดูได้เฉพาะวิดีโอของ YouTube for Schools หรือ YouTube EDU และวีดีโอที่โรงเรียนได้เพิ่มเข้าไปเท่านั้น ความคิดเห็นและวีดีโอที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะถูกปิดใช้งานและการค้นหาจะจำกัดเฉพาะวิดีโอของ YouTube for Schools หรือ YouTube EDU เท่านั้น

4. เป็นมิตรกับครู: www.YouTube.com/Teachers ใน YouTube for Schools หรือ YouTube EDU มีเพลย์ลิสต์ของวิดีโอนับร้อยรายการที่ได้มาตรฐานตามรูปแบบการบริหารจัดการระบบการศึกษาทั่วไป และจัดระเบียบตามรายวิชา และรายระดับชั้น เพลย์ลิสเหล่านี้สร้างขึ้นเหล่านี้ จัดทำโดยครูและเพื่อนครูด้วยกัน เพื่อให้ครูและเพื่อนครูได้ใช้งาน และช่วยกันปรับปรุง พัฒนา และต่อยอด ดังนั้นครูจึงมีเวลาในการสอนมากขึ้น และใช้เวลาค้นหา Content น้อยลง

ทั้ง Social Network และ YouTube บนระบบ Cloud Computing ในการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้แบบ Cloud-based Learning จึงช่วยทำให้สถาบันการศึกษากลายเป็น โรงเรียนล่องหน

 

Reviews

Comment as: