ห้องสมุดมนุษย์ (ตอนจบ)

By : Jakkrit Siririn


ปรัชญาของห้องสมุดมนุษย์ หรือ HUMAN LIBRARY ได้ประกาศไว้เสมือนปฏิญญาสากลให้กับเครือข่ายห้องสมุดมนุษย์ของ HUMAN LIBRARYORGANIZATION ก็คือ “DON’T JUDGE A BOOK BY ITS COVER” หรือการไม่ตัดสินเนื้อหาหนังสือจากปกหนังสือ ซึ่งสื่อความหมายได้อย่างดี

การไม่ตัดสินเนื้อหาหนังสือจากปกหนังสือ หรือ DON’T JUDGE A BOOK BY ITS COVER ก็คือปณิธานเกี่ยวกับการลดอคติที่มนุษย์มีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศสภาพ หรือความแตกต่างระหว่างกันทั้งมวลของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักดังที่กล่าวไป

อันที่จริงแล้วห้องสมุดมนุษย์ หรือ HUMAN LIBRARY นั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง คือ LIVING LIBRARY หรือห้องสมุดมีชีวิต แม้จะแปลตรงตัวว่าห้องสมุดมนุษย์ แต่ก็สามารถสื่อความถึงคำว่าห้องสมุดมีชีวิตได้ เนื่องจากผู้ใช้บริการจะได้พบปะกับผู้คนหลากอาชีพจากหลายวงการ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

โดยห้องสมุดมนุษย์นี้มีความแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะห้องสมุดทั่วไปจะเปิดให้บริการอ่านหนังสือ ยืมหนังสือ และคืนหนังสือ ส่วนห้องสมุดมนุษย์จะเปิดให้บริการอ่านมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว ยืมมนุษย์ หรือคืนมนุษย์นั้น จะไม่มีการให้บริการอย่างเด็ดขาด!!!

ซึ่งภารกิจหลักของบรรณารักษ์ห้องสมุดมนุษย์ จะทำหน้าที่แตกต่างไปจากบทบาทของบรรณารักษ์ห้องสมุดแบบดั้งเดิมเล็กน้อย ตรงที่บรรณารักษ์ห้องสมุดมนุษย์จะต้องออกไปเสาะแสวงหาอาสาสมัครหลากอาชีพจากหลายวงการ ผู้มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจมาไว้ในห้องสมุดมนุษย์นั่นเอง

อย่างที่กล่าวไปแล้ว ว่าเป้าหมายของห้องสมุดมนุษย์นั้น มีไว้เพื่อให้เกิดการลดความอคติ พร้อมๆ ไปกับการทำความเข้าใจกับผู้คนร่วมสังคมกันให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันที่เป็นอยู่ โดยหนังสือมนุษย์จะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความคิด หรือประสบการณ์

อาทิ โดยทั่วไป คนทั้งหลายมักจะมองว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี เป็นคนขี้โกง แต่หากได้มีโอกาสนั่งลงคุยกับหนังสือมนุษย์ที่เป็นนักการเมือง เราๆ ท่านๆ ก็อาจจะเปลี่ยนความคิดดังกล่าวก็เป็นได้ หรืออาจเข้าใจเด็กแว้น สาวสก๊อยมากขึ้นกว่าที่เห็นพวกเขาและเธอจากเปลือกนอกบนถนน

ขั้นตอนหลังจากอ่านหนังสือมนุษย์ ไม่ว่าจะอ่านคนเดียวหรือจะอ่านเป็นกลุ่ม ซึ่งก็คือการพูดคุยสนทนากับอาสาสมัครดังกล่าวครบถ้วนกระบวนความแล้ว จะต้องมีการนำหนังสือมนุษย์ไปคืนให้กับบรรณารักษ์ที่เคาน์เตอร์ตามระเบียบ ซึ่งมีกระบวนการเหมือนกับห้องสมุดทั่วไปนั่นเอง

อย่างที่กล่าวไป ว่าแนวคิดห้องสมุดมนุษย์นั้นเริ่มต้นที่ประเทศเดนมาร์ก (DENMARK) โดยในปัจจุบันได้เผยแพร่ไปยังหลายประเทศ เช่น บราซิล (BRAZIL) จีน (CHINA) โคลัมเบีย (COLOMBIA) แคนาดา (CANADA) อิตาลี (ITALY) สเปน (SPAIN) สก็อตแลนด์ (SCOTLAND) ญี่ปุ่น (JAPAN) เยอรมัน (GERMANY) ตุรกี (TURKEY) นอร์เวย์ (NORWAY) สโลเวเนีย (SLOVENIA) เซอร์เบีย (SERBIA) และประเทศไทย (THAILAND)

สำหรับประเทศไทย สถาบันแรกที่จัดห้องสมุดมนุษย์ตามที่มีการบันทึกไว้ก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา และปัจจุบันได้มีการก่อตั้ง เครือข่ายห้องสมุดมนุษย์แห่งประเทศไทยหรือ Thailand Human Library Network ขึ้นด้วยความร่วมมือของห้องสมุดหลายแห่ง

โดยมีช่องทางผ่านหน้าเพจ Facebook ให้ติดตามข่าวสาร การเคลื่อนไหว รวมถึงการดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ มากมาย ทั้งภาควิชาการ และภาคกิจกรรม ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับ เครือข่ายห้องสมุดมนุษย์แห่งประเทศไทยหรือ Thailand Human Library Network ได้ที่ www.facebook.com/Human-Library-Thailand-349969078419516 ครับ

 

Reviews

Comment as: