Learning From BNK48 #4

By : Pantavit Lawaroungchok


หากจะพูดถึงตัว “สินค้า” ที่แท้จริงของกลุ่มไอดอล BNK48 ก็คงจะหลีกหนีเรื่อง “กิจกรรมการบริการทางด้านความบันเทิง” ไม่ได้ ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจและมีผลอย่างมากต่อวิธีการทำการตลาดของทุกธุรกิจในประเทศไทยพอสมควร…หลายๆ กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นถึงขั้นร้องอุทานขึ้นมาว่า “เห้ย… ทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอวะ?”… เช่น การขาย Founder member box หรือ กล่องดำของสมาชิกกลุ่มบุกเบิกที่จำกัดจำนวน และจำกัดคนซื้อด้วย เพราะสนนราคาสูงถึง 20,000 บาท ซึ่งจะได้การ์ดสมาชิกที่มีสิทธิพิเศษ คือ สิทธิ์รับชมการแสดงรอบปฐมทัศน์เปิดโรงละครของเมมเบอร์ BNK48 ทีม BIII* (เฉพาะผู้สมัครก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์), ที่นั่งในโรงละคร (Theater) จำนวน 50 ที่นั่งตลอดระยะเวลา 3 ปี และ Souvenir ต่างๆ ได้แก่ Booklet (ซึ่งจะมีทั้งข้อมูลของเมมเบอร์ BNK48, ข้อมูลโรงละคร และเพลงต่างๆ ที่จะใช้แสดงในโรงละคร), รูปพิเศษพร้อมลายเซ็นเลือกเมมเบอร์ได้, บัตรเชกิ (Cheki) หรือบัตรถ่ายรูปโพลารอยด์คู่กับเมมเบอร์ได้ 1 คน, เข็มกลัดเหล็กลาย Founder, สายคล้องคอ และเสื้อโปโลสีดำ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ไม่อินก็คงไม่มีทางซื้อแน่นอน
.
แต่รู้หรือไม่… การขาย Founder member box จำนวน 1,000 ชุด (มูลค่ารวม 20 ล้านบาท) ที่ว่ากันว่าขายไปมากกว่า 400 ชุด (มูลค่า 8 ล้านบาท) แล้ว! คำว่า “คุ้มค่า” หรือไม่ อาจจะใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปมาตัดสิน อาจจะไม่ถูกต้องซักทีเดียวนัก!
.
ทำไมต้องนำ Brand ไอดอลอย่าง AKB48 ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศญี่ปุ่น? ทำไมไม่สร้างกลุ่มไอดอลสัญชาติไทยด้วยตัวเอง? ไปลงทุนเสียค่า License ทำไม?… นี่เป็นคำถามที่น่าคิด และในมุมมองของผมถือว่าองค์ประกอบนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Key success ในโมเดลนี้อีกด้วย โดยถ้ามองให้ลึกลงไปถึงรายละเอียดสินค้าการบริการทางด้านความบันเทิงกับกลุ่มเป้าหมายจะเห็นได้ชัดเจนว่า รายได้หลักส่วนใหญ่ของวง BNK48 นั้นมากจากการออกโชว์ตัวตามงานอีเว้นท์ งานพรีเซ็นเตอร์ หรือเรียกรวมๆว่า “กิจกรรมทางการตลาด” ที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สร้างการจดจำ สร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการให้กับ แบรนด์ต่างๆ… ตรงนี้เองที่น่าสนใจไปอีกว่า “กลุ่มลูกค้าหลักของวง BNK48 ที่ยอมทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเข้าไปจ้างต้นสังกัดเหล่านี้คือใคร???!!!!!” …
.
จากข้อมูล ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพบว่า “นักลงทุนญี่ปุ่น” ยังคงเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือน ม.ค.- มิ.ย. พ.ศ. 2560 ถึง 119,029 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55 ของมูลค่าการลงทุนจาก Brand สินค้า Inter-Brand ข้ามชาติจากทั่วโลกที่เข้ามาทำธุรกิจกับประเทศไทยเลยทีเดียว นอกนั้นก็กระจายไปตาม Brand สัญชาติต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก เช่น อเมริกา สิงคโปร์ จีน อิตาลี เกาหลี และอื่นๆ แบ่งสัดส่วนกันไป… ในมูลค่ารวมของธุรกิจการทำการตลาดจะทำให้เห็นว่า BNK48 มีโอกาสรับงานจากธุรกิจนี้สูงมาก…
.
ไม่ต้องพูดอะไรมาก… เฉพาะแค่ในวงการรถยนต์จากค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นในประเทศไทยก็มีมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว และอย่างที่รู้กันดีว่า Brand สินค้าญี่ปุ่นเหล่านี้มีความ “ชาตินิยม” อย่างมาก และพร้อมที่จะสนับสนุนทุกหน่วยงานหรือองค์กรคุณภาพที่มาจากญี่ปุ่นด้วยกันเอง… ลองคิดว่าถ้า Brand ญี่ปุ่นเหล่านี้จัดอีเว้นท์ หรือทำกิจกรรมการตลาดต่างๆ จะมีจำนวนมากมายมหาศาลขนาดไหนในแต่ละวัน และแน่นอน BNK48 ก็จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของลูกค้า Brand เหล่านั้นไปโดยปริยาย
.
อีกหนึ่งโครงสร้างของโมเดลไอดอลที่ทำลายระบบโครงสร้างศิลปินแบบกลุ่มหรือเดี่ยวในรูปแบบเดิมไปได้อย่างน่าสนใจด้วยก็คือ… โดยทั่วไปของกลุ่มศิลปินในอดีต จะมีข้อจำกัดในการเดินทางเมื่อต้องไปงานต่างๆ อย่างมาก… การรับงาน 2-3 ที่ก็ถือว่ามากแล้วใน 1 วัน แต่ด้วยโครงสร้าง BNK48 โมเดลที่มีจำนวนสมาชิกหลายสิบคน ก็สามารถที่จะแบ่งกลุ่มย่อยแยกย้ายออกไปเดินสายรับงานที่กระจายอยู่มากมายตามที่ต่างๆ ได้ทั่วประเทศไทย ดังที่เราได้เห็นจากปรากฏการณ์ใน 3-4 เดือนที่ผ่านมา ที่ BNK48 ไปออกงานที่เชียงใหม่ ต่างจังหวัดอื่นๆ และกรุงเทพในเวลาเดียวกัน
.
ไม่เพียงเท่านั้นด้วยความหลากหลายของสมาชิกในทีมไม่ว่าจะทั้งอายุ ความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือคาแรคเตอร์ส่วนตัวต่างๆ ทำให้รูปแบบการรับงานของน้องๆ สามารถที่จะไปจับกับกลุ่มเป้าหมายสินค้าที่หลากหลายมากๆ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็น BNK48 สามารถแยกย้ายออกงานได้ตั้งแต่งานวัด งานในห้างสรรพสินค้า สินค้าเด็ก สินค้าผู้ใหญ่ งานสัมมนา งานวิชาการ งานในสนามกีฬา ไปจนถึงงานพบเจอนายกรัฐมนตรีเป็นวาระแห่งชาติในทำเนียบรัฐบาล มาถึงตรงนี้เราก็ต้องยอมรับในจุดหนึ่งว่า BNK48 ได้ก้าวเข้ามาในระดับมหาชนเป็นวง “ไอดอลแห่งชาติ” ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
แน่นอน!!!! ทุกอย่างในโลกล้วนอนิจจัง เมื่อมีคน ”นิยม” ก็อาจจะมีคน “เบื่อ” แล้วก็เสื่อมความนิยมได้ในวันหนึ่ง… โครงสร้างบริการทางด้านความบันเทิงของ BNK48 ก็ได้คิดถึงทางหนีที่ไล่ของเรื่องนี้บ้างแล้ว โดยการต่อยอดภารกิจจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการคัดเลือกสมาชิกรุ่นถัดไป เพื่อผลัดเปลี่ยนเนื้อหาให้สดใหม่อยู่เสมอ รวมถึงกลุ่มไอดอลที่มีสมาชิกขยายวงกลุ่มเป้าหมายออกไปให้กว้างขึ้นอีกแบบไม่มีทีท่าจะแผ่วลงเลย รูปแบบของโครงสร้างไอดอลแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมุนเวียนไป ซึ่งในแต่ละครั้งเมื่อครบจบรอบ กลุ่มเป้าหมายก็จะขยายวงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเป็นชุมชน ต่อเนื่อง เป็น “วัฒนธรรมไอดอล” เหมือนประเทศแม่อย่างญี่ปุ่นที่ใช้เวลาพัฒนามานับ 10 ปี ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปินเก่าๆ ที่มีช่วงของการเกิด ดับ อย่างรวดเร็วเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง
.
จากบทความทั้ง 3 ตอนที่เขียนขึ้นมาก่อนหน้านี้ เราจะเห็นได้ถึงโครงสร้างโมเดลไอดอลที่เข้าไปเปลี่ยนการรับรู้ และพฤติกรรมการบริโภคความบันเทิงของผู้คน ซึ่งสอดรับกับรูปแบบของสื่อและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไปในโลกยุคใหม่ เต็มไปด้วยการเปลี่ยนถ่ายของเทคโนโลยี BNK48 โมเดลนี้ทำให้สังคมไทยเห็นช่องว่างหลายๆ ส่วนที่ทำให้เกิดการแปลงโฉมรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จากคำอุทานว่า “เห้ย… ทำแบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ?” มาสู่ ช่องทางใหม่ในการทำธุรกิจ และแน่นอน เมื่อเกิดคลื่น สึนามิถล่มเมืองแล้ว หลังพายุสงบทุกอย่างก็จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป… บางสิ่งที่เคยผิดพลาดก็จะถูกปรับปรุงให้ปลอดภัยขึ้น บางอย่างถูกพัฒนาให้สอดรับกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น บางเรื่องจากที่เห็นเป็นทางตันเราก็ได้เห็นเส้นทางใหม่ๆ ที่นำพาให้เราไปต่อได้
.
อย่างไรก็ตาม “วัฒนธรรมไอดอล” ก็เป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมป๊อป” (Pop Culture) เป็นงานศิลปะในรูปแบบของความบันเทิงที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่รับใช้ความฝัน ความหวังของผู้คนที่ขาดแคลน หรือสิ้นหวังจากการแข่งขัน การต่อสู้ในสังคมชุมชนเมืองยุคใหม่ และที่น่าติดตามไปมากกว่านั้น คือการที่โมเดลไอดอลนี้ได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ นำพาไปสู่สังคมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย รวมถึงประเทศไทยนั้น ซึ่งได้ทำปฏิกิริยากับสังคมในประเทศนั้นๆ อย่างไร? เอกลักษณ์ของสังคมในแต่ละประเทศนั้นจะทำให้โมเดลไอดอลเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตัวเองไปในรูปแบบไหน? แต่ที่แน่ๆ “วัฒนธรรมไอดอล” กำลังจะคืบคลานก้าวข้ามพรมแดนไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยของโลกใบนี้ไปแล้ว
.
*หมายเหตุ* BIII (อ่านว่า บีทรี) คือ วงน้องสาวของ BNK48 โดยจะมีแบ่งเป็น 3 ทีม โดยมีที่มาจากตัวหนังสือของชื่อวงคือ Team B Team N และ Team K และเลข 3 หมายถึงลำดับที่ 3 ในตระกูล 48 Group เพราะเคยมีทีม B มาแล้วจากทีม AK’B’48 และ NM’B’48 ดังนั้นทีม B จาก ‘B’NK จึงเป็นลำดับที่ 3 รวมกันกลายเป็น BIII ส่วน Team N และ Team K นั้นคงต้องรอดูกันต่อไป
Credit Picture
Art direction : Apostrophy’s Group Co.,Ltd.
Artist : Mr.Ittipong Leewuthikul

 

Reviews

Comment as: