K society and economy

By : Apichart Prasert


เมื่อเรากำลังมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้

ช่วงนี้กระแสแนวคิดประเทศไทย 4.0 กำลังมาแรง แต่ความจริงแล้วแนวคิดในการพัฒนาและนำองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี มาบูรณาการเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม มีการพูดกันมานานกว่า 10 ปี แล้ว ในเรื่องของเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) และสังคมฐานความรู้ (Knowledge Society) ซึ่งคำทั้ง 2 คำนี้ มีความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกัน

โดยเศรษฐกิจฐานความรู้ จะต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนในการวิจัยพัฒนาและการยกระดับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาประชาชนให้เป็นแรงงานที่มีความรู้และมีทักษะสูง สามารถแข่งขันและปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกับสังคมฐานความรู้ก็จะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ และที่สำคัญจะต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้เป็นเจ้าขององค์ความรู้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการ ให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ไปใช้เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับประเทศได้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ในทางเศรษฐศาสตร์ จุดมุ่งหมายสำคัญของประเทศก็คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแนวคิดประเทศไทย 4.0 คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะของทรัพยากรมนุษย์ที่มีอย่างมากมายและหลากหลาย ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมและความแตกต่างเพื่อสร้างคุณค่าสูงสุด ทำนองเดียวกับเศรษฐกิจฐานความรู้ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่าง ซึ่งล้วนเกิดจากกระบวนการคิดของสมองและการใช้ทักษะระดับที่สูงในทุกๆ กิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การผลิตสินค้า และการให้บริการ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสนับสนุนสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้และใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากเราจะมองไปที่วงจรการพัฒนานวัตกรรม (S-Curve) ตัวใหม่ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้และเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างคุณค่า ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น Digital Technology, Bio Technology, Robotic and Automation Technologies หรือ Nano Technology คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำคัญลำดับแรกๆ คือการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการวิจัยพัฒนา หรือการต่อยอดนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยได้อย่างลงตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ยากหากคนในสังคมไทยยังไม่เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และหากยังขาดโครงสร้างพื้นฐานในการเรียนรู้ของประเทศไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะสาขา หรือแหล่งเรียนรู้ทั่วไปสำหรับคนทุกวัยและทุกระดับของสังคม อาทิ ห้องสมุด ศูนย์บ่มเพาะและอบรมเชิงปฏิบัติการ ห้องทดลองเฉพาะด้านที่มีความทันสมัย ศูนย์แสดงนิทรรศการและผลงานด้านนวัตกรรม หรือโรงละคร ที่คนทุกคนมีโอกาสเข้าถึง เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ แสดงศักยภาพ และเป็นชุมชนแห่งการพัฒนาต่อยอดและนำนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม ของผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานความรู้และสังคมฐานความรู้ทั้งสิ้น

ในเมื่อเรากำลังเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์เก่าไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm Shift) ก็จะต้องมีการปรับตัวในแง่กระบวนการคิดและการดำเนินการ ทั้งในด้านกระบวนการสร้างคุณค่า เครื่องมือเครื่องมือในการผลิต การบริหารจัดการ โครงสร้างองค์กร แนวทางการค้าขาย การวางกลยุทธ์ แนวทางการเติบโต การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส เพื่อให้มีมาตรฐานที่เป็นสากลและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของโลกใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย โดยจะต้องอาศัยการตระหนักรู้และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มจากการพัฒนาและขับเคลื่อนการเรียนรู้ของคนไทยในทุกช่วงวัยและการให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะในโลกอนาคตการหยุดอยู่นิ่ง ก็ไม่แตกต่างกับการเดินถอยหลัง ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา

 

Reviews

Comment as: