เศรษฐศาสตร์กับเงินที่หายไป “ในเศรษฐกิจขาลง” 

By : Apichart Prasert


เมื่อไม่นานนี้ ผมได้ยินเพื่อนเจ้าของธุรกิจโฆษณาคนหนึ่งบอกว่า เขาเชื่อว่า “สสารไม่มีทางหายไปจากโลก” และเช่นเดียวกับเงิน ที่แม้ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยยังไง “เงินก็ยังอยู่” เพียงแต่ว่าจะโอนย้ายไปอยู่ที่ใด และหน้าที่ของเราก็คือ หาให้ได้ว่า มันไหลไปอยู่ที่ไหน? แล้วค่อยหาทางดึงมันออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและสร้างมูลค่าเพิ่ม

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ผมก็เห็นด้วยบางส่วนว่า ควรนำเงินและสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม ในฐานะเป็น Value Maximizer แต่ในทางเศรษฐศาสตร์เราแบ่งเศรษฐกิจออกเป็น 2 ภาคใหญ่ๆ คือ

ภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของคนและธุรกิจ

และเศรษฐกิจภาคการเงิน (Monetary sector) ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและบริการเหล่านั้น (ในปัจจุบันเงินก็กลายมาเป็นสินค้าได้เหมือนกัน)

โดยในจุดดุลยภาพมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าและบริการก็จะเท่ากับมูลค่าของความพอใจที่พร้อมที่จะจ่ายให้กับสินค้าและบริการเหล่านั้น

ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา เมื่อคนและภาคธุรกิจลดการใช้จ่ายและการลงทุน ผลก็คือ มูลค่าของสินค้าและบริการที่ลดลง ส่งผลให้มูลค่าของธุรกิจลดลงตามเป็นลูกโซ่ มูลค่าของเศรษฐกิจในภาพรวมที่เป็นจำนวนเงินก็จะลดลง

เพราะฉะนั้นหากมองในมุมเศรษฐกิจจุลภาค ผู้ประกอบการควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน? สิ่งที่ต้องถามเป็นอย่างแรกคือ

เงินที่เหลืออยู่ไหลไปที่ไหน? และคำถามที่ 2 คือ เราจะทำอย่างไรที่จะดึงมันออกมาใช้ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น?

คำถามแรก คงตอบได้ไม่ยากว่า เงินไหลไปอยู่ในธุรกิจหรือการลงทุนแบบใด

แต่สิ่งที่ท้าทายคงอยู่ที่คำถามที่ 2 ว่า เราจะดึงเงินที่ลดลงออกมาใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างไร

โดยหากจะนำแนวทางการพัฒนาธุรกิจมาช่วยวิเคราะห์ ก็คงจะต้องเริ่มดูที่ผู้บริโภคและความต้องการเป็นอย่างแรก (ความต้องการสิ่งใดที่มีความหมายจะต้องมาพร้อมกับความสามารถในการใช้จ่ายเสมอ) จะต้องเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Customer Segment) ให้เหมาะสมกับตัวเรา ว่าเราจะสามารถสนองความต้องการหรือช่วยแก้ไขปัญหา (หรือแม้แต่การกระตุ้นและให้ความรู้ว่าเขาควรจะต้องการสิ่งใด) ได้อย่างสร้างสรรค์ แตกต่างอย่างมีความหมาย และคุ้มค่าได้อย่างไร

ซึ่งก็คือการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในสายตาของผู้บริโภค (Value Creation) แล้วค่อยส่งต่อมูลค่าเหล่านั้นไปสู่ผู้บริโภคต่อไป (Value Delivery) โดยผ่านช่องทางการซื้อสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและ Life Style ของผู้บริโภค ทั้งในด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การทำงาน และการดำเนินชีวิต และท้ายที่สุดจะต้องสร้าง/รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ด้วยการออกแบบกระบวนการ กิจกรรม และบริการอย่างสร้างสรรค์ (Creative Design) โดยจะต้องคำนึงถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าที่สุดในแต่ละกิจกรรมหลักของเรา ทั้งในด้านเงิน คน เทคโนโลยี และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมืออันดีทั้งตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chains)

แน่นอนที่สุดในโลกปัจจุบันที่ความยืดหยุ่นและการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจ การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ในการดำเนินธุรกิจ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น

- นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการภายในองค์กร

เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งต่างๆ ภายนอก อาทิ นวัตกรรมเกี่ยวกับแนวคิดในการทำธุรกิจ (Profit Model Innovation) นวัตกรรมด้านโครงสร้างองค์กร นวัตกรรมในกระบวนการดำเนินงานด้านต่างๆ และนวัตกรรมในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้อง

- นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการหลักสู่กลุ่มเป้าหมาย

อาทิ นวัตกรรมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมด้านการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค และท้ายสุด

- นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง

อาทิ นวัตกรรมด้านการให้บริการและการให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้บริโภค นวัตกรรมในการจัดจำหน่ายและขนส่งสินค้า นวัตกรรมด้านการสร้างภาพลักษณ์องค์กร รวมถึงนวัตกรรมในการสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินธุรกิจมีหลากหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงในหลากหลายศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามในการเชื่อมโยงและอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงทิศทางในภาพกว้าง โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีอยู่จำกัดให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด แต่ก็ไม่ละเลยในปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากกระบวนการทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างได้จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่ในช่วงนี้ไงครับ ช่วงนี้ไงครับ

 

Reviews

Comment as: