นวัตกรรมใน “ประเทศไทย 4.0”

By : Apichart Prasert


ช่วงนี้มีการพูดถึงโมเดลไทยเลนด์ 4.0 ค่อนข้างบ่อยในฐานะที่เป็นที่เลือกทางรอดของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นการสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่แปลกใหม่และมีคุณค่าในสายตาของผู้ใช้

แต่หลายๆ คนอาจยังไม่ค่อยแน่ใจเกี่ยวกับคำว่านวัตกรรมว่ามันคืออะไร ครอบคลุมประเด็นใดบ้าง และจะนำมาสู่การสร้างคุณค่าได้อย่างไร

สำหรับผมแล้ว คำว่านวัตกรรมควรจะประกอบด้วยความหมายที่สำคัญ 3 ส่วน ซึ่งได้แก่

1.ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงการประสานการทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอสิ่งนั้นไปยังผู้ใช้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับตัวนวัตกรรมเองในระยะยาว

ขอยกตัวอย่างคลาสิกในกรณีของผู้ผลิตรถยนต์ Ford ในช่วงปี 1900 กว่าๆ เมื่อ Henry Ford ผลิตรถยนต์โมเดล T ซึ่งมีราคาถูกและเป็นมาตรฐานโดยอาศัยนวัตกรรมในกระบวนการผลิตแบบ Mass Production ในตอนนั้น Henry Ford ตัดสินใจไม่ขายรถยนต์ให้กับประชาชนโดยตรง แต่เลือกที่จะขายผ่านดีลเลอร์ (เป็นโมเดลธุรกิจที่ใหม่ในสมัยนั้น) ซึ่งช่วยลดภาระการลงทุนและความเสี่ยงให้กับบริษัทอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในวงกว้าง และสามารถสร้างการรับรู้และผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่บริษัท Ford

2.นวัตกรรมไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่ใหม่และไม่เคยมีมาก่อน แต่อาจจะเกิดจากการพัฒนาปรับปรุงในแง่มุมหรือในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นเพียงแค่สิ่งที่แปลกใหม่ในตลาดใดตลาดหนึ่งหรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งก็ได้

ตัวอย่างเช่น บริษัท NIKE ในปี 1990 ใช้นวัตกรรมด้านช่องทางการจัดจำหน่าย โดยการเปิดร้าน Niketowns ร้านขายปลีกผลิตภัณฑ์ NIKE ในย่านที่แพงและดีที่สุดในโลก ไม่ว่าจะที่เมือง New York กรุง London กรุง Paris หรือแม้กระทั่งเมือง Beijing ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้เข้ามาชมและซื้อของในร้าน แน่นอนที่สุดกำไรจากการขายสินค้าไม่สามารถชดเชยกับค่าเช่าที่สูงมาก แต่สิ่งที่ผู้บริหาร NIKE ต้องการไม่ใช่กำไรแต่เป็นการรับรู้และความสนใจของคนต่อยี่ห้อ NIKE ซึ่งทำให้ NIKE สามารถประหยัดงบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ได้อย่างมหาศาลและคุ้มค่า เมื่อไม่นานมานี้มีการนำเอากลยุทธ์เดียวกันมาใช้ในธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทย อาหารดี ราคาถูก และอยู่ในทำเลทอง ซึ่งสามารถดึงดูดคนให้มาใช้บริการและบอกต่อเป็นทอดๆ โดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณามากมายอะไร

3.นวัตกรรมไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ แต่อาจจะเป็นกระบวนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนและสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขั้นตอนทางธุรกิจ (อาทิ นวัตกรรมทางการเงิน กระบวนการผลิต ตัวผลิตภัณฑ์/บริการ และการจัดจำหน่าย) ให้เกิดประสิทธิภาพและความเรียบง่าย ตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบจนถึงการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า

ซึ่งก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจว่าจะสร้างนวัตกรรมในเรื่องใดและอย่างไร จากการค่อยๆ วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาว่าอะไรคือความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน และเมื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแล้วจะต้องผลักดันสนับสนุนตลอดกระบวนการที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะเห็นผลของนวัตกรรมเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของยอดขายหรือการรับรู้ของลูกค้าหรือผลที่มีต่อประชาชน (หากเป็นหน่วยงานภาครัฐ) ว่ามีความคุ้มค่าและยั่งยืนหรือไม่

ในโลกปัจจุบัน แนวคิดเรื่องนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าไม่ได้เป็นเรื่องแปลกในการทำธุรกิจ ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราจะเลือกสร้างสรรค์มันที่ไหน และอย่างไร

สินค้าและบริการบางอย่างเป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดความแตกต่างและนวัตกรรมได้ยาก แต่บางสิ่งก็สามารถสร้างนวัตกรรมได้ง่ายและคุ้มค่ากว่า การเลือกอย่างชาญฉลาดตั้งแต่ต้น น่าจะรับประกันความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคงขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับลูกค้า

หากใครอ่านออกได้เร็วและสามารถตอบสนองได้ทันที ความสำเร็จก็อยู่ใกล้แค่เอื้อมครับ

 

Reviews

Comment as: