หยุดเมื่อต้องหยุด

By : Apichart Prasert


ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี ค.ศ. 1941 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเพลี่ยงพล้ำต่อการโจมตีของเยอรมนี นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Sir Winston Churchill กล่าวในที่ประชุมนักเรียน Harrow ว่า “คนอังกฤษจะไม่มีวันยอมแพ้” เข้าทำนองที่ว่า “คนที่ยอมแพ้จะไม่มีวันชนะ และคนที่ชนะคือคนที่ไม่ยอมแพ้”

แน่นอนที่สุดในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือกและเป็นเรื่องของความเป็นความตาย บางครั้งการมุ่งไปตายเอาดาบหน้าอาจจะเป็นเพียงทางเลือกทางเดียว

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง การเลือกที่จะยอมแพ้หรือหยุดก็ถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เราสามารถเลือกได้ เป็นการเลือกที่จะหยุดพักเพื่อคิด เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้มีความพร้อมเพื่อลุกขึ้นสู้ต่อไป ก่อนที่จะถลำลึกไปจนไม่สามารถกลับตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางธุรกิจ การเมือง การทหาร หรือประเด็นเล็กๆ อย่างเช่น เรื่องความสัมพันธ์และชีวิตคู่ หรือการเลือกที่จะเรียนต่อหรือทำงาน

หลายคนอาจจะรู้สึกเสียหน้าและยอมรับได้ยากกับความล้มเหลวและการหยุด ทั้งที่ในโลกของการแข่งขัน มีคนล้มเหลวมากมายก่อนที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เพราะความล้มเหลวถือเป็นบทเรียนที่มีค่าที่ทำให้เราสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ นักคิดนักเขียนหลายท่านถึงกับกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ออกไปสู่เวทีธุรกิจให้เร็วขึ้นเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากความยากลำบากและความล้มเหลว

นอกจากความรู้สึกเสียหน้าที่จะยอมแพ้แล้ว ยังมีความเข้าใจผิด (Fallacies) ที่ทำให้เราเลือกที่จะไม่ยอมแพ้หรือหยุด อาทิ แนวคิดเรื่องต้นทุนจม (Sunk Cost) ซึ่งคำว่าต้นทุนนั้น อาจหมายถึงเงิน ระยะเวลา ความตั้งใจ ความเหนื่อยยาก หรือความสัมพันธ์ ซึ่งยิ่งลงทุนไปแล้วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่อยากหยุดหรือทิ้งให้สูญเสียไป

แต่หากเราจะกลับมาพิจารณาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต

บ่อยครั้งอาจจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาของเราได้รับการแก้ไขหรือช่วยให้เราบรรลุตามที่คาดหวังไว้ได้เลย

หลายครั้งยิ่งจะทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา แต่กลับเป็นตัวที่ปิดกั้นหรือขัดขวางทางเลือกที่ดีกว่าของเราไปเลยก็ได้

ต้นทุนจมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต อาจจะทำให้เราเกิดความชำนาญหรือเป็นที่รู้จักในตอนนั้น แต่เมื่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป การยึดติดกับอดีตอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง

อีกแนวคิดที่ทำให้เราไม่ยอมหยุดและปรับเปลี่ยนก็คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ซึ่งก็คือ การสูญเสียโอกาสของการใช้ต้นทุนที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด

อย่าลืมว่าทุกๆ สิ่งที่เราทำอยู่เกิดขึ้นจากการที่เราต้องเลือกภายใต้ต้นทุนที่เรามีอยู่อย่างจำกัด เช่น เงินทุน ระยะเวลา กำลังกายและกำลังใจ และทรัพยากรอื่นๆ ที่เราต้องใช้ไป

การเลือกลงทุนในธุรกิจหนึ่ง หมายถึงการที่เราไม่สามารถลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ได้ หรือการเลือกเรียนต่อกับการออกมาทำงานก็ต้องมาคิดพิจารณาถึงความคุ้มค่าของทางเลือกที่จะหยุดหรือลดการให้ความสำคัญของสิ่งหนึ่งเพื่อทำในสิ่งอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์และความคุ้มค่ากว่า

การหยุดจะไม่เกิดประโยชน์เลยหากเราไม่รู้จักเรียนรู้จากการหยุดหรือขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแปลงและทำในสิ่งที่ดีกว่า

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องปรับมุมมองว่าการหยุดพักหรือยอมแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราจะล้มเหลวหรือแพ้ตลอดไป แต่เป็นเพียงการหยุดคิดพิจารณาเรียนรู้ตัวเองและสิ่งรอบข้าง การพัฒนาปรับตัว และการรอคอยจังหวะที่เหมาะสม เพื่อก้าวเดินต่อไปในทิศทางและจังหวะที่เหมาะสมกับตัวเราและสถานการณ์ในอนาคตมากกว่า

 

Reviews

Comment as: