JEFF BEZOS ได้ดีเพราะ “หนังสือ” (ตอนจบ)

By : Jakkrit Siririn


ผลการสำรวจของ BLOOMBERG BILLIONAIRES INDEX ที่ออกมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2018 ปรากฏชื่อของ JEFF BEZOS ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก
.
รายงาน “วงการหนังสือโลก” ใต้เงายักษ์ AMAZON ของ BLOOMBERG BILLIONAIRES INDEX เขียนเอาไว้ทำนองว่า แม้ AMAZON จะตั้งความหวังไว้กับ KINDLE เครื่องอ่าน E-BOOK ที่ตนเองผลิตขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่มันก็ยังเป็นเรื่องของอนาคต
.
เพราะในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า AMAZON จะยังสนุกสนานกับขายหนังสือผ่านระบบออนไลน์มากกว่า…
.
เมื่อทิศทางเป็นเช่นนี้ จึงนำไปสู่การลงหลักปักฐานในธุรกิจ E-COMMERCE ของ AMAZON นั่นเองครับ…
.
แน่นอนว่า โมเดลธุรกิจ E-COMMERCE นั้นมีส่วนทำลายรูปแบบการทำธุรกิจในแนวทางดั้งเดิมที่การค้าการขายสิ่งของใดๆ ก็ตามนั้น จำเป็นจะต้องมี “หน้าร้าน”
.
ด้วยอุปสรรคด้านการเดินทาง ปัญหาเรื่องที่จอดรถ และค่าน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ลักษณะนิสัย รูปแบบการซื้อหาสิ่งของที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์การช้อปปิ้งของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนจากการนั่งรถและเดินไปซื้อของ มาเป็นการซื้อสินค้าผ่าน E-COMMERCE
.
เมื่อแนวโน้มการค้าการขายเป็นไปในทิศทางนี้ ธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์ของ AMAZON จึงเข้ามามีบทบาทในวงการหนังสือโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุผลหลักก็คือการยืนระยะมาถึง 24 ปี ทำให้ BRAND ของ AMAZON นั้นแข็งมาก ซึ่งมีที่มาจาก “ความเชื่อถือ”
.
เป็น “ความเชื่อถือ” ในทุกด้าน ไล่ตั้งแต่การไม่โกงบัตรเครดิต การส่งสินค้าตามกำหนดเวลา สินค้าอยู่ในสภาพเหมือนการเลือกซื้อจากร้านหนังสือทุกประการ และที่สำคัญก็คือการมีหนังสือให้เลือกทุกปกตามที่ลูกค้าต้องการ…
.
“ความเชื่อถือ” ประการหลังนี้เอง ที่ทำให้ AMAZON ช่วงชิงความได้เปรียบจากผู้ค้ารายอื่น ทั้งจากบรรดาร้านหนังสือในรูปแบบดั้งเดิม และทั้งจากธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ด้วยกัน เพราะสายป่านของ AMAZON ยาวกว่าทำให้สามารถรวบรวมหนังสือไปครอบคลุมปกมากกว่า…
.
และที่สำคัญที่สุดก็คือ AMAZON ใช้ “จุดแข็ง” ของธุรกิจ E-COMMERCE คือ “ความเร็ว” และ “ความเป็น DIGITAL” ช่วงชิงความได้เปรียบ…
.
โดยเฉพาะ “ความเป็น DIGITAL” ของธุรกิจ E-COMMERCE ที่สามารถจัดเก็บ “ฐานข้อมูลลูกค้า” เอาไว้ได้อยู่หมัด
.
“ฐานข้อมูลลูกค้า” นอกจากจะหมายถึงชื่อนามสกุลที่อยู่เบอร์โทรศัพท์และอี-เมลของลูกค้าแล้ว ยังหมายถึง “ลักษณะนิสัยของลูกค้า” อีกด้วย…
.
เพราะนอกจากจะ “ขายหนังสือ” แล้ว AMAZON.COM ยัง “ตีความพฤติกรรมของลูกค้า” ผ่าน “ฐานข้อมูล” ที่ AMAZON ได้สร้างขึ้น ทันทีที่ลูกค้าคลิกเข้าเว็บไซต์ ไม่ว่าจะซื้อหนังสือหรือแค่แวะมาเยี่ยมชม AMAZON.COM ก็จะทำการ “จัดเก็บข้อมูล” ทันที…
.
ทำไปทำมา เจ้า “ฐานข้อมูลลูกค้า” นี่แหละที่กลายเป็น “มูลค่าเพิ่ม” นอกเหนือไปจากการธุรกิจขายหนังสือผ่านระบบออนไลน์ของ AMAZON
.
เพราะ AMAZON “ตีความพฤติกรรมของลูกค้า” จึงทำให้ AMAZON “รู้นิสัยของลูกค้า” เมื่อสังเคราะห์ “ฐานข้อมูลลูกค้า” ทั้งหมดแล้ว AMAZON จึงไม่รอช้าที่จะแตกไลน์ธุรกิจออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง
BLOOMBERG BILLIONAIRES INDEX ได้รายงานต่อไปว่า “วงการหนังสือโลก” ใต้เงายักษ์ AMAZON นอกจากการช่วงชิงความได้เปรียบจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคหนังสือทั่วโลกที่มุ่งหน้ามาหา AMAZON ทำให้ AMAZON ใช้ความได้เปรียบตรงจุดนี้บีบคอสำนักพิมพ์ BIG SIX ในวงการหนังสือโลก อันประกอบไปด้วย RANDOM HOUSE, PENGUIN, HARPERCOLLINS, MACMILLAN, HACHETTE และ SIMON & SCHUSTER ด้วยการขอเพิ่มเปอร์เซ็นต์ฝากขายแล้ว…
.
AMAZON ยังแอบเอา “ฐานข้อมูลลูกค้า” ของ BIG SIX ที่ซื้อหนังสือผ่านระบบ E-COMMERCE ของ AMAZON ไปต่อยอดแตกไลน์ธุรกิจของตนเอง
.
ทุกวันนี้ นอกจากกินรวบธุรกิจหนังสือแล้ว AMAZON ยังตั้งตัวเป็น STUDIO ผลิตภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ ด้วยการจ้างผู้กำกับ จ้างมือเขียนบท จ้างทีมงานกองถ่าย จ้างดารา แล้วขายบริการดูหนังออนไลน์ผ่านระบบ STREAMING
.
นอกจากนี้ AMAZON ยังทำค่ายเพลง ด้วยการจ้างโปรดิวเซอร์ จ้างมือเขียนเพลง จ้างทีมงานห้องอัด จ้างศิลปิน แล้วขาย MP3 ไปจนถึงการแตกไลน์ต่อยอดมาขาย SMART PHONE และ TABLET PC ควบคู่ไปกับการขาย “หนังสือไฟฟ้า” ของตัวเอง คือ KINDLE อีกด้วย

 

Reviews

Comment as: