Japan 5.0 (ตอนแรก)
By : Jakkrit Siririn
หากเราพิจารณาถึงบริบทของโลกยุคปัจจุบัน มีการใส่รหัส (Code) ให้กับยุคสมัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก โดยเริ่มนับกันที่โลกยุค 1.0 ซึ่งหมายถึงยุคเกษตรกรรม 2.0 คือโลกยุคอุตสาหกรรม ยุค 3.0 คือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่วนโลกยุค 4.0 คือโลกยุคหลังเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทิศทางที่โลกเคลื่อนไปนี้ ได้ผลักดันให้ทุกวงการต้องเคลื่อนตาม ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ
Toffler (1980) ได้กล่าวถึง First wave หรือคลื่นลูกแรกของมนุษยชาติ คือสังคมเกษตรกรรมที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลานับพันๆ ปี มีจุดเริ่มต้นนับจากวันแรกที่มนุษย์เริ่มหยุดออกเดินทางเพื่อล่าสัตว์ หันมาทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ในการดำรงชีวิต ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม ก่อเกิดสังคม พัฒนาสู่การสร้างวัฒนธรรม และเริ่มมีเวลาในการสั่งสมองค์ ตรงกับโลกยุค 1.0
Second wave หรือคลื่นลูกที่สอง Toffler กล่าวว่า เป็นยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเน้นไปที่การผลิตและตลาดขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรเพื่อสร้างสินค้าจำนวนมาก โดยได้ส่งอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมากมาย
Third wave หรือคลื่นลูกที่ 3 เป็นยุคของการเชื่อมโยงและเข้าถึงระบบสารสนเทศจากทุกแห่งหน ภายใต้การเชื่อมโยงองค์ประกอบพื้นฐานที่ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามารองรับทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และโครงสร้างโทรคมนาคม เกิดเป็นชุมชน เป็นเครือข่าย เป็นจุดเริ่มแห่งการก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่
สอดคล้องกับ Case (2016) ที่มองว่า คลื่นลูกที่ 1 ในแง่ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) คือช่วงปี ค.ศ.1985-1999 คลื่นลูกที่ 2 คือช่วงปี ค.ศ.2005-2016 คลื่นลูกที่ 3 ตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 เป็นต้นไป Case มองว่า Internet ขยายตัวอย่างมากมาย จากปี 1986 จนถึงปัจจุบัน และจะมีบทบาทมากมายในการทำงานให้สังคมโลก ไม่ว่าการศึกษา สาธารณสุขหรือแม้กระทั่งการแก้ปัญหาการก่อการร้ายเรื่องแก้ปัญหาโลกร้อนและแก้ปัญหาความยากจน
จีระ หงส์ลดารมภ์ (2559) กล่าวว่า ช่วงแรกก็คือช่วงที่ Internet เริ่มใหม่ๆ ยังไม่ขยายตัวมากนัก แต่พอหลังปี 2000 ก็มี Product IT ใหม่ๆ เช่น Search Engine, Google, Yahoo หรือ Facebook ขยายใหญ่มากขึ้น
แต่คลื่นลูกที่ 3 ของ Steve Case คือ Internet of Things บทบาทของ Internet จะขยายไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง Internet จะเกิดขึ้นทุกๆ จุดที่เป็นวัตถุ และสามารถเชื่อมโยงได้อย่างมากมาย ซึ่งต่อไปนี้ หุ่นยนต์ Robots คือ Things แต่จะมี Internet หรือ Software ที่มีความสามารถทำอะไรได้มากมาย รวมทั้งคิดเป็นและมีอารมณ์ มีความฉลาดคล้ายๆ มนุษย์ ซึ่งบางที คลื่นลูกที่ 3 ของ Internet ถูกเรียกว่า fourth Industrial Revolution หรือปฏิวัติอุตสาหกรรมขั้นที่ 4
หากจะพูดถึงThailand 4.0 ก็เหมือนกับการกล่าวถึงห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมโลก กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่โลกยุค 1.0 คือโลกของเกษตรกรรม โลกยุค 2.0 คือโลกยุคอุตสาหกรรม และโลกยุค 3.0 คือโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโลกยุค 4.0 คือโลกยุคหลังเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ Thailand1.0 เน้นการเกษตรเป็น Thailand2.0 เน้นอุตสาหกรรมเบา Thailand3.0 เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก Thailand 4.0 เน้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2559) Thailand 4.0 จึงเปลี่ยนการขับเคลื่อนประเทศจากภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
การพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 ภาครัฐได้กำหนดโครงการสานพลังประชารัฐเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคประชาชน ภาคสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ร่วมกันระดมความคิด ผนึกกำลังกันขับเคลื่อน ผ่านโครงการ บันทึกความร่วมมือ กิจกรรม หรือ งานวิจัยต่างๆ โดยการดำเนินงานของประชารัฐกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่
กลุ่มที่ 1 การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ พัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการดึงดูดการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
กลุ่มที่ 2 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ
กลุ่มที่ 3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมล์ การสร้างรายได้ และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ
กลุ่ม 4 การศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ หรือ โรงเรียนประชารัฐ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ
และกลุ่มที่ 5 การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งแต่ละกลุ่มกำลังวางระบบและกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเข้มข้น
ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศญี่ปุ่น ได้มีโครงการใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ Societies 5.0 หรือ Japan 5.0 ใช่ว่าจะใส่ตัวเลขอะไรก็ได้ หรือเพิ่มตัวเลขอะไรให้กับโครงการอะไรก็ได้ง่ายๆ คืออาจทำได้ แต่คงไม่มีความหมาย หากผู้ประกาศตัวเลขต่างๆ ไม่มีเครดิตในสายตาของใคร
แต่นี่คือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีเครดิตในฐานะประเทศผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคหลังสงคราโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทันทีที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ถูกจำกัดหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ
ทว่า ญี่ปุ่นก็ไม่ย่อท้อ แต่กลับเดินหน้าฟื้นฟูประเทศด้วยนวัตกรรมเป็นนวัตกรรมที่หลายคนหลายประเทศเพิ่งจะได้มีโอกาสทำความรู้จัก ทว่า ญี่ปุ่นขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมมาหลายสิบปีแล้ว
การประกาศนโยบาย Japan Societies 5.0 หรือ Japan 5.0 แม้ดูเผินๆ จะเหมือนมิใช่เป็นแคมเปญที่ออกมาเพื่อตบหน้าใคร หรือเยาะเย้ยนโยบายของประเทศไหน ทว่า ก็เหมือนกับการก้าวนำหน้าคนอื่นไปหนึ่งก้าว ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์หนึ่งของญี่ปุ่นมาช้านาน
การประกาศเดินหน้า Japan 5.0 รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำประเทศเข้าสู่ยุคหลังนวัตกรรม ที่ทุกสิ่งทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของชาวญี่ปุ่น โดยมีหลังพิงคือเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า
ที่สำคัญก็คือ ทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นเป็นผู้สรรค์สร้างและประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาด้วยตัวของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทย ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 จึงต้องรีบขยับตัวตามญี่ปุ่นไปติดๆ เพื่อเดินให้ทันนโยบาย Japan 5.0 ซึ่งผมคิดว่า เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะมี Model ดีๆ หรือ Best Practice ชั้นยอด เป็นต้นแบบ เป็นแบบเรียน เพื่อลัดเวลาลองผิดลองถูก เพราะเราไม่มีเวลาโอ้เอ้ในโลกยุคหลังนวัตกรรมอีกแล้วนั่นเองครับ