Gift Economy เศรษฐกิจของขวัญในวันที่โลกต้องแลกเปลี่ยน

By : Kamolkarn Kosolkarn


เมื่อการให้ของขวัญในวันหรือเทศกาลพิเศษ ไม่ได้เป็นเรื่องของความดีใจเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเทรนด์ที่กลายเป็นรูปแบบทางเศรษฐกิจ และเป็นวิธีการสำคัญหนึ่งที่มนุษย์เรา รวมไปถึงภาคส่วนต่างๆ ใช้เพื่อแสดงและดำรงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไว้ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาพูดถึงระบบเศรษฐกิจของของขวัญไว้ว่า เป็นระบบกลไกการแลกเปลี่ยนหลักของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ดำรงทั้งความสัมพันธ์ของคนในโลกสมัยใหม่และภายในภาคธุรกิจไว้ด้วยกัน

และอย่างที่ทราบกันดีว่า เจนเนอเรชั่นมิลเลเนียลนั้นแสนจะชื่นชอบการมีประสบการณ์พิเศษ ทำให้ 72% ของคนเจนนี้ในสหรัฐฯ เลือกที่จะจ่ายเงินไปกับการได้รับประสบการณ์พิเศษ มากกว่าซื้อของเป็นชิ้น แสดงให้เห็นว่าเลือกมองคุณค่าที่อยู่เหนือตัววัตถุ จากรายงานของ American Lifestyle กล่าวว่า คนเจนนี้เลือกใช้เงินเพื่อ “ความเป็นอยู่” มากกว่า “การได้ครอบครอง” ของขวัญของพวกเขาจึงเป็นลักษณะทริปในวันหยุดหรือร้านอาหารมื้อพิเศษ

ไม่ใช่แค่เพียงในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เทรนด์นี้ยังปรากฏในประเทศจีนด้วยเช่นกัน จากสถานภาพของความร่ำรวยใหม่ ทำให้ในช่วงต้นของการเปิดประเทศ เหล่าประชากรจะเลือกซื้อของขวัญเป็นวัตถุ ทั้งอาหารจนถึงความบันเทิง แต่เมื่อเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา ทำให้คนจีนเริ่มหันมามองการใช้จ่ายเงินในระบบใหม่ ลงทุนไปกับการพัฒนาตัวเอง การช่วยเหลือผู้อื่น หรือการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว

ยิ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์มากเท่าไหร่ ในทางหนึ่ง ความกดดันก็เหมือนยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปเท่านั้น หลายคนตามหาของขวัญที่ผู้รับจะจดจำได้ และช่วยให้เกิดสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนหรือบุคคลที่รัก เป็นที่มาของ Department store of Mind ร้านค้าออกแบบมาเพื่อให้นักช้อปได้บำบัดผ่านการซื้อของขวัญที่มากความหมาย การจัดวางสินค้าจึงแบ่งแยกตามระดับของสภาพจิตใจ เป็นกังวล สับสน สงสัย อยากเปิดใจ ตื่นตัว ตัวอย่างของขวัญกับความสัมพันธ์ทางอารมณ์ เช่น เป็นกังวล – สติ๊กเกอร์ให้กำลังใจ สมุดสำหรับการไม่คิดอะไรเลย หรือความรู้สึกอยากเปิดใจ – ผ้าเช็ดจานลดความเครียด ไม้ช่วยฟัง (ใครถือไว้จะมีสิทธิ์พูด โดยที่ทุกคนต้องฟังอย่างตั้งใจ)

สอดคล้องกับเว็บไซต์ http://www.delightgifts.in/ เว็บไซต์ e-commerce ที่นำเสนอของขวัญจาก 65 แบรนด์ชั้นนำ มอบประสบการณ์สุดพิเศษกว่า 500 รูปแบบ ตั้งแต่รับประทานอาหารในโรงแรมหรู ไปจนถึงล่องเรือยอร์ชในมุมไบ เว็บไซต์นี้ขายเป็นวอยเชอร์ที่สามารถใช้จ่ายได้ตามรสนิยมและความสนใจของผู้ซื้อ

เศรษฐกิจของขวัญนี้ไม่ใช่แค่เพียงซื้อของแลกเปลี่ยนกัน หรือเพื่อคนอื่นเท่านั้น แต่อัตราการซื้อของขวัญให้ตัวเองก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน นัยว่าเป็นทางเลือกในการดูแลตัวเอง โดยอาศัยช่วงเทศกาลพิเศษ ในการซื้อสินค้ามาเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตัวเอง เป็นอีกครั้ง ที่เจนเนอเรชั่นมิลเลเนียลใช้เงินกว่า 24% ไปกับการซื้อของขวัญให้ตัวเอง ในทางหนึ่งก็เป็นการเก็บออมเงิน หรือการลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ที่จะให้ผลตอบแทนยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

Reviews

Comment as: