Genderful ความหลากหลายทางเพศ ขอบเขตที่ไร้ข้อจำกัด

By : Kamolkarn Kosolkarn


ในวันที่โลกเริ่มเปิดรับความหลากหลายทางเพศที่มากกว่าชายหรือหญิง หรือคำว่า “เพศทางเลือก” ได้กลายเป็นมาตรฐานทางสังคมในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่แค่เพียง หนึ่งหรือสาม แต่คือช่วงเวลาของการทำความเข้าใจในความซับซ้อนของเพศที่มากกว่านั้น

Genderful เป็นคำที่ต่อยอดมาจากคำว่า Genderless อัตลักษณ์เชิงบวกของเพศ ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคลมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การแสดงออกนั้นแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือ การเป็นหนทางนำไปสู่ความเท่าเทียมในการปฏิบัติตัวของคนในสังคม ด้วยจำนวนคนเจนเนอเรชั่น Z ที่มีการเปิดกว้างและขยันสร้างมาตรฐานใหม่ให้สังคมอยู่เสมอ เจนที่ไม่ตัดสินกันเพียงเพราะความแตกต่าง ทำให้วัฒนธรรมร่วมสมัยในช่วงนี้เป็นการเปิดกว้างสู่ “เพศกลาง” หรือ “ความหลากหลายทางเพศ” มากขึ้น ทั้งในซีรียส์ภาพยนตร์ (อย่างเช่น 13 Reasons why ที่มีตัวละครเป็นเพศทางเลือก) จนถึงสื่ออินเทอร์เน็ตต่างๆ เห็นได้ชัดจากเฟซบุ้ค โซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก

ถ้าคุณเป็นผู้ใช้เฟซบุ้คในสหราชอาณาจักร ในช่องระบุเพศในหน้าโปรไฟล์ส่วนตัวจะมีเพศให้เลือกกว่า 70 รายการ สหรัฐอเมริกามีให้เลือก 59 รายการ ไม่ว่าจะเป็น intersex women, asexual หรือ non-binary แม้แต่ช่องที่ ‘ไม่ระบุเพศ’ ก็มีให้เลือกด้วยเช่นกัน และอย่างที่นักเขียนประจำนิตยสาร Fortune อย่าง Vivian Giang เคยกล่าวไว้ว่า “การมีตัวเลือกเพียงสองเพศคือชายหรือหญิง กลายเป็นค่านิยมทางเพศที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องไม่จำเป็นอีกต่อไป”

Caption: ตัวละคร โทนี่ ในซีรี่ยส์วัยรุ่นอย่าง 13 Reasons Why ที่เป็นเกย์ คือการสะท้อนให้เห็นถึงการปรากฏของเพศทางเลือกในพื้นที่สื่อ

ไม่ใช่แค่เพียงวัฒนธรรมร่วมสมัยในสื่อต่างๆ เท่านั้น แต่การละลายขอบเขตเรื่องการกำหนดเพศยังปรากฏในอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยเช่นกัน เมื่อ อาเลสซันโดร มิเชล (Alessandro Michele) ผู้อำนวยการฝ่ายครีเอทีฟของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Gucci เลือกเปิดตัวโชว์แรกของเขาด้วยการข้ามขีดจำกัดในการออกแบบเสื้อผ้าว่าสำหรับผู้หญิงหรือผู้ชายสวมใส่ แต่เป็นการผสมผสานสไตล์ที่ไม่ว่าเพศไหนก็เลือกใส่ชุดทุกแบบได้ตามต้องการ

Caption: เสื้อสูทผู้ชายกับผ้าพิมพ์ลายดอก หรือเสื้อลำลองสีสันสดใสที่ใช้นายแบบชายสวมใส่

หรือแม้แต่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น H&M กับคอลเล็คชั่นพิเศษที่ทำร่วมกับ & Other stories ก็เลือกใช้แบบเป็นกลุ่มคนข้ามเพศทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังเป็นการส่งข้อความทางการเมืองถึงสังคมให้เปิดกว้างและให้เกิดการยอมรับมากขึ้น

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเองก็มีการแสดงออกถึงเรื่อง Genderful นี้มากขึ้น ค่านิยมแบบเดิมคือ ผู้ชายเลือกวิสกี้ และผู้หญิงเลือกไวน์ขาวชาร์ดอนเนย์ ในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป จากรายงานของนิตยสารดีเทลส์ (Details) กล่าวว่า ผู้ชายที่เป็นเจนเนเรอชั่นมิลเลเนียลเริ่มหันมาดื่มเบียร์โรเซ่ เบียร์สีชมพูหวานกลิ่นหอมที่ดูเหมาะสมกับผู้หญิง การเลือกบริโภคของกลุ่มผู้บริโภคเพศชายนี้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 41% พร้อมๆ กับที่ผู้หญิงเริ่มหันมาดื่มวิสกี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างและค่านิยมเรื่องเพศที่กำลังเปลี่ยนไป และสร้างเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับกลุ่มคนรุ่นหลัง การเปิดกว้าง ยอมรับ และไม่ตัดสินเพียงป้ายฉลากด้านรสนิยม จะเป็นการสร้างพื้นฐานด้านการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกันได้ต่อไป

 

Reviews

Comment as: