VISUAL INFORMATION คิดเห็นเป็นภาพ

By : Pattarakorn Vorathanuch
ทุกวันนี้เรากำลังตกอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร และเนื้อหาสาระต่างๆ มากมาย เรากำลังมีพฤติกรรมเคยชินกับการเสพสื่อที่มีทั้งสาระ ความรู้ การศึกษา หรือสื่อที่สะท้อนด้านสังคม การเมือง สื่อด้านบันเทิงต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ สื่อจากโซเชียลมีเดียหรือเรื่องราวทั่วๆ ไปที่เราชอบอ่าน
หากลองนำสื่อต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มาจำลองสร้างเป็นสิ่งก่อสร้าง คาดว่าคงจะมีขนาดใหญ่โตมหึมา ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น Big Data หรือ Mega Data กันเลยทีเดียว แต่ทว่า ข้อมูลที่มีมากมายเกินไปนั้น บางทีหากถ้าเราต้องการที่จะนำมาสื่อสาร ก็อาจจะยืดยาวเกินความจำเป็น
ผลการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) กล่าวว่า วิธีการสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายมากที่สุด คือการใช้ภาพประกอบ เพราะภาพสามารถเล่าเรื่องด้วยตัวมันเองได้ดีกว่าแค่ตัวอักษร
แต่คงจะดียิ่งขึ้นไปอีก หากว่ามีภาพบวกกับตัวอักษร ร่วมบรรยายในการเล่าเรื่อง ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ได้แจกแจงเรื่องราวดังกล่าวนี้ไว้ว่า
การพูดเพียงอย่างเดียว สามารถจูงใจได้ 50 %
รูปภาพประกอบ บวกการพูด สามารถจูงใจได้ถึง 68 %
ข้อมูลภาพ สามารถสื่อสารได้ดีกว่าข้อมูลตัวหนังสือถึง 323 %
และภาพสี สามารถเพิ่มประสิทธภาพการอ่าน 80 %
ข้อมูลภาพสามารถสื่อสารเข้าถึงสมองได้เร็วกว่า ข้อมูลตัวหนังสือ 60,000 เท่า
และถ้าหากเราลองนำทั้งสองสิ่งมารวมกันแล้ว สำหรับคนในยุคนี้ เราอาจเรียกสิ่งๆ นี้ว่าเป็น Visual information หรือถ้าจะให้เรียกตามความเข้าใจแบบที่คุ้นเคยกัน คือ Visual info graphic หรือ Motion graphic นั่นเอง
คำว่า info graphic หรือ Motion graphic ตามความหมายของคำศัพท์ คือ
Info = information ข้อมูล
Graphic = graphic design ภาพประกอบ ที่เป็นการออกแบบ
Motion = ภาพหรือข้อมูลที่มีการเคลื่อนไหว
สำหรับประเทศไทยเริ่มรู้จัก info graphic และ Motion graphic อย่างชัดเจน ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 ในซีรี่ยส์วิดีโอความรู้ชุด “รู้สู้ Flood” ซึ่งได้กลายเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่มีคนกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ด้วยเนื้อหา บวกภาพ และวิธีการเล่าเรื่องแบบง่ายๆ สั้นกระชับ ได้ใจความ และจับประเด็นความรู้ได้ดี info graphic และ Motion graphic จึงกลายเป็นสื่อที่ได้รับการยอมรับและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับหลักสำคัญในการผลิตสื่อ info graphic หรือ Motion graphic โดยทั่วไปนั้น มีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1. Content หรือเนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ
ส่วนที่ 2. ธีม และงานออกแบบกราฟฟิคดีไซน์
ส่วนที่ 3. วิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ
ส่วนที่ 4. วิธีการสร้างจุดสนใจให้คนนำไปสื่อสารหรือแชร์ต่อ
ปัจจุบันคนที่ทำงานด้านกราฟฟิค ถ้าหากจะลองเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ โดยผันตัวเองไปทำ info graphic ด้วย น่าจะเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะว่าตลาด info graphic ณ ตอนนี้ กำลังเป็นที่ต้องการอยู่มากและคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกไกลในอนาคต
ตัวอย่างบริษัทออกแบบทางด้านนี้ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เช่น กลุ่มทีมงานบริษัท ครีเอทีฟ มูฟ จำกัด
หรือ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
กล่าวโดยสรุป ด้วยการยกตัวอย่างสุภาษิตคำพังเพยของไทยที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น” น่าจะยังคงใช้สื่อความหมายได้ดีอยู่จนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ในยุคสมัยนี้อาจต้องนำมาเปรียบกับวลีภาษาอังกฤษที่ว่า “A picture is worth a thousand words” ซึ่งมีความหมายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าสื่อถึง “ภาพหนึ่งภาพแทนคำนับพันคำ” และเมื่อนำ “ภาพกับคำ” มาจัดวางไว้ด้วยกัน จะสื่อความหมายกลายเป็นจำนวนเท่าไหร่ ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ
https://www.youtube.com/watch?v=FDfcrFWhdZQ