TRAVELISM นักเดินทางไม่ใช่นักท่องเที่ยว

By : Pattarakorn Vorathanuch


กระแสเทรนด์ใหม่ของโลกการท่องเที่ยวแบบนักเดินทางในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า Travelism นั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ และไม่ใช่แค่เพียงในโซนยุโรป อเมริกา หรือเอเชียเท่านั้น แต่ในประเทศไทยก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

หากคุณเคยได้ยินเพื่อนบางคนเล่าให้ฟังว่า เขาชอบท่องเที่ยวแบบสะพายกระเป๋าเป้ใบเดียว และไปเที่ยวคนเดียว โดยไม่มีข้อมูลหรือหนังสือคู่มือแนะนำเส้นทาง หรือแผนที่อะไรเลยนั้น นี่แหละ คือการท่องเที่ยวในแบบที่เรียกว่า เที่ยวแบบนักเดินทาง

การเที่ยวแบบนักเดินทางดีกว่าหรือแตกต่างจากการเที่ยวแบบนักท่องเที่ยวอย่างไร? ที่จริงการท่องเที่ยวในลักษณะทั้ง 2 รูปแบบนั้น อาจวัดไม่ได้ว่าแบบไหนดีกว่า เพียงแต่ความแตกต่างอาจพอวัดได้คร่าวๆ ดังนี้

เที่ยวในแบบนักท่องเที่ยวหรือที่เรียกว่า Tourist นั้น ส่วนใหญ่จะเดินทางไปในลักษณะรูปแบบทัวร์ คือมีไกด์นำทางท่องเที่ยว และมักเดินทางร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่

ข้อดีคือ มีคนคอยให้คำแนะนำและดูแลตลอดระยะเวลาของการท่องเที่ยวหรือทริปนั้นๆ มีเป้าหมาย มีแผนที่เส้นทาง มีตารางเวลาในการเดินทางเป็นโปรแกรมแต่ละวัน ว่าจะต้องไปที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

ข้อเสียคือ มีระยะเวลาในการเที่ยวแต่ละสถานที่ค่อนข้างสั้น รวบรัด และเร่งรีบ โดยเฉพาะถ้ายิ่งมากันเป็นกลุ่มใหญ่คนจำนวนมากๆ เวลานัดหมายที่จะมารวมตัวให้พร้อมกันก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก อาจให้ความรู้สึกแบบแค่มาถึงสถานที่ท่องเที่ยว แต่ไม่ได้เที่ยวให้ถึงที่สุด

อีกหนึ่งรูปแบบคือ เที่ยวแบบนักเดินทาง หรือที่เรียกว่า Travelism ส่วนมากมักเดินทางคนเดียว หรือเดินทางร่วมกันไม่กี่คน หรือเดินทางกับกลุ่มเพื่อนสนิท ไม่มีไกด์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร หรือจุดชมวิวใดๆ หรือบางทริปแทบจะไม่มีข้อมูลอะไรเลยด้วยซ้ำ

ข้อดีของการท่องเที่ยวแบบนี้คือ มีอิสระในการใช้เวลาในแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวได้นานๆ สามารถเพิ่มพูนประสบการณ์หรือทำกิจกรรมร่วมกันกับคนในท้องถิ่นของแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวนั้น หรือได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เป็นการเที่ยวแบบได้กำไรชีวิต

ส่วนข้อเสีย  คืออาจไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พัก หรือการพักผ่อนหย่อนใจแบบหรูหราเท่าไหร่นัก

ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักท่องเที่ยว ว่าต้องการท่องเที่ยวในรูปแบบไหนมากกว่า

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่รูปแบบของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่พัก ที่รองรับนักท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

Airbnb คือหนึ่งในโมเดลที่พักรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบนักเดินทาง โดยจุดเริ่มต้นของ Airbnb เกิดขึ้นในปี 2007 เมื่อสองหนุ่ม Brian Chesky และ Joe Gebbia เกิดถังแตก ไม่มีเงินจ่ายค่าห้องพักของพวกเขาในซานฟรานซิสโก

พวกเขาจึงปิ๊งไอเดีย ด้วยการเปิดห้องพักของพวกเขาให้คนอื่นเช่า โดยสร้างเว็บไซต์แบบง่ายๆ (เขียนลง Blog พร้อมแปะแผนที่) ลงประกาศให้เช่าที่พักฟูกนอนแบบเป่าลม 3 ที่นอน พร้อมอาหารเช้า ใช้ชื่อว่า airbedandbreakfast.com (bnb ย่อมากจาก bed and breakfast) ผลปรากฏว่ามีคนมาเข้าพักจริง ทั้งหมด 3 ราย โดยทั้งคู่มีรายได้จากผู้เข้าพักรวมกว่า 1 พันเหรียญ

จากนั้นโมเดลของ Airbnb ก็กลายเป็นโมเดลธุรกิจห้องพัก ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้น พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยล่าสุดปัจจุบัน Airbnb มีผู้ลงทะเบียนบ้านพักถึง 800,000 แห่ง จาก 33,000 เมืองใน 192 ประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยที่มีคนมองเห็นโอกาสในธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายและการดำเนินแผนการท่องเที่ยว ที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเข้าถึงประสบการณ์แบบวิถีชาวบ้านมาเป็นจุดขาย โดยมีกลุ่มคนกลางที่เป็นคนนำนักท่องเที่ยวมาพบปะกับชุมชนต่างๆ จนเป็นที่มาของการท่องเที่ยวชุมชนแบบใหม่หรือที่เรียกว่า Local alike การท่องเที่ยวพัฒนาแบบยั่งยืน

ท้ายสุดเรื่องราวทั้งหมดนี้ คงพอเห็นภาพได้ประมาณหนึ่งว่า เทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวแบบ Travelism หรือเที่ยวแบบนักเดินทางนั้น กำลังเป็นกระแสและเป็นโอกาสใหม่ที่น่าจับตามอง แล้วการเที่ยวแบบนักเดินทางนั้น คุณเคยลองบ้างหรือยัง…

https://www.youtube.com/watch?v=Xe7Ho14yVWw

 

Reviews

Comment as: