NOSTALGIA เรื่องเก่าเล่าใหม่

By : Pattarakorn Vorathanuch


ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เคยมีคนกล่าวไว้ว่า การที่มนุษย์โหยหาถึงอดีตนั้น อาจส่งผลเสียและผลกระทบทางด้านจิตใจในปัจจุบัน แต่ท้ายที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ คำพูดดังกล่าวได้ถูกพิสูจน์ในทางจิตวิทยาและพบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด หนำซ้ำยังได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามอีกด้วยว่า แท้จริงแล้วการโหยหาถึงอดีตกลับส่งผลดีต่อมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ทั้งช่วยขจัดความโดดเดี่ยว ช่วยเชื่อมโยงมนุษย์กับสิ่งอื่น ทั้งอดีต รากเหง้า และสังคมรอบตัว รวมทั้งวัฒนธรรม

และจากความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการตลาดแบบผสมผสาน หรือที่เรียกกันใหม่ว่า การตลาดแบบย้อนยุค (Nostalgia Marketing) ซึ่งเป็นการตลาดที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลกทั้งชาติเอเชียและชาติตะวันตก

คำถามคือ แล้วการตลาดแบบย้อนยุคนั้น ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ และจะไม่เก่าเกินไปหรอกหรือ?

ความจริงแล้วการตลาดแบบย้อนยุคนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด กลับกัน ความจริงเป็นเรื่องเก่าที่ถูกนำมาเล่าใหม่เสียด้วยซ้ำ และมนต์เสน่ห์แห่งความคลาสสิค คือ คุณค่าแห่งตำนานที่มีเรื่องราวแห่งความทรงจำ เราคงปฏิเสธกันไม่ได้ว่า ต่อให้โลกเปลี่ยนแปลงไปกี่ยุค กี่สมัย แต่กลยุทธทางการตลาดแบบย้อนยุค ก็ยังคงใช้ได้ผลโดยไม่เปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างเช่น สินค้าที่เป็นยนตรกรรมแบรนด์ดัง อย่างรถบีเอ็มดับเบิ้ลยู สัญชาติเยอรมัน และแบรนด์ยามาฮ่าจากญี่ปุ่น ต่างก็สนใจและใช้กลยุทธทางการตลาดนี้ ด้วยการออกสินค้ายานยนต์ย้อนยุค เช่น รถยนต์มินิคูเปอร์ และมอเตอร์ไซด์ยามาฮ่าฟีโน่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากงานของยนตรกรรมในอดีต

หรือสินค้าเครื่องดื่มเป๊ปซี่ ที่มีแผนการตลาดผลิตสินค้ารสชาติดั้งเดิม (Original)ด้วยการออกรสชาติที่ชื่อว่า Throwback ซึ่งเป็นรสชาติต้นฉบับเก่า รวมทั้งเครื่องดื่มสุดฮิตในอดีตอย่าง Mountain Dew หรือ 7 up ที่มีการผลิตและนำกลับมาจำหน่ายใหม่

ไม่เว้นแม้แต่วงการบันเทิง โชว์ เอนเตอร์เทนเนอร์ ที่เรามักเห็นการรวมตัวของเหล่าบรรดาศิลปินดังในยุคอดีตต่างๆ ที่กลับมาแสดงร่วมกันแบบ Reunion

ภาพยนตร์ หรือละครก็มีการนำมาปรับปรุง แสดงซ้ำ ในรูปแบบของละครย้อนยุค หรือ Period ตลอดทั้งบทเพลงดังต่างๆ ก็มีการนำมาร้อง Coverซ้ำจากศิลปินรุ่นใหม่

สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น เพลินวาน หัวหิน และธุรกิจการจัดงานอีเว้นท์ ที่มาในลักษณะธีมของงานวัดย้อนยุค ที่ช่วงหลังมีให้เห็นกันอย่างแพร่หลายในศูนย์การค้าต่างๆ หรืองานแสดงสินค้าต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโรงแรม ที่พัก ที่มีการเนรมิตบ้านเรือนไทย หรือตึกเก่าๆ ในอดีต ให้กลายเป็นโรงแรมบูติคโฮเตลสุดเก๋

สินค้าอื่นๆ ตามเทรนด์ด้านแฟชั่น ก็ยังมีมากมายที่ยังคงนำการตลาดแบบย้อนยุคมาต่อยอด

ทั้งหมดนี้ อาจสรุปและสื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การตลาดแบบย้อนยุคนั้น มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับคนวัยกลางคนจนถึงผู้สูงวัย เพราะเป็นการเชื่อมต่อความทรงจำและความรู้สึกดีๆ ให้กับสินค้าหรือบริการนั้นๆ

และสำหรับคนรุ่นใหม่ การตลาดแบบย้อนยุคอาจถูกมองในเรื่องดีไซน์ที่มีความเท่ เก๋ และมีสไตล์ในการออกแบบ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนวัยไหน ก็ส่งผลดีสำหรับการตลาดที่ใช้กลยุทธของ Nostalgia Marketing  เพียงแต่อาจแตกต่างตรงที่ใครจะมองเห็น แล้วคุณล่ะ มองเห็นด้วยหรือเปล่า…

https://www.youtube.com/watch?v=TRjPfgpuHlk

 

Reviews

Comment as: