Micro Enterprise ”ธุรกิจเล็กพริกขี้หนู”

By : Pattarakorn Vorathanuch
หากจะพูดถึงคำว่าธุรกิจ Startup เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักและคุ้นเคยกับคำนี้กันมากพอสมควร จากบทความหลากหลายสื่อที่ต่างกระหน่ำหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญกันมากมาย ตั้งแต่การจัดกิจกรรมสัมมนา การบรรยาย และการแนะนำให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ Startup
แต่ที่ลึกไปกว่านั้น มีใครทราบหรือไม่ว่า ธุรกิจ Startup และ SME ที่เรารู้จักกันนั้น แตกต่างและมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนอื่น จะขอขยายความแบบง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจกันสักนิดก่อนว่า Startup คืออะไร? และ SME คืออะไร? เพราะเชื่อว่า หลายคนยังคงสับสนและเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแบบเดียวกัน
เริ่มจาก StartUp ที่ชื่อก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า คือการเริ่ม เพื่อขยายให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่มีวิธีการสร้างรายได้ ที่สามารถหาเงิน และขยายกิจการจนเติบโตได้แบบก้าวกระโดด
StartUp ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเป็นธุรกิจเห็นโอกาสที่คนส่วนมาก อาจไม่เคยมองเห็น เช่น การสร้างแอพพลิเคชั่น หรือการสร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ส่วน SME คือ การสร้างธุรกิจ หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจที่บริหารการจัดการและการลงทุนเอง มีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยส่วนใหญ่อาศัยช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารที่มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อ SME
สำหรับบทความนี้ เราจะไม่พูดถึงรายละเอียดในการทำธุรกิจแบบ Startup และ SME แต่เรากำลังจะพูดถึงธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่เล็กไปกว่านั้น และใกล้เคียงกับธุรกิจ StartUp และ SME นั่นคือการทำธุรกิจแบบ Micro Enterprise ธุรกิจเล็กพริกขี้หนู หรืออาจเรียกว่า การทำธุรกิจเล็กๆ แบบรายย่อย
Micro Enterprise ต่างกับ StartUp และ SME ตรงที่เป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจขนาดจิ๋ว โดยอาจจะมีทีมงานหรือลูกจ้างเพียงแค่ 1 – 2 คน และไม่เกิน 10 คน ซึ่งปัจจุบันกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีอายุของผู้ประกอบการน้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y หรือ Gen Z มีธุรกิจของตนเองมากมาย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความฝัน และต้องการปลดแอกตัวเองออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน และที่สำคัญคือ
เทคโนโลยีในปัจจุบันมีความเพียบพร้อม ตอบรับ และอำนวยความสะดวกสบาย ช่วยให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องง่ายๆ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องมีความเสี่ยงสูง หรือใช้เงินลงทุนจำนวนมากนักและหนึ่งในเครื่องมือหลักที่ช่วยในการทำธุรกิจแบบ Micro Enterprise นั่นคือ E-Commerce
E-Commerce (Electronic Commerce) คือหนึ่งในกลไกขับเคลื่อน เป็นเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการทำธุรกิจที่มีกันมายาวนานแล้ว และยังคงมีการขยายและเติบโตกันอย่างต่อเนื่องสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก
เฉพาะในประเทศไทยในปี 2556 E-Commerce มีมูลค่ารวมสูงกว่า 7 แสนล้านบาท ในขณะที่เทรนด์ใหม่ ภาคต่อของ E-Commerce หรือที่เรียกว่า M-Commerce (Mobile Commerce) ก็มีแนวโน้มว่า จะส่งผลให้มูลค่ารวมของการซื้อขายเติบโตมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากเทรนด์ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าได้หันมาให้ความสนใจในการจับจ่ายใช้สอยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ผ่านบริการในมือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสะดวกสบายและรวดเร็วกว่าเดิมมาก ลูกค้าสามารถค้นหาของที่ต้องการ เปรียบเทียบราคา สอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ตามความต้องการ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าเดินทาง เสียเวลา และเสียแรง จึงนับเป็นทางเลือกในการจับจ่ายที่คุ้มค่ายิ่งกว่าการไปเดินเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าเสียอีก
โดยข้อมูลทางการตลาดปัจจุบันได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจรายเล็กๆ ที่เรารู้จักกันดีนั้น มีความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไทยมากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ และทั้งหมดนี้คือผลพวงส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการขนาดจิ๋วที่ได้มองเห็นโอกาสและความฝันของการทำธุรกิจในแบบเส้นทางของตนเอง โดยที่อนาคตก็ไม่แน่ว่าธุรกิจเล็กๆ ขนาดจิ๋วนั้น อาจประสบความสำเร็จ และอาจกลายเป็นอาชีพหลักของคนรุ่นใหม่ๆ ก็เป็นได้….